“ประชาสัมพันธ์จังหวัดภาค 8” จัดสัมมนาเรียนรู้ประชาคมอาเซียน ผ่านโมเดล “สระแก้ว”

01

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกาญจนบุรี ในฐานะประชาสัมพันธ์จังหวัดผู้แทนภาค 8 จัดสัมมนาสื่อมวลชนสัญจร สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เมื่อวันที่ 24 – 26 มี.ค. ที่ผ่านมา

มีประชาสัมพันธ์จังหวัด สื่อมวลชนท้องถิ่น นักจัดรายการวิทยุ อาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้านและชุมชน (อป.มช.) จาก 16 จังหวัดภาคกลาง ในพื้นที่สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภาค 8 รวม 70 คน

เริ่มต้นการสัมมนาที่ห้องเทียนทอง 1 โรงแรมสเตชัน วัน ถ.ธนวิถี อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ห่างจากตัวเมืองสระแก้วประมาณ 45 กม. และห่างจากตลาดโรงเกลือ ชายแดนมิตรภาพไทย – กัมพูชา 6 กม. ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาดูงาน

มีนายธรรมศักดิ์ รัตนธัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา และ น.ส.อรุณี กาญจนสาลักษณ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดกาญจนบุรี ในฐานะประชาสัมพันธ์จังหวัดผู้แทนภาค 8 กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายมรกต คงทน ประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสงคราม และนางสวามินี อิสระทะ ประชาสัมพันธ์จังหวัดลพบุรี

น.ส.อรุณี เปิดเผยว่า กรมประชาสัมพันธ์ ได้จัดสรรงบประมาณให้สำนักงานประชาสัมพันธ์ 16 จังหวัด ในภาคกลางตอนบนและภาคกลางตอนล่าง จัดโครงการส่งเสริมการตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนและความรู้สึกของการเป็นประชาคมอาเซียน ประจำปีงบประมาณ 2559 เพื่อให้สื่อมวลชนในพื้นที่ได้นำความรู้ และประสบการณ์ที่ได้จากการสัมมนา ไปเผยแพร่ขยายผลผ่านช่องทางการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ให้ประชาชนได้รับรู้เข้าใจ ตระหนักรู้และเป็นพลเมืองอาเซียนต่อไป

02

รองผู้ว่าฯ สระแก้ว หลังจากได้กล่าวเปิดงานก็ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง “อาเซียน ประชาคมแห่งโอกาส” โดยกล่าวถึงสภาพโดยทั่วไปของ จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นจังหวัดลำดับที่ 74 ของไทย มีพื้นที่ 7,195.924 ตร.กม. ประชากรประมาณ 5.5 แสนคน แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ 58 ตำบล มีชายแดนด้านตะวันออกติดกับราชอาณาจักรกัมพูชา 165 ก.ม. เชื่อมต่อกันด้วยจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ และจุดผ่อนปรนการค้าชั่วคราวอีก 3 แห่ง

มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) อยู่ที่ 37,989 ล้านบาท รายได้หลักมาจากการเกษตร ร้อยละ 30 การค้าการลงทุน ร้อยละ 25 และอุตสาหกรรม ร้อยละ 12 มีการปลูกพืชอย่าง ข้าวนาปี มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด แคนตาลูป ชมพู่ มะม่วง ลำไย การเลี้ยงโคเนื้อ และโคนม ที่ อ.วังน้ำเย็น มีสภาพผืนป่าประมาณกว่า 8 แสนไร่ มีป่าสงวนแห่งชาติ 10 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง และอุทยานแห่งชาติ 2 แห่ง

เกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จ.สระแก้ว มีการตื่นตัวของทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สถานีตำรวจภูธรสระแก้ว มีการอบรมพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองวังน้ำเย็น มีการจ้างครูต่างชาติสอนภาษาอังกฤษและจีน มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว มีการจัดหลักสูตรให้ข้าราชการเตรียมพร้อมเข้าสู่ AEC รวมถึงความร่วมมือทางด้านสาธารณสุข การปราบปรามยาเสพติด การค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ

ปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายให้ จ.สระแก้ว เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเตรียมสร้างนิคมอุตสาหกรรมเนื้อที่ประมาณ 660 ไร่ เน้นการลงทุนประเภทอุตสาหกรรมสีเขียว และการก่อสร้าง CIQ (สำนักงานศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง และด่านตรวจสอบและกักกันด่าน) เนื้อที่ 525 ไร่ ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา พร้อมเพิ่มจุดผ่านแดนแห่งใหม่ และตัดถนนเพิ่มเติม แต่ยังมีอุปสรรคในเรื่องของราคาที่ดิน ที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าความเป็นจริง

ทางด้านทิศทางการพัฒนาของจังหวัด วิสัยทัศน์ของสระแก้ว คือ “ศูนย์กลางโลจิสติกส์ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของอินโดจีน ถิ่นพืชพลังงาน อาหารปลอดภัย” พร้อมทั้งการขับเคลื่อน “สระแก้วเมืองแห่งความสุข” ภายใต้ 4 ดี วิถีพอเพียง “คนดี สุขภาพดี รายได้ดี และสิ่งแวดล้อมดี”

03

04

ในวันที่สองของการสัมมนา ช่วงเช้าเป็นกิจกรรมเวทีเสวนา “เมื่อคนไทยก้าวไกลสู่อาเซียน” มีวิทยากรได้แก่ นายสุเทพ ตั้งเทียนทอง รองประธานหอการค้า จ.สระแก้ว กล่าวในหัวข้อ “อาเซียน ในมุมมองของภาคเอกชน” พ.ต.ท.เบญจพล รอดสวาสดิ์ รอง ผกก.ด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.สระแก้ว กล่าวในหัวข้อ “ตม.กับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน”

นายสินศักดิ์ ตวงหิรัญวิมล ผอ.ส่วนบริหารศุลกากร ด่านศุลกากรอรัญประเทศ กล่าวในหัวข้อ “บทบาทของศุลกากรไทย ภายใต้กรอบ AEC” และ พ.อ.เสกสรรค์ พรหมศักดิ์ รอง ผบ.ร. 12 รอ. และ รองเสนาธิการ กองกำลังบูรพา กล่าวในหัวข้อ “บทบาทของกองทัพไทยกับการเป็นประชาคมอาเซียน”

05

จากนั้นในช่วงบ่าย ได้มีการแบ่งกลุ่มเพื่อศึกษาดูงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ ตลาดโรงเกลือ เพื่อรวบรวมข้อมูลการเตรียมความพร้อมของ 3 เสาหลักประชาคมอาเซียน คือ ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) โดยรวบรวมข้อมูลไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ การค้าขายทำมาหากิน ภายในตลาดโรงเกลือและจุดผ่านแดนที่อยู่ใกล้กัน

06

07

08

09

10

11

และวันสุดท้ายของการสัมมนา เป็นการนำเสนอ วิเคราะห์ผล เรื่องการตรียมความพร้อมของ 3 เสาหลักสู่ประชาคมอาเซียน จากการสัมมนาและศึกษาดูงานในพื้นที่ตลาดโรงเกลือ โดยแต่ละกลุ่มได้แสดงทรรศนะในส่วนที่ฝ่ายพวกตนได้สรุปมา ทั้งเรื่องความมั่นคง ยาเสพติด แรงงานต่างด้าว สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การท่องเที่ยว วิถีชีวิต ภัยธรรมชาติ และการค้าขายลงทุน ที่ยังมีปัญหาอีกมากต้องแก้ไขกันต่อไป

12

13

14

15

แม้สภาพทางเศรษฐกิจของ จ.สระแก้ว จะแตกต่างจากหลายจังหวัดในภาคกลาง ด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดเป็นลำดับที่ 61 ของประเทศ แต่ด้วยทำเลที่ตั้ง ซึ่งอยู่ติดชายแดนไทย – กัมพูชา พร้อมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวมากมาย

การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของ จ.สระแก้ว จึงเต็มไปด้วยโอกาสอันมากมายในวันข้างหน้า ทั้งการเป็นเมืองแห่งพืชพลังงาน เมืองส่งเสริมการค้าชายแดน และเป็นเมืองท่องเที่ยวเชื่อมโยงวัฒนธรรมขอม อันเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนา เพื่อสอดรับกับความร่วมมือของประเทศเพื่อนบ้าน ในประชาคมอาเซียนต่อไป

16

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง