ฝนเพิ่งมาสมุทรสาคร เอาแน่เอานอนไม่ได้

2470-1

หลังจากที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล รวมถึงจังหวัดสมุทรสาครอากาศร้อนอบอ้าว และแห้งแล้งมานาน ในที่สุดวันสิ้นเดือน 30 เมษายน 2559 พายุฤดูร้อนก็เข้ามาเยือนให้ได้เย็นชุ่มฉ่ำกันไป

กรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงว่า เนื่องจากความแตกต่างของมวลอากาศ โดยบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีน ซึ่งเป็นมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมาปะทะกับอากาศร้อนจัดบริเวณประเทศไทยตอนบน

พร้อมกับเตือนให้ 33 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางและภาคตะวันออก ระวังอันตรายจากพายุลมแรง รวมถึงอยู่ห่างจากต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย

พายุฤดูร้อนคราวนี้ หลายคนอาจดีใจ โดยเฉพาะเกษตรกร เนื่องจากที่ผ่านมาประสบปัญหาภัยแล้งยาวนานตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่อาจจะมีข้อสงสัยว่า ฝนตกคราวนี้จะยาวนานแค่ไหน

เพราะกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์อีก 7 วันข้างหน้า ว่า ตั้งแต่วันนี้ถึง 2 พ.ค. อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 พ.ค. อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่

อุณหภูมิต่ำสุด 28-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. / ชม.

ก่อนหน้านี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ออกมาคาดการณ์ว่า ฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้ คาดว่าจะเริ่มต้นประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม และจะสิ้นสุดประมาณเดือนตุลาคม

ปริมาณฝนโดยรวมของทั้งฤดูจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม ปริมาณฝนรวมจะต่ำกว่าค่าปกติเล็กน้อย จากนั้นปริมาณฝนรวมจะใกล้เคียงกับค่าปกติ

ส่าหรับช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ประเทศไทยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ อาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในบางพื้นที่

พายุหมุนเขตร้อน (พายุดีเปรสชั่น พายุโซนร้อน และพายุไต้ฝุ่น) ปีนี้คาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 2 ลูก

โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านภาคอีสานและภาคเหนือในเดือนสิงหาคมหรือกันยายน 1 ลูก และเคลื่อนผ่านภาคใต้ในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 1 ลูก

สำหรับข้อควรระวัง ในช่วงเดือนพฤษภาคม ยังคงเกิดพายุฤดูร้อนบ่อยครั้ง โดยจะมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน และเรือกสวนไร่นาได้

ในบางช่วงจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากติดต่อกันหลายวัน อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และอุทกภัยได้โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวอากาศประจำวันอย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย

ส่วนช่วงที่มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวเข้าใกล้หรือเคลื่อนผ่านประเทศไทย จะมีลักษณะของพายุลมแรง ฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่

ส่วนบริเวณชายฝั่งจะมีคลื่นลมแรง ความสูงของคลื่น 2-4 เมตร จึงขอให้ประชาชนและชาวเรือระมัดระวังอันตรายจากภัยธรรมชาติ และขอให้ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดในช่วงที่มีพายุหมุนเขตร้อนด้วย

รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร เปิดเผยถึงพายุฤดูร้อนเที่ยวนี้ว่า มาจาก 3 สาเหตุหลัก คือ เป็นช่วงรอยต่อของจุดเปลี่ยนระหว่างเอลนิโญ เป็นลานิญา

ขณะเดียวกัน ป่าไม้น้อย ความชื้นในบรรยากาศมีน้อย พื้นดินแห้งแล้ง อุณหภูมิน้ำทะเลและแผ่นดินแตกต่างกันมาก เมื่อมีลมแรงขึ้น พายุจะแรงขึ้น

อีกประการหนึ่ง คือ มีความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิสูงสุดและอุณหภูมิต่ำสุดในวันนั้นสูงมาก ประกอบกับมีมวลอากาศเย็นจากจีนและทะเลจีนใต้แผ่เข้ามา ทำให้เกิดลมแรงเป็นพายุฤดูร้อน

ภาวะเช่นนี้มีโอกาสเกิดขึ้นอีกในหลายพื้นที่ไปจนถึงสิ้นฤดูร้อน ซึ่งต้องดูอุณหภูมิในแต่ละพื้นที่ว่ามีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน แต่ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน

ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีโอกาสเกิดฝนตกค่อนข้างสูง ส่วนการเกิดลูกเห็บนั้นมีโอกาสน้อย เพราะกรุงเทพฯ ยังไม่ร้อนมากนัก เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมทะเลอยู่

ส่วนสถานการณ์น้ำท่า ฝ่ายประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานว่า ในช่วงวันที่ 1– 4 พ.ค. นี้ คาดว่าทั่วประเทศมีฝนตกประมาณ 0 – 15 มิลลิเมตรต่อวินาที

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 34,082 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 46 แต่ปริมาตรน้ำใช้การได้ 10,328 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 20 เท่านั้น

ส่วนปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ จํานวน 17.38 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายจํานวน 63.96 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำภูมิพล และสิริกิติ์ พบว่ามีปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำรวมกัน 7,919 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35 ส่วนปริมาตรน้ำใช้การได้ 1,329 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 8

ในส่วนของน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ จ.นครสวรรค์ พบว่ามีปริมาณน้ำไหล 151 ลบ.ม. ต่อวินาที ส่งน้ำไปยังแม่น้ำท่าจีน ที่ประตูระบายน้ำพลเทพ จ.ชัยนาท 18 ลบ.ม. ต่อวินาที

มาถึงประตูระบายน้ำท่าโบสถ์ จ.สุพรรณบุรี ลดเหลือ 17 ลบ.ม. ต่อวินาที, ประตูระบายน้ำสามชุด ลดเหลือ 13 ลบ.ม. ต่อวินาที และประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา ลดเหลือ 10 ลบ.ม. ต่อวินาที

สำหรับอ่างเก็บน้ำ จ.กาญจนบุรี ที่ส่งน้ำเข้าสู่แม่น้ำแม่กลอง พบว่าเขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาตรน้ำในอ่าง 11,943 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 67 ใช้การได้ 1,678 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 9

ส่วนเขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาตรน้ำในอ่าง 3,941 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ใช้การได้ 929 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 10

สภาพน้ำท่าโดยทั่วไป ทั้งลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำท่าจีน อยู่ในเกณฑ์ปกติ

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนเพื่อให้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอใช้ตลอดในช่วงฤดูฝน รวมทั้งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า

กรมชลประทาน ได้ดำเนินการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี การส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก

โดยจะใช้น้ำชลประทานเสริมในกรณีฝนทิ้งช่วงเท่านั้น

นอกจากนี้ จะบริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยระบบและอาคารชลประทาน รวมไปถึงการดำเนินการเก็บกักน้ำในเขื่อนให้มากที่สุด ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักน้ำต่ำสุด ตามช่วงเวลา เพื่อความมั่นคงด้านการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ

ในเขตพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา คาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก (ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์) จะมีน้ำใช้การได้เพียง 1,750 ล้าน ลบ.ม.

อยู่ในเกณฑ์น้อยมาก ไม่สามารถสนับสนุนภาคการเกษตรได้

ทั้งนี้ ต้องสำรองน้ำไว้ให้มากที่สุด และสนับสนุนการใช้น้ำด้านการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่าที่จำเป็น การเพาะปลูกพืชฤดูฝน ให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก โดยใช้กลไกของระบบและอาคารชลประทาน ในการจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

โดยจะแยก 2 ส่วน คือ พื้นที่ลุ่มต่ำ ประมาณ 1.4 ล้านไร่ แนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้ เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนปี 2559

ส่วนในพื้นที่ดอน ที่มีพื้นที่ประมาณ 6.2 ล้านไร่ จากการจำลองสถานการณ์ฝน พบว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขา จะมีปริมาณน้ำมากพอ

แนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป

ในส่วนของลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งใช้น้ำต้นทุนจาก 2 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ คาดการณ์ว่าตั้งแต่ 1 ก.ค. จะมีน้ำใช้การได้ร่วมกันประมาณ 1,516 ล้าน ลบ.ม.

โดยในปีนี้คาดว่าปริมาณน้ำต้นทุนและปริมาณน้ำท่าจะเพียงพอ จึงแนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชฤดูฝนได้ตามปกติ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป

สำหรับพื้นที่โครงการชลประทานอื่นๆ การเพาะปลูกพืชฤดูฝน ขอให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) ของแต่ละพื้นที่

ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมการประชุม จะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้

ส่วนพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ขอแนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกตามฤดูกาลปกติ ประมาณกลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป.



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง