ฤา “อภิชิต” จะดับไฟด้วยน้ำมัน? กังขา“พนม” นายทุนถ่านหิน มีชื่อในสภาอุตสาหกรรมจังหวัด

การออกมาเคลื่อนไหวของประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร “อภิชิต ประสพรัตน์” โดยรับบทโซ่ข้อกลางประสานความเข้าใจระหว่างกลุ่มชาวบ้านที่ต่อต้านถ่านหิน ผู้ประกอบการนำเข้าและจำหน่ายถ่านหิน และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง แม้ด้านหนึ่งจะเป็นเรื่องที่ดีที่พูดคุยกันด้วยเหตุและผล หากแต่เมื่อเกิดความเคลือบแคลงสงสัยถึงเจตนาที่แท้จริงจะต้องเคลียร์กันให้ชัด

หลังการประท้วงของชาวบ้านที่รวมตัวกันในนาม “กลุ่มต่อต้านถ่านหินอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตสมุทรสาคร” ที่นำไปสู่การปิดถนนพระราม 2 และนายจุลภัทร แสงจันทร์ ผู้ว่าฯ สมุทรสาครมีคำสั่งให้ผู้ประกอบการทุกรายหยุดทันที นายอภิชิตกล่าวว่า หากมีการปิดกั้นไม่ให้ภาคอุตสาหกรรม ใช้พลังงานถ่านหินซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกที่ถูกกว่าน้ำมันเตา จะทำให้ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าต่างๆ ทั้งด้านอุปโภคบริโภคต้องเพิ่มภาระต้นทุนมากขึ้น

เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาเกิดจากผู้ประกอบกิจการด้านถ่านหินไม่ได้อยู่ในระบบที่ได้มาตรฐาน จึงเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมกับชุมชน ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร จะขอเข้าไปเป็นผู้ประสานให้ผู้ประกอบการด้านถ่านหิน ซึ่งมีท่าเรือขนถ่ายถ่านหิน 5 ท่าโกดังเก็บถ่านหิน 7 แห่ง ให้มีการปรับปรุงจนเป็นที่ยอมรับของประชาชน ซึ่งได้มีการปรึกษากับผู้ประกอบการทั้งหมดแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยินยอมที่จะให้ความร่วมมือ

แม้ท่าทีของนายอภิชิต ที่อ้างว่าอยู่ในฐานะของผู้ที่อยู่ระหว่างผู้ประกอบการถ่านหิน กับผู้ใช้ถ่านหินคือโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ จำนวนประมาณ 1,000 แห่ง จะมีท่าทีออกไปในแนวต้องการความสมานฉันท์ปรองดอง แต่เมื่อมองกันให้ลึกๆ จะเห็นว่าภายในสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร นอกจากนายอภิชิตจะรับหน้าเสื่อแล้ว เรายังพบชื่อบุคคลภายในสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฯ ที่มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน พลันทำให้เราต้องมีความรู้สึกเคลือบแคลงสงสัย

บุคคลคนนี้มีชื่อว่า “พนม ควรสถาพร” ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร แต่ถ้าเป็นบทบาททางธุรกิจถือเป็น “เถ้าแก่ใหญ่” ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บมจ.เอเชีย กรีน เอนเนอจี (AGE) กิจการค้าถ่านหินของกลุ่ม “ก๊กฮวดกรุ๊ป” ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีมูลค่าตลาดกว่า 3,200 ล้านบาท

เมื่อย้อนกลับไปในอดีต ครอบครัวควรสถาพรเริ่มต้นจากธุรกิจขายฟืนและขี้เลื่อย ธุรกิจขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ เมื่อขายขี้เลื่อยหลายปีเข้าก็เริ่มมีทุนรอนขยายธุรกิจออกไปทำผงธูป ทำโรงเลื่อย จากนั้นก็มาทำชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ส่งให้โรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ จนกระทั่งต่อมาก็ทำเฟอร์นิเจอร์ขายเอง และก้าวเข้าสู่ธุรกิจค้าถ่านหินเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งธุรกิจในกลุ่มก๊กฮวดมีอยู่ 8 บริษัท ได้แก่

• บมจ.เอเชียกรีน เอนเนอจี (AGE) ขายถ่านหิน
• บริษัท เอเชียพาเนล จำกัด ผลิตไม้ปาร์ติเคิลบอร์ด
• บริษัท เอเชียไบโอแมส จำกัด จำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวล (กะลาปาล์ม, ขี้กบ, ขี้เลื่อย, แกลบ)
• บริษัท สถาพรธนาพัฒน์ จำกัด บริษัทขนส่งขนาดใหญ่มีรถบรรทุกหนักมากกว่า 300 คัน
• บริษัท เค.เอช.ทรานสปอร์ต แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ทำธุรกิจท่าเรือขนส่ง
• บริษัท ยูนิเวอร์แซล พาราวูด จำกัด ผลิตเฟอร์นิเจอร์ยี่ห้อ “Paradini” ส่งขายต่างประเทศ
• บริษัท สถาพร ลามิเนชั่น จำกัด ขายไม้ปาร์ติเคิลบอร์ดและไม้ MDF
• บริษัท สถาพร มาเก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตยากันยุงยี่ห้อ “คายาริ”

แม้ธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายถ่านหินของเอเชียกรีนฯ จะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ส่งผลต่อราคาหุ้นที่พุ่งสูงขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งคลังสินค้าถ่านหินของเอเชียกรีนฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ต.นาดี อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ได้สร้างปัญหาฝุ่นถ่านหินได้ฟุ้งกระจายเป็นบริเวณกว้าง เกิดมลภาวะทางอากาศ ประชาชนในพื้นที่หมู่ 2 และหมู่ 3 ต.นาดีได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้าไม่แพ้กัน

เทศบาลตำบลนาดี นำโดยนายสมนึก เผือกเล็ก นายกเทศมนตรี ได้ทำข้อตกลงร่วมกับเอเชียกรีนฯ ขอผ่อนผันระยะเวลาในการขนย้ายถ่านหินออกทั้งหมดในช่วงระยะเวลา 18 เดือน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2552 เป็นต้นไป รวมทั้งไม่มีการขนย้ายถ่านหินเข้ามาใหม่ ปรากฏว่าภายหลังคลังสินค้าที่เอเชียกรีนฯ ยังคงมีรถบรรทุกเข้า-ออกอยู่ตลอดเวลา แม้แต่หลังระยะเวลาขีดเส้นตาย 18 เดือนที่นายสมนึกกำหนดไว้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา

ถึงกระนั้นผลจากการชุมนุมประท้วงของชาวบ้านเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา แม้เอเชียกรีนฯ อ้างว่าได้หยุดการประกอบกิจการของโรงงานที่ จ.สมุทรสาครเป็นการชั่วคราว โดยใช้ท่าเรือศรีราชา ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรืออยุธยาขึ้นถ่านหิน และยังมีโรงงานและคลังสินค้าอีก 3 แห่ง ที่เพชรบุรี ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยาที่สามารถจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้ตามปกติ

แต่ก็ยังยืนยันว่า ไม่กระทบแผนการก่อสร้างท่าเรือขนส่ง และสถานที่จัดเก็บถ่านหินในระบบปิด ของบริษัทใน จ.สมุทรสาคร และจะยังคงเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555

คำถามที่นายอภิชิตจะต้องตอบให้ได้ก็คือ ในเมื่อนายพนมมีตำแหน่งเป็นถึงรองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร การที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดฯ จะเข้ามาเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ถือว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะการที่ผู้ประกอบการนำเข้าถ่านหินอยู่ในสภาอุตสาหกรรมฯ แล้วเข้ามาขอเป็นตัวกลางก็ย่อมถูกมองว่าเสมือนเป็นการเข้าข้างกันเสียเอง ฝ่ายที่ต่อต้านถ่านหินจะไว้วางใจได้อย่างไร?

ที่สำคัญ นายพนมน่าจะรู้ตัวเองดีว่า ที่ผ่านมาบริษัทเอเชียกรีนฯ ได้เคยสร้างปัญหาให้กับประชาชนในตำบลนาดี กระทั่งถูกขับไล่ให้พ้นไปจากพื้นที่มาแล้ว บทบาทของโซ่ข้อกลางที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดฯ เป็นเจ้าภาพ หากยังปล่อยให้ความไม่เป็นกลางเป็นที่ค้างคาใจเช่นนี้ ผลที่ได้อาจกลายเป็นการดับไฟด้วยน้ำมัน ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านที่ไม่ไว้วางใจผู้ประกอบการถ่านหินกับนายทุน เลยไม่รู้ว่าจะจบลงด้วยดีอย่างไร?



2 ความคิดเห็น เรื่อง “ฤา “อภิชิต” จะดับไฟด้วยน้ำมัน? กังขา“พนม” นายทุนถ่านหิน มีชื่อในสภาอุตสาหกรรมจังหวัด”

  1. ถาวร กล่าวว่า:

    ก.ค. 30, 11 at 12:49 am

    สังคมเรามักมีคนที่สวมหมวกหลายใบ ดังนั้นชาวบ้านควรมองให้เห็นความเป็นจริง
    อย่ามองแค่สิ่งที่ตาเห็นเพราะสิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น องค์กรต่างๆ
    ในจังหวัดมักมีผลประโยชน์ทับซ้อน ชาวบ้านอย่างเราควรช่วยกันตรวจสอบ

  2. อภิชิต ประสพรัตน์ กล่าวว่า:

    ส.ค. 01, 11 at 4:03 pm

    ก่อนอื่นผมขอแสดงความอาลัยและเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของคุณทองนาค เสวกจินดา แกนนำการต่อต้านถ่านหินในจังหวัดสมุทรสาคร โดยที่เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงจะเกิดขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถจับตัวคนร้ายมาลงโทษได้โดยไม่ช้า ผมขอขอบคุณท่านบรรณาธิการข่าวสาครออนไลน์ที่ตั้งข้อสังเกตุถึงความสัมพันธ์ของผมและคุณพนม ควรสถาพร(ขออภัยที่ต้องเอ่ยนาม) ว่ามีตำแหน่งเป็นรองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครของผม ทำให้ขาดความเหมาะสมในการเป็นคนกลางเพื่อหาทางออกของปัญหาถ่านหินในจังหวัดสมุทรสาคร ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องที่พาดพิงถึงผมในครั้งนี้ ผมจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์หลักของการตั้งสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นศูนย์รวมของนักอุตสาหกรรมที่มาแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในจังหวัดให้มีความยั่งยืน สร้างรายได้ สร้างความมั่งคั่งให้กับจังหวัดจนมีรายได้มวลรวมจังหวัด(GPP) สูงเป็นอันดับต้นๆของประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมฯได้มีส่วนผลักดันมาตรการหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่พี่น้องชาวจังหวัดสมุทรสาครหลายอย่าง เช่น การขึ้นทะเบียนผ่อนผันแรงงานต่างด้าว การพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว เพื่อความมั่นคงของจังหวัด การบริหารจัดการน้ำบาดาลเพื่อป้องกันแผ่นดินทรุด เป็นต้น สำหรับปัญหาถ่านหินนั้น ผมก็ได้รับเรื่องร้องเรียนมาจากทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองของถ่านหิน ผู้ที่ใช้ถ่านหินในการผลิตสินค้า และผู้ประกอบกิจการถ่านหิน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครทั้งสิ้น และก็มีตำแหน่งในสภาอุตสาหกรรมฯแทบทุกท่าน ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็เป็นรองประธานสภาฯ 2 – 3 ท่าน ผู้ที่ซื้อถ่านหินมาใช้ในกิจการก็มีตำแหน่งเป็นทั้งรองประธานสภาฯ และก็เป็นกรรมการก็อีกหลายท่านครับ ที่ผมจำเป็นต้องออกมาเป็นคนกลางระหว่างบุคคล3ฝ่ายนั้น ก็เพื่อประโยชน์ของชาวจังหวัดสมุทรสาครเป็นหลัก เรามีนโยบายพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมนิเวศ เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของจังหวัด “แหล่งท่องเที่ยวทางเลือกใหม่” สภาอุตสาหกรรมฯนั้นได้มีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนมาโดยตลอด เพียงแต่ว่าอาจจะไม่ทันใจประชาชนโดยทั่วไปทีเดียวนัก แต่เราขอยืนยันว่าการทำงานของเรานั้นมุ่งแสวงหาผลลัพธ์ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม เราเตรียมที่จะจ้างนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานและปิโตรเลียม เข้ามาทำการวิจัยผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งประสานความร่วมมืออย่างจริงจังของผู้ประกอบการถ่านหินให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงใจ ให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปโดยเป็นมิตรกับชุมชน ไม่สร้างมลภาวะทางอากาศ และไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของสัตว์น้ำ ผมพยายามเรียกร้องความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยออกสื่อในจังหวัดทุกฉบับ การทำงานของเราดำเนินการอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ และเรามีจุดยืนว่า หากผู้ประกอบการถ่านหินรายใด ไม่ให้ความร่วมมืออย่างจริงใจและจริงจังในการแก้ไขปัญหาถ่านหิน สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครจะเป็นผู้ออกมาต่อต้านผู้ประกอบการรายนั้น ด้วยการประชาสัมพันธ์กับสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทั่วประเทศไม่ให้การอุดหนุนสินค้าของผู้ประกอบการรายนั้น ซึ่งเป็นจุดยืนสำคัญของสภาฯ อนึ่งผมใคร่ขอวิงวอนทุกท่านถึงความจำเป็นในการใช้ถ่านหินเป็นพลังงานเชื้อเพลิงทางเลือก เพื่อลดการบริโภคน้ำมันที่เป็นทรัพยากรที่จะหมดลงในอีกไม่ช้า การผลักดันไม่ให้มีการใช้ถ่านหินก็เสมือนการเร่งให้มาใช้น้ำมันมากขึ้น สำหรับนักอุตสาหกรรมนั้นเราไม่ได้คำนึงถึงการลดต้นทุนเพียงอย่างเดียว หากแต่ว่าเรามองถึงการรักษาทรัพยากรและการบริโภคทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อเหลือเอาไว้ให้ลูกหลานได้ใช้ยาวนานที่สุด และยังคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ พยายามมีส่วนช่วยเหลือเป็นอีกเรี่ยวแรงหนึ่งในสังคม ท่านลองคิดดูนะครับ หากทุกโรงงานหันมาใช้น้ำมันกันหมด ความต้องการสูงขึ้น ราคาน้ำมันก็ต้องสูงตาม ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของชาวประมง ระบบการขนส่งมวลชน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นมากเพียงใด ผมต้องขออภัยหากจะทำให้ไม่ถูกใจหลายๆท่าน แต่ขอเรียนให้ทุกท่านได้ทราบว่า พวกเรานักอุตสาหกรรมทุกคนนั้นมีความตั้งใจ จริงใจ ที่จะร่วมกันสร้างเมืองอุตสาหกรรมนิเวศ และขอให้ทุกท่านได้ให้โอกาสและหันหน้าเข้าหากัน ปรึกษากันอีกสักครั้ง ให้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครได้มีโอกาสประสานทุกภาคส่วน ให้ทุกท่านเข้าร่วมให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ เพื่อจังหวัดสมุทรสาครของพวกเราด้วยเถิดครับ


แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง