“ศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 ราชบุรี” เปิดสัมมนาเครือข่ายสื่อมวลชน

COV

“สาครออนไลน์” ได้มีโอกาสเข้าร่วม “โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายสื่อมวลชน เขตสุขภาพที่ 5” ระหว่างวันที่ 17-18 ธ.ค. ที่ผ่านมา ณ บ้านฟ้าใสรีสอร์ท อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี พร้อมกับสื่อมวลชนจำนวน 70 คน ในเขตภาคกลาง 8 จังหวัด ประกอบด้วย ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสื่อมวลชนให้มีความรู้ด้านสุขภาพจิตและจิตเวช แลกเปลี่ยนเรียนรู้จัดทำแผนการสื่อสารสุขภาพจิตตามประเด็นปัญหาของพื้นที่ และการเผยแพร่ความรู้สุขภาพจิตสู่สังคม

ในวันแรกของกิจกรรมนั้น ช่วงเช้าเป็นการบรรยาย โดยนางสาวรัชวัลย์ บุญโฉม ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพที่ 5 จ.ราชบุรี ในหัวข้อ “ทิศทางการดำเนินงานการสื่อสารความรู้สุขภาพจิตกลุ่มวัย และวิกฤติสุขภาพจิต” เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์กรมสุขภาพจิต และนโยบายกรมสุขภาพจิตในปี 2559

โดยมีแนวทางการดำเนินงานคือ การรณรงค์และประชาสัมพันธ์ในเชิงรุกเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตเข้าถึงทุกกลุ่มวัย ผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย เผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพจิตได้ด้วยตนเอง และพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารเกี่ยวกับสุขภาพจิต ให้กับสื่อมวลชนและทีมสื่อสารภาคประชาชนและในท้องถิ่น

เรื่องของประเด็นการสื่อสารสุขภาพจิตในปี 2559 ได้แบ่งออกเป็น 1. กลุ่มเด็ก ซึ่งเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมพัฒนาการและการเลี้ยงดู เสริมสร้าง ไอคิว และอีคิว 2. กลุ่มวัยรุ่น จะเป็นเรื่องวัยรุ่นกับปัญหาพฤติกรรม 3. สุรากับสุขภาพจิตครอบครัว คือการสร้างความตระหนัก สุรา ยาเสพติด ที่มีผลต่อความรุนแรงในครอบครัว และ 4. สุขภาพจิตและจิตเวช แบ่งออกเป็นการส่งเสริม ป้องกันสุขภาพจิต และการคืนคุณค่าหรือให้โอกาสของสังคม ต่อผู้ป่วยโรคทางจิตเวช

ซึ่งในแต่ละประเด็นก็จะมีวันสำคัญต่างๆ ให้รณรงค์และประชาสัมพันธ์แก่ประชาชน เพื่อให้ตระหนักรู้ถึงปัญหาสุขภาพจิตในแต่ละกลุ่มวัยและผู้พิการ ตัวอย่างเช่น วันเด็กแห่งชาติในกลุ่มเด็ก วันวาเลนไทน์ในกลุ่มวัยรุ่น วันเข้าพรรษา (ตามแคมเปญ “งดเหล้าเข้าพรรษา”) ในกลุ่มสุรากับสุขภาพจิตครอบครัว และวันสุขภาพจิตโลก (10 ต.ค.) ในกลุ่มสุขภาพจิตและจิตเวช เป็นต้น

จากนั้นในช่วงที่สอง น.ส.รัชวัลย์ ได้บรรยายเรื่อง “การเสริมสร้างความสุขตามแนวทางพัฒนาจิตตปัญญา” เป็นการแนะนำเรื่องของการพัฒนาจิต ทั้งภายในองค์กร ทีมงานและตนเองในชีวิตประจำวัน ผ่านการฝึกการทำสมาธิ ฝึกฐานสติด้วยการผูกไว้กับลมหายใจ อันจะนำไปสู่ปัญญาภายใน ที่สามารถเกิดความรู้สึกยั้งคิด มีจิตรับรู้ถึงสภาวะปัจจุบัน พร้อมเปลี่ยนความคิดเป็นบวก และช่วยสื่อสารกันอย่างมีสติ ทำให้ลดความตึงเครียด เพิ่มประสืทธิภาพในการทำงาน ลดความขัดแย้ง และเพื่อความสุขที่มากขึ้น

1

3

4

ในช่วงบ่าย ได้มีการแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติการเรียนรู้ใน 4 ฐาน คือ “พักจิตคลายอารมณ์” ซึ่งเกี่ยวกับการฝึกการทำสมาธิเพื่อนำไปสู่การมีสติ “สติสร้างสุข” เป็นการฝึกพัฒนาสติโดยใช้ลมหายใจเป็นฐานสติ ในการเดิน ยืน นั่ง พูด ฟัง ในชีวิตประจำวัน ช่วยในการกลั่นกรองคำพูดก่อน ลดความขัดแย้งกับบุคคลอื่น

“สติสื่อสาร” เป็นการฝึกนำสติมาใช้ในการสื่อสารกับบุคคลอื่น เกิดความยั้งคิดก่อนพูด เพื่อสร้างความเข้าใจเพิ่มขึ้น และ “สติคิดบวก” เป็นการฝึกความคิดในสถานการณ์ต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความคิดทางลบ จะก่อให้เกิดความรู้สึกและพฤติกรรมทางลบตามมา การมีสติปรับความคิดทางลบให้เป็นบวก เป็นส่วนสำคัญของการทำงานอย่างมีความสุข

5

6

7

8

9

สำหรับวันที่สองของการประชุมเชิงปฏิบัติการนั้น เริ่มด้วยการบรรยายเรื่อง “พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 เกี่ยวข้องกับประชาชนอย่างไร” โดยนางสุดสาคร จำมั่น จากสถาบันกัลป์ยาณ์ราชนครินทร์ ซึ่งได้กล่าวถึงที่มาและสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องการบำบัดรักษาผู้ป่วยทางจิต ที่จะต้องอธิบายเหตุผลจำเป็นแก่ผู้ป่วยก่อนเข้ารับการรักษา ซึ่งจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยก่อน และหากพบเห็นผู้มีความผิดปกติทางจิต ที่อยู่ในภาวะอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษา เจ้าพนักงานสามารถนำส่งสถานพยาบาลหรือสถานบำบัดที่ใกล้ที่สุดได้ทันที

11

12

ต่อด้วยการบรรยาย “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายและภาวะวิกฤติสุขภาพจิต” ที่วิทยากรได้อธิบายถึงนิยาม อันหมายถึงผู้กระทำการปลิดชีวิตตนเองโดยสมัครใจและเจตนา เพื่อให้หลุดพ้นจากการบีบคั้นหรือความคับข้องใจในชีวิต ซึ่งอาจจะกระทำโดยตรงและทางอ้อม โดยมีปัจจัยมาจากภายในตัวผู้กระทำเอง เช่น ทางพันธุกรรมและโรคซึมเศร้า และปัจจัยภายนอก เช่น สภาพสังคม การงาน การเงิน ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกสิ้นหวัง

โดยวิทยากรได้แนะนำแนวทางการช่วยเหลือเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายไว้คือ ดูแลประคับประคองหลังการพยายามฆ่าตัวตาย การรักษาด้วยยา การรักษาด้วยจิตบำบัดและช่วยเหลือทางจิตสังคม การให้ความรู้ประชาชนเรื่องสุขภาพจิตและโรคซึมเศร้า การใช้แบบคัดกรองสืบค้นโรคซึมเศร้าและผู้มีความเสี่ยง การมีศูนย์ให้คำปรึกษาและดูแลบุคคลยามประสบภาวะวิกฤติ การส่งเสริมศักยภาพและทักษะในการจัดการปัญหา ให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายอย่างรับผิดชอบต่อสังคม และให้ความช่วยเหลือประคับประคองแก่ครอบครัวและเพื่อนของผู้ที่ฆ่าตัวตาย

10

ในภาคบ่ายนั้น เป็นการประชุมกลุ่มย่อยในแต่ละจังหวัด เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดทำแผนการสื่อสารสุขภาพจิต ตามประเด็นปัญหาของพื้นที่และการสื่อสารความรู้สุขภาพจิต ตามปฏิทินการสื่อสารความรู้สุขภาพจิต ในปี 2559 ซึ่งเป็นการระดมความคิดของสื่อมวลชนท้องถิ่นแขนงต่างๆ ของแต่ละจังหวัด ทั้งวิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร เคเบิ้ลทีวี และสื่อออนไลน์ จากนั้นเป็นการนำเสนอผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของแต่ละจังหวัด และสิ้นสุดการสัมมนาในช่วงเย็น

13

14

15

16

17
การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการพัฒนาศักยภาพด้านความรู้สุขภาพจิตและจิตเวช เพื่อช่วยกันเผยแพร่ข้อมูล อันจะสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนในโอกาสสำคัญต่อไป

กิตติกร นาคทอง



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง