สมุทรสาครเสื่อมแล้ว! สิ่งแวดล้อมพัง แม้แต่ “ต้นสลัดได” ยังไม่รู้จัก

2401-1

“ความเจริญทำให้เสื่อม”

คำๆ นี้อาจมีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

สำหรับสมุทรสาคร จังหวัดติดกับกรุงเทพมหานคร ที่ได้ชื่อว่ามีความเจริญทางเศรษฐกิจ เป็นแหล่งอุตสาหกรรม และแหล่งรวมที่อยู่อาศัย เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองหลวง

แต่ในทางตรงกันข้าม กลับพบว่าหลายสิ่งหลายอย่างกลับเสื่อมโทรมลง

ไม่ใช่แค่มโนไปเอง แต่มีการทำวิจัยกันเป็นเรื่องเป็นราว

เฉกเช่นการศึกษาวิจัยเชิงลึกของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.) (องค์การมหาชน) โดยมี “ดร.สมลักษณ์ ชัยสิงห์กานานนท์” นักวิจัยโครงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนชาติพันธุ์ใน อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร เป็นผู้ออกมาเปิดเผยผลการศึกษาเอง

จากการเก็บข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ ระยะที่ 1 พบว่า ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา มีกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพม่า ทะลักเข้ามาในพื้นที่มากกว่า 4 แสนราย

ส่งผลให้รูปการใช้ชีวิต จากสังคมเกษตรกรรม เปลี่ยนเป็นสังคมอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน

คนในพื้นที่หันมาจ้างงานกลุ่มคนจากประเทศเพื่อนบ้านแทนชาวบ้าน รวมทั้งยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชุมชนบ้านเรือนไทย แปลงเป็นอาคารพาณิชย์อย่างรวดเร็ว

สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ นายทุนกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านมาสร้างโรงงานอุตสาหกรรม

เมื่อมีสิ่งปฏิกูลก็ทิ้งลงแม่น้ำลำคลอง โดยไม่ได้จัดทำระบบบำบัดน้ำเสีย ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย

กระทั่งชาวบ้านไม่กล้าใช้น้ำในคลองเหมือนในอดีต

2401-2

ต้นสลัดได ที่คนรุ่นใหม่เริ่มไม่รู้จัก (ภาพจาก http://pirun.ku.ac.th/~b5410300904/)

นอกจากนี้ พืชพันธุ์ต้นไม้ท้องถิ่นเริ่มสูญหาย เช่น “ต้นสลัดได” เป็นพืชสมุนไพรรักษาโรคที่สำคัญของท้องถิ่น ขณะนี้เหลือแค่ชื่อติดอยู่ในชุมชน

แน่นอนว่า เยาวชนรุ่นใหม่จะไม่รู้จัก “ต้นสลักได” พืชชนิดนี้แล้ว

ส่วนวิถีชุมชนชาวบ้านเปลี่ยนไปจากเดิม ปัจจุบัน ลูกหลานต้องเดินทางไปทำงานในเมือง

ทั้งนี้ ทางคณะวิจัยจะขยายผลไปศึกษาระยะที่ 2 ใน อ.กระทุ่มแบน และ อ.บ้านแพ้ว จากนั้นจะประมวลผลความรู้กลับคืนพื้นที่ ส่งต่อไปยังครูผู้สอนหลักสูตรท้องถิ่น

เพื่อนำงานวิจัยไปใช้สอนเด็ก และเยาวชน ตลอดจนประชาชนในท้องถิ่นด้วย

ด้าน เอนก สีหามาตย์ รองผู้อำนวยการ ศมส. ลงพื้นที่ศึกษาวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชุมชนสมุทรสาครเมื่อวันก่อน เพื่อศึกษาวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับการสร้างองค์ความรู้ด้านมรดกวัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์ชุมชนสมุทรสาคร

โดยอ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทางโบราณคดี ใช้เวลาดำเนินการปี 2559-2561 เพื่อนำไปสู่การจัดทำเป็นฐานข้อมูลมานุษยวิทยา

เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงชุมชนท้องถิ่น การสร้างนโยบายในการพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

โดยจะนำไปใช้เป็นแนวทางสำหรับบูรณาการอนุรักษ์และพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อให้มีการบริหารจัดการอย่างมีแบบแผน

2401-3

(ภาพจากแฟ้ม) น้ำคลองที่ยุคนี้ชาวบ้านไม่กล้าใช้อุปโภคบริโภค

แม้จะมีความพยายามในการที่จะสร้างความเข้าใจต่อมรดกวัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้ความเจริญของสมุทรสาคร เติบโตอย่างไม่มีแบบแผน

และท้ายที่สุด สิ่งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมในอดีต ทั้งสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ก็จะถูกกลืนกลายเป็นชุมชนเมือง พร้อมกับปัญหาอันเนื่องมาจากความเจริญที่แก้ไขกันไม่รู้จักจบสิ้น.



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง