สื่อมวลชน 16 จังหวัดร่วม “เวทีปฏิรูปประเทศไทย” 19 ปี สปข.8 กาญจนบุรี

IMG_8005

เมื่อวันที่ 10-11 มี.ค. ที่ผ่านมา สำนักประชาสัมพันธ์เขต 8 กาญจนบุรี (สปข.8 กาญจนบุรี) ได้จัดกิจกรรม “เวทีปฏิรูปประเทศไทย” โครงการประชาสัมพันธ์การปฏิรูปประเทศไทย ที่ห้องแสดง สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดกาญจนบุรี

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่องการปฏิรูปประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนให้ความร่วมมือตามแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งมีสื่อมวลชน เครือข่ายประชาสัมพันธ์ อาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้านและชุมชน (อป.มช.) และภาคประชาชน จาก 16 จังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบของ สปข.8 กาญจนบุรี เข้าร่วมกิจกรรม

สำหรับวันแรก ช่วงเช้าได้มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ปฏิรูปประเทศไทย : มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดย นายไชยา ยิ้มวิไล ผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) และคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ซึ่งเริ่มต้นได้กล่าวถึง จ.กาญจนบุรี ว่าจะมีความเจริญเติบโตอย่างมาก ใน 3-5 ปีข้างหน้า เนื่องจากจะมีเส้นทางมอเตอร์เวย์จากกรุงเทพฯ และเป็นส่วนหนึ่งของ “ระเบียงเศรษฐกิจ ตะวันออก-ตะวันตก” และจะเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทวาย ประเทศเมียนมา

วิกฤติปัญหาของประเทศไทย ก่อน 22 พ.ค. 2557 ประเทศไทยอยู่ในทศวรรษแห่งความมืดมน เกิดกับดักแห่งความขัดแย้งสับสน วิกฤติการเมืองที่ยืดเยื้อ สังคมสองขั้ว รัฐที่ไม่น่าเชื่อถือ นำไปสู่รัฐที่ล้มเหลว ซึ่งพันธกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต้องสร้างประเทศไปสู่ชาติที่ล้ำหน้า มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ชาติ 6 ประการ ได้แก่ ความมั่นคง การสร้างความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ

แนวคิด “ประชารัฐ” เป็นฐานรากของการพัฒนาประชาธิปไตย กล่าวคือ เป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยรัฐทำเพื่อประโยชน์ประชาชน ซึ่งต่างจากประชานิยม ที่มอบนโยบายอะไรก็ได้ที่ประชาชนชอบ แต่ไม่ได้สร้างความเป็นจริงให้เกิดขึ้นในสังคม เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้สังคมพึ่งพิงรัฐ

หลักการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล คือการพัฒนาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ขับเคลื่อนตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และปฏิรูปผ่านกลไกประชารัฐ 11 ด้าน ได้แก่ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา เศรษฐกิจ พลังงาน สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สื่อสารมวลชน สังคม และด้านอื่นๆ

ชาติบ้านเมืองเราวันนี้ยังมีปัญหาอยู่ ยังไม่นิ่ง ไม่มั่นคง บวกกับสภาวะสังคมโลก เศรษฐกิจที่ผันผวน ที่สำคัญประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารมาก เกิดการเรียกร้องการมีส่วนร่วม ตรงนี้รัฐบาลต้องตื่นตัวตาม อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงต้องเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นอกจากนี้นายไชยายังได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย วิกฤติบ้านเมือง บรรยากาศการเมืองและเศรษฐกิจในปัจจุบัน เรื่องการทุจริตคอรัปชั่น ระบบอุปถัมภ์ ระบบอาวุโส และระบบเล่นพรรคเล่นพวกในสังคมไทย ที่ต้องแก้ด้วยคุณธรรม จริยธรรม หลักธรรมาภิบาล พร้อมฝากทิ้งท้ายให้ผู้เข้าร่วมรับฟังจงเป็นคนดี มีความรู้ ให้ข้อมูลคน และช่วยสร้างชาติที่ดี ด้วยการสร้างคนดีให้มากที่สุด

IMG_8033

IMG_8035

IMG_8044

IMG_8076

ในช่วงบ่าย เป็นเวทีเสวนาในหัวข้อ “พลังประชาชนกับการปฏิรูปประเทศไทย” โดย พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน พล.อ.ชูศักดิ์ สันติวรวุฒิ กรรมาธิการและที่ปรึกษา คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม และ พล.อ.พหล สง่าเนตร รองประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

IMG_8090

IMG_8104

ช่วงเย็นเป็นกิจกรรม ประกวดการพูดสุนทรพจน์ กีฬาสร้างสุข และการจัดนิทรรศการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของหน่วยงานในสังกัด สปข.8 กาญจนบุรี ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานเป็นจำนวนมาก จากนั้นในช่วงค่ำ ได้มีกิจกรรมสังสรรค์ “19 ปี สปข.8 กาญจนบุรี รวมพลังปฏิรูปประเทศไทย” ในโอกาสครบรอบ 19 ปี การก่อตั้ง สปข.8 กาญจนบุรี ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมประชาสัมพันธ์ พ.ศ.2540 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2540

โดยนายอภินันท์ จันทรังษี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธานในพิธีเปิด มีนายบุญญะพัฒน์ จันทรอุไร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวต้อนรับ และ น.ส.สมมาตร รัตนแสง ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 8 กล่าวรายงาน

IMG_8256

IMG_8134

IMG_8226

IMG_8249

IMG_8271

IMG_8279

IMG_8294

IMG_8369

IMG_8420

IMG_8446

IMG_8517

IMG_8550

ในวันที่สองของกิจกรรม ช่วงเช้าเป็นการบรรยายพิเศษ เรื่อง “การปฏิรูปสื่อมวลชนในยุคสังคมสารสนเทศ (Information Society) โดย นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการประจำสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ จากไทยพีบีเอส

นายธามได้กล่าวถึงสถานการณ์เสรีภาพสื่อของประเทศไทยในปัจจุบัน ที่ขึ้นอยู่กับตัวแปรหลายอย่าง พร้อมยกตัวอย่างกรณีศึกษาเกี่ยวกับจริยธรรมคนทำงานสื่อ เช่น เมื่อกระทำความผิดต้องยุติบทบาทเพื่อแสดงสปีริต การนำเสนอข่าวอันเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเข้าไปถ่ายภาพผู้ป่วย หรือปล่อยให้ผู้ป่วยแถลงข่าวในโรงพยาบาล

การนำเสนอภาพข่าวอาชญากรรม ที่ลงภาพสถานที่เกิดเหตุอย่างโจ่งแจ้ง นำภาพจากหนังสือเดินทางหรือบัตรประชาชนมาลง การสัมภาษณ์เด็กและผู้ปกครองที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ข่าวกีฬานำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพนัน บรรษัทยักษ์ใหญ่และพรรคการเมืองซื้อสื่อ

อุตสาหกรรมสื่อที่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการปฏิวัติทางเทคโนโลยีตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา ปัจจุบันสื่อแขนงต่างๆ ได้ถูกนำมาหลอมรวมกัน เรียกว่า Convergence ปรากฏการณ์ผู้ใช้เป็นผู้ผลิตเนื้อหาที่เป็นเรื่องใกล้ตัว พฤติกรรมการรับสื่อที่ไม่ขึ้นอยู่กับผังรายการ เรื่อง 4G ที่จะทำให้รับข้อมูลข่าวสารรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งกระแสไหลบ่าของเทคโนโลยีเป็นปัญหาสำคัญของการปฏิรูปสื่อ

โดยวิวัฒนาการของคนทำงานสื่อ เริ่มต้นจากหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ จนมาถึงสื่อใหม่อย่างอินเตอร์เน็ต ที่พัฒนามาถึงยุค 4.0 ในปัจจุบัน เรียกว่า ข่าวสังคม (Social News) แต่เรื่องการปฏิรูปสื่อนั้นกลับพูดถึงเฉพาะสื่อเก่าหรือสื่อมวลชนวิชาชีพที่กำลังจะตาย มากกว่าคนธรรมดาที่ใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งสื่อเก่าจะต้องทำสื่อใหม่ควบคู่กันไปเพื่อความอยู่รอด

เรื่องของทีวีดิจิตอล ที่ในยุคนี้ธุรกิจเริ่มที่จะไปไม่รอด คนดูเริ่มน้อยลง รายการคุยข่าว-เล่าข่าว นั้นคนไทยสนใจมากกว่ารายการข่าวปกติ เนื่องจากชอบเสพความเห็นมากกว่าข้อเท็จจริง และเรื่องความเป็นกลาง ที่สื่อมวลชนจะต้องยึดหลักวัตถุวิสัย เลือกข้างความจริง อยู่ข้างผลประโยชน์สาธารณะของชาติ เพราะจุดยืนของนักข่าว ไม่ใช่เรื่องความดีงาม ความถูกต้อง ความชอบธรรม แต่เป็นการยืนอยู่ในสนามข่าว เพราะความจริงอยู่ที่นั่น

ปัญหาของความสมดุลในการรายงานข่าว และนำเสนอไม่ตรงกับความเป็นจริง เรื่องฐานันดรที่ 4 แต่เดิมซึ่งเป็นของนักข่าว ในปัจจุบันมีประชาชนชาวเน็ต เพิ่มขึ้นมาเป็นฐานันดรที่ 5 ซึ่งกุมความคิดเห็นสาธารณะ (Public Opinion) ไว้ การปฏิรูปสื่อที่แท้จริง คือการดึงคนกลับมาที่หลักจริยธรรมวิชาชีพ ถ้าจะทำสื่อแล้ว ต้องยอมรับกลไกควบคุมจริยธรรมตัวเอง คือ ตัวสื่อมวลชน รูปแบบและองค์กรสื่อ ระบบเศรษฐกิจและกฎหมาย ระบบการเมืองและรัฐบาล และค่านิยมมาตรฐานทางสังคม

นอกจากนี้นายธามได้กล่าวถึง 10 ประเด็นหลักปฏิรูปสื่อ คือ 1. ยกระดับความรู้ ทักษะวิชาชีพ 2. มีสำนึกจริยธรรม ทำงานตามจรรยาบรรณวิชาชีพ 3. ยอมรับการมีใบประกอบวิชาชีพ 4. เอาตัวเองออกจากผลประโยชน์ ที่ครอบงำการทำงานให้เอนเอียงอคติ 5. ยอมรับกระบวนการตรวจสอบตนเอง 6. พัฒนากลไกการลงโทษกันเอง เมื่อสื่อทำผิดกฎหมายหรือจริยธรรม 7. ปรับปรุงคุณภาพการทำงานสื่อ ให้รับผิดชอบทางสังคมมากกว่าหาผลประโยชน์ 8. ส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อ เฝ้าระวังสื่อ และคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ 9. ปกป้องเรียกร้อง พิทักษ์สิทธิเสรีภาพสื่อของตัวเอง และเพื่อนร่วมอาชีพ 10. รวมตัวจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลกันเองทางวิชาชีพ

IMG_8576

IMG_8590

IMG_8626

IMG_8650

และในช่วงบ่าย เป็นการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น ในหัวข้อ “บทบาทของสื่อมวลชนต่อการปฏิรูปประเทศไทย” มี น.ส.ณัฐพัชร์ สถิตพรธนชัย และ นายพชร วรรณภิวัฒน์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี รับหน้าที่เป็นวิทยากร ซึ่งได้ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้หารือและนำเสนอ ในประเด็นของการสำรวจตัวเอง ความคาดหวัง และวิธีการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย ของสื่อมวลชน โดยแบ่งออกเป็น สื่อสิ่งพิมพ์และออนไลน์ สื่อวิทยุกระจายเสียง และสื่อบุคคล (อป.มช.)

IMG_8662

IMG_8669

IMG_8675

IMG_8685

IMG_8697

IMG_8715

IMG_8728

จากนั้นจึงเป็นการปิดการเสวนา โดยนายถวิล ปานศรี ผู้อำนวยการส่วนข่าวและรายการภูมิภาค สำนักประชาสัมพันธ์เขต 8 กาญจนบุรี ในฐานะผู้ดูแลโครงการประชาสัมพันธ์การปฏิรูปประเทศไทย ได้กล่าวขอบคุณแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทั้ง 16 จังหวัด และทิ้งท้ายด้วยคติธรรม ของพระปัญญานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ ความว่า “ยิ้มง่าย ไหว้สวย รวยความดี ทำหน้าที่ไม่เบื่อหน่าย”

IMG_8750

IMG_8752

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง