จับตาปลดล็อก “มาตรา 34” พ.ร.ก.ประมง ผลักดันออกเรือพื้นบ้านเกิน 3 ไมล์ทะเล

2233-01

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับประมงที่น่าสนใจ

เรื่องแรก ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว สัญชาติพม่า ลาว และ กัมพูชา ในกิจการประมงทะเล ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา ขยายระยะเวลาออกไปเป็นภายในวันที่ 31 ก.ค. 2559 โดยให้แรงงานอยู่ในประเทศและทำงานต่อไปจนถึงวันที่ 31 ม.ค. 2560

ขณะที่แรงงานต่างด้าวในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ จากเดิมที่จะสิ้นสุดการขอจดทะเบียนในวันที่ 22 ก.พ. 2559 ให้ขยายออกไปจนถึงวันที่ 22 ส.ค. 2559 และอนุญาตให้อยู่ทำงานได้ถึงวันที่ 22 ก.พ. 2560

ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี มีมติเลื่อนระยะเวลาลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวมาแล้ว 3 ครั้ง แต่เนื่องจากความต้องการแรงงานยังมีอยู่ และแรงงานที่ต้องการจดทะเบียนยังคงมี

ถือว่าภาคแรงงานยังต้องการคน จึงต้องจัดให้ทุกอย่างอยู่ในระบบถูกต้องตามกฎหมาย

อีกด้านหนึ่ง กลุ่มประมงพื้นบ้านในพื้นที่ภาคใต้ เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมาตรา 34 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ. 2558 ที่กำหนดห้ามเรือเล็กทำการประมงพื้นที่ชายฝั่งเกิน 3 ไมล์ทะเล

โดยพวกเขาเห็นว่า พื้นที่ 3 ไมล์ทะเล ควรจะเป็นพื้นที่ที่ควรต้องดูแลเป็นพิเศษ สงวนให้ปลาวางไข่ แต่กลับให้กลุ่มประมงพื้นบ้านซึ่งมีมากกว่า 80% เข้าทำการประมงในพื้นที่แคบ

อีกทั้ง เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่จำเป็น อีกทั้งยังห้ามทำการประมงนอกพื้นที่จังหวัดของตนเอง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการประกอบอาชีพ

โดยหารือกับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ในสัปดาห์นี้จะเร่งจัดการประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ เพื่อรวบรวมปัญหาทั้งหมด

ก่อนที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) จะนำมติที่ประชุมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาแก้ไข พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวโดยเร็วแล้ว

อย่างไรก็ตาม ศปมผ. ได้กำชับให้กรมประมงได้กำชับประมงจังหวัด กวดขันผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องมือการทำประมงที่มีลักษณะทำลายล้างให้เป็นไปตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด

ต้องจับตาดูว่า ศปมผ. จะยอมทำตามข้อเรียกร้องของชาวประมงพื้นบ้าน ที่มีอยู่ 22 จังหวัดชายทะเลทั่วประเทศหรือไม่ เพราะทุกวันนี้เดือดร้อนกันมาก

ถือเป็นการผ่อนคลายมาตรการอีกอย่างหนึ่ง หลังจากต้องออกมาตรการเพราะถูกจับตามองทั้งจากสหรัฐอเมริกา และ สหภาพยุโรป เกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมาย ไร้การควบคุม และการค้ามนุษย์

นำไปสู่การกีดกันทางการค้าของชาติตะวันตก แบบชนิดที่ว่ากลืนไม่เข้า คายไม่ออกเลยทีเดียว.

กิตตินันท์ นาคทอง



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง