เวที “ร้อยรวมใจเพื่อใต้สันติสุข” เน้นสร้างความเข้าใจสื่อมวลชนภาคกลาง 8 จว.

COV

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกาญจนบุรี ในฐานะประชาสัมพันธ์จังหวัดผู้แทนภาค 8 ได้จัดกิจกรรมเวทีเสวนา “ร้อยรวมใจเพื่อใต้สันติสุข” ในโครงการประชาสัมพันธ์สร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 – 17 ก.พ. ที่ผ่านมา ณ ปราณบุรี ซีฮิลล์ รีสอร์ท อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

มีสื่อมวลชน เครือข่ายประชาสัมพันธ์ และอาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้านและชุมชน (อปมช.) จาก 8 จังหวัด ของสำนักประชาสัมพันธ์เขต 8 ได้แก่กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดละ 10 คน รวม 80 คน

วัตถุประสงค์เพื่อการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนมีการรับรู้ เข้าใจเกี่ยวกับหลักคำสอนของทุกศาสนาอย่างถูกต้อง นำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยแนวทางสันติ ให้ความร่วมมือสนับสนุนกิจกรรมของรัฐ โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนร่วมแสวงหาทางออกจากความรุนแรงและเสริมสร้างสันติสุขด้วยกัน

นอกจากนี้ยังสร้างความเชื่อมั่นต่อการทำงานของหน่วยงานรัฐ ตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ พ.ศ.2559 และมีทัศนคติยอมรับในวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา ความเชื่อ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่น นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขบนพื้นฐานของสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม

1

2

3

สำหรับกิจกรรมในวันแรก มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “พระมหากรุณาธิคุณแผ่ไพศาลสู่จังหวัดชายแดนใต้” โดย ดร.ดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่ง ดร.ดิสธร กล่าวถึงการตั้งศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 39 จ.นราธิวาส โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 40 จ.ปัตตานี และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 จ.ยะลา

โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเยาวชน และบุคคลทั่วไปในที่สนใจในพื้นที่ ส่วนหนึ่งคือผู้ที่เข้าร่วมในโครงการพาคนกลับบ้าน ของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. มีหลักสูตรการฝึกอาชีพ ทั้งช่างไฟฟ้า ช่างซ่อมรถจักรยายยนต์ และช่างก่อสร้าง มีการฝึกทั้งทางภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเป็นเวลา 4 เดือน 560 ช.ม. และฝึกงานในสถานประกอบการอีก 2 เดือน เพื่อให้มีงานทำ ยกระดับคุณภาพชีวิต นำไปสู่แนวทางการสร้างสันติสุขต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพระราชดำริ กลุ่มงานทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง ที่ได้นำผลปาล์ม ซึ่งปลูกเป็นจำนวนมากในพื้นที่ภาคใต้ มาผลิตเป็นเอทิลเอสเตอร์ หรือน้ำมันไบโอดีเซล เพื่อเป็นพลังงานทดแทน แก้ปัญหาเรื่องวิกฤติน้ำมันแพง โดยเริ่มต้นใช้ในรถเครื่องยนต์ดีเซล ระบบไดเรคอินเจคชั่น ที่ อ.หัวหิน ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน และได้ยื่นจดสิทธิบัตร ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในชื่อ “การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล”

4

5

6

7

8

9

10

ในวันที่สองของเวทีเสวนา ได้จัดขึ้นในหัวข้อ “ร้อยรวมใจเพื่อใต้สันติสุข” ซึ่งได้มีการบันทึกเทปโทรทัศน์รายการ “รอบภูมิภาค” ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) กรมประชาสัมพันธ์

มีนายยูซบ โต๊ะวัง ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อภิปรายในหัวข้อ การสร้างสันติสุขสู่สังคมและจังหวัดชายแดนใต้ โดยกล่าวว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกันภายใต้ความแตกต่าง เพื่อไม่ให้เกิดความบาดหมางไม่เข้าใจกัน

คำว่าอิสลาม ในภาษาอาหรับ แปลว่า ความสันติ แต่วันนี้ได้ถูกแปรเปลี่ยนเป็นภาพมากมาย ที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกกันไปต่างๆ นานา จำเป็นที่จะต้องใช้กระบวนการทำให้มนุษยชาติเกิดความสันติ เพื่อความสุขของเราและลูกหลานในวันข้างหน้า

อิสลามให้ความสำคัญกับเรื่องสันติมาก ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน และอัลฮะดีษ (วจนะของท่านศาสดา) ได้เน้นย้ำให้ความสำคัญกับหลักการสร้างสันติ ความสงบ ความสุขให้กับมวลมนุษยชาติ ภายใต้คำสอนของของศาสนา

ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน 6,666 โองการ ไม่มีโองการใดที่มีผลต่อความมั่นคง ความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ หรือมุ่งเน้นให้เกิดความแตกแยกในสังคม ทุกโองการที่พระผู้เป็นเจ้าได้ประทานนั้นช่วยหล่อหลอมความรู้สึกให้มีความรัก ปรารถนาดี ห่วงใยซึ่งกันและกัน และมีความเป็นพี่เป็นน้องของมนุษยชาติ

ตนอยากจะบอกว่า สิ่งที่เป็นคำสอนของศาสนาไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม มีสิ่งที่เป็นพื้นฐานหลักของทุกศาสนา คือ มนุษย์ทุกคนต้องรักกัน อย่าเบียดเบียนสร้างความบาดหมางให้กันละกัน สิ่งที่เป็นปัญหาทั้งหลายทั้งปวงทุกวันนี้ อันเนื่องมาจากว่าถูกกิเลสครอบงำ ซึ่งในการแก้ปัญหาก็ต้องเริ่มที่จิตใจก่อน ซึ่งทุกศาสนาสอนไว้เหมือนกันหมด

อิสลามบอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็น ฟะนาอ์ คือสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน เหมือน อนัตตา ในทางพระพุทธศาสนา มนุษย์เราถ้าหากมองความจริงให้เห็นแล้ว เราก็จะสามารถเอาความจริงเหล่านั้น มาปรับใช้กับวิถีชีวิตเราได้ เราจะไม่โกรธ เกลียด หรืออคติกับใคร ความจริงเหล่านี้จะทำให้มนุษย์ไม่สุดโต่ง เดินทางสายกลาง

ทางด้านนายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 14 อภิปรายในหัวข้อ การน้อมนำหลักการทรงงานและดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งได้กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสทำงานที่ จ.นราธิวาส เมื่อปี 2542 ซึ่งตนนั้นเป็นไทยพุทธ

ตอนนั้นทาง ศอ.บต. ได้ให้ไปอยู่ จ.ยะลา เป็นเวลา 7 วัน เพื่อเรียนรู้ชีวิตชาวไทยมุสลิม ที่อาศัยอยู่ในป่าเขา พอได้มีโอกาสลงพื้นที่ ก็ได้พบกับความหลากหลายของวัฒนธรรมที่รู้สึกอบอุ่นใจ และเดินทางเข้าไปด้วยความปลอดโปร่ง สบายใจ การดูงานราบรื่นด้วยดี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงวางรากฐานเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ในชายแดนใต้ ตั้งแต่เรายังนึกไม่ถึง พรุบาเจาะ พรุโต๊ะแดง เกิดไฟไหม้ป่าตลอด ดินใช้ไม่ได้ แต่พระองค์มองวิธีแก้ปัญหาจากจุดเล็กๆ วันนี้ก็เลยเกิดศูนย์พิกุลทอง จ.นราธิวาส ขึ้นมา เกิดฝายในพื้นที่ทุรกันดารในป่าเขาลึก ซึ่งงานก่อสร้างเป็นไปได้ยาก แต่เมื่อแล้วเสร็จ ชาวไทยมุสลิมดีใจมาก ในปัจจุบันนี้มีน้ำใช้ทำการเกษตร จากชลประทานที่ทรงวางรากฐานไว้

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงให้การสนับสนุนงานทอผ้าของชาวไทยมุสลิม จ.นราธิวาส โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงทอดพระเนตรพร้อมให้คำแนะนำ และทรงพูดคุยต่อชาวไทยมุสลิมจนถึงตีสอง หลายผลงานได้นำไปแสดงที่ศูนย์ศิลปาชีพ และต่างประเทศ

มีอีกหลายโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เช่น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ฯ ในชายแดนใต้ทุกโรงเรียน จะมีการพัฒนาแหล่งน้ำไว้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสระน้ำ สถานีสูบน้ำ และทรงสอนว่าโครงการของพระองค์ท่าน ชาวไทยพุทธ-มุสลิม จะต้องมีส่วนร่วมกัน บางครั้งพระองค์ท่านพระราชทานมิเตอร์น้ำให้ เพื่อใช้ไปจัดการเรื่องของการแบ่งน้ำ ซึ่งพระองค์ท่านทรงเป็นที่สุดในการพัฒนาเรื่องชลประทาน

นางสาวอรุณี กาญจนสาลักษณ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวในหัวข้อ การขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า โครงการประชาสัมพันธ์สร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ เป็นเรื่องที่สำคัญ และกรมประชาสัมพันธ์มีส่วนขับเคลื่อนให้คนทุกพื้นที่ได้รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ในฐานะสื่อมวลชนต้องมีส่วนที่จะต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์

นโยบายของ คสช. และนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายว่า จะต้องทำให้มีคุณภาพและความเป็นเอกภาพ คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นั้นทำงานแบบบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็น กอ.รมน. ภาค 4 สน. ตชด. หรือส่วนปกครอง ภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่ ต้องร่วมกันสร้างสันติสุข น้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ คือต้องเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา

ในเรื่องที่จะต้องทำประชาสัมพันธ์นอกพื้นที่ โครงการนี้มีมาต่อเนื่อง 3-4 ปีแล้ว ก็จะมีความหลากหลายแตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งในปีนี้ที่อยากจะเน้นว่า อยากให้พี่น้องสื่อมวลชนมองว่า สถานการณ์ตรงนั้นเกิดขึ้นจริงอยู่ แต่จากสถิติของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. นั้นมีสัดส่วนลดลง

ซึ่งนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นไม่เน้นกระทำการรุนแรง แต่จะใช้สันติสุข การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการเข้าไปแก้ไขปัญหา สิ่งสำคัญที่สุด คือต้องเข้าใจในบริบทสภาพแวดล้อมแบบพหุวัฒนธรรม วัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกันแต่อยู่ด้วยกันได้อย่างสันติสุข ถ้าเรามีจิตใจที่ดีงาน สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้

ในส่วนของการทำโครงการนี้ ของกรมประชาสัมพันธ์ ก็ขอเน้นย้ำกับสื่อมวลชนว่าสถานการณ์ตรงนั้นเป็นอย่างไร ถ้าอยากรับรู้ข้อมูลที่แท้จริง มีข้อมูลข่าวสารมากมายที่ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 จ.สงขลา จะมีเรื่องของสถานการณ์และการแก้ปัญหาในปัจจุบัน ตอนนี้จะเน้นในเรื่องของการสร้างสันติสุข ไม่เน้นในเรื่องความรุนแรง และมีความพยายามของทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหา

ในฐานะที่เป็นสื่อนอกพื้นที่ เราก็ต้องทำความเข้าใจกับสถานการณ์นั้น เข้าอกเข้าใจต่อผู้ที่อาศัยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีก 4 อำเภอใน จ.สงขลา และเราต้องมองว่า พื้นที่ตรงนั้นมีทรัพยากรธรรมชาติหรือสถานที่ท่องเที่ยว หรือโอทอปอะไรที่เป็นสิ่งดีงาม เราสามารถที่จะช่วยเขาประชาสัมพันธ์และเชิญชวน ซึ่งที่จริงแล้วไม่น่ากลัวอย่างที่คิด อย่างน้อยที่สุดเขาจะได้มีขวัญกำลังใจว่า คนไทยภาคอื่นๆ ไม่ได้ทอดทิ้งเขา

11

12

14

15

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง