เปลี่ยนระบบ “บัตรเอทีเอ็ม” เป็นชิปการ์ด ค่าธรรมเนียมแพงขึ้น?

2490-1

ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งในประเทศไทยจะเป็นแบบชิปการ์ดทั้งหมด โดยไม่มีการออกบัตรแบบแถบแม่เหล็กอีก

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการถูกคัดลอกข้อมูลจากแถบแม่เหล็กด้านหลังบัตร หรือ สกิมมิ่ง โดยในปัจจุบันมีผู้ถือบัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิตแบบแถบแม่เหล็กเดิมประมาณ 60 ล้านใบ

ทั้งนี้ ภายในปี 2562 ลูกค้าจะทยอยเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิตตามอายุบนบัตรเดิมทั้งหมด และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 บัตรแบบแถบแม่เหล็กทุกประเภทจะใช้งานไม่ได้อีกต่อไป

ธนาคารกรุงเทพ เป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่นำบัตรเดบิตแบบชิปการ์ดมาใช้ตั้งแต่ปี 2552 ตามมาด้วยธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงไทย กับบัตรบางประเภท และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

กระทั่งสมาคมธนาคารไทยได้เลือก “ยูเนี่ยน เพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล” เครือข่ายผู้ให้บริการบัตรเครดิตและบัตรเดบิตรายใหญ่ที่สุดในจีน เป็นผู้พัฒนาระบบระบบชิปการ์ด

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2559 ธนาคารทหารไทย เป็นธนาคารรายที่ 5 ที่นำบัตรเดบิตแบบชิปการ์ดมาใช้ โดยได้ยกเลิกบัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิตแบบแถบแม่เหล็กทั้งหมด

ปัจจุบันมีให้เลือกระหว่าง บัตรเดบิต ทีเอ็มบี ไลท์ แบบมีชิป ค่าออกบัตร 200 บาท ใช้ได้ 5 ปี ถอนฟรีที่ตู้เอทีเอ็มทีเอ็มบีทุกตู้ แต่เสียค่าถอนและสอบถามยอดที่ตู้เอทีเอ็มต่างธนาคาร 10-20 บาท

ส่วนลูกค้าที่เปิดบัญชี ทีเอ็มบี ออล ฟรี จะมีบัตรที่กดเงินฟรีทุกตู้ ไม่มีค่าธรรมเนียม ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยคิดค่าออกบัตรใหม่ 500 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 350 บาท

หากเป็นข้าราชการทหาร สังกัดกระทรวงกลาโหม จะเป็นบัตรทีเอ็มบี รอยัล ออล ฟรี แบบมีชิป หน้าบัตรเป็นตราสัญลักษณ์เหล่าทัพ ออกบัตรใหม่ครั้งแรกฟรี ค่าธรรมเนียมรายปี 350 บาท

2490-2

สำหรับธนาคารชั้นนำอย่าง ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงไทย ก็เตรียมที่จะออกบัตรใหม่ทุกประเภทแบบชิปการ์ด โดยยกเลิกบัตรแถบแม่เหล็กแบบเดิม ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมนี้

โดยพบว่า หลังเปลี่ยนเทคโนโลยีการออกบัตร ค่าธรรมเนียมบางธนาคารกลับแพงขึ้น

เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ออกผลิตภัณฑ์บัตรเดบิตมาสเตอร์การ์ดแบบใหม่ที่ชื่อ SMART โดยจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2559

หากลูกค้าที่สมัครบัตรเดบิตธนาคารก่อนวันที่ 14 พฤษภาคม 2559 ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 100 บาท รายปี 250 บาท

แต่หลังจากวันที่ 14 พฤษภาคม 2559 แรกเข้า 100 บาท รายปี 300 บาท

2490-4

ภาพจาก http://www.tnamcot.com/content/461164

2490-3

ที่มา : http://www.scb.co.th/stocks/media/new-ratesfees/fee-t3-c4-card.pdf?1462604984823

ส่วนบัตรพ่วงประกันภัยยังคิดอัตราเดิม บัตรเดบิต พลัส รายปี 599 บาท, เอ็กซ์ตร้า เดบิต พลัส รายปี 999 บาท, เดบิต พลัส บัตรทอง 1,499 บาท และซูเปอร์ เดบิต พลัส รายปี 1,599 บาท

ขณะที่ ธนาคารกสิกรไทย เริ่มให้บริการผลิตภัณฑ์บัตรเดบิตแบบชิปการ์ดตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป โดยมีผลไปถึงบัตรเดบิตทุกประเภท

โดยลูกค้าที่สมัครบัตรเดบิตกสิกรไทย หลังวันที่ 8 พฤษภาคม 2559 ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ออกบัตรใหม่ ทำบัตรทดแทน เพิ่มขึ้นจาก 100 บาทเป็น 150 บาท ส่วนค่าธรรมเนียมรายปี เพิ่มขึ้นจาก 200 บาท เป็น 250 บาท

ขณะที่บริการออกแบบลายหน้าบัตร K-My Debit Card ผ่านเว็บไซต์ ได้ปิดปรับปรุงมาตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2559 และจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 10 พฤษภาคม 2559

โดยจะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น K-My Play Debit Card และคิดค่าธรรมเนียมแรกเข้า ออกบัตรใหม่ ทำบัตรทดแทน 150 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 350 บาท

เพิ่มขึ้นจากบัตร K-My Debit Card เดิม ที่คิดค่าธรรมเนียมรายปี 250 บาท เพิ่มอีก 100 บาท!

2490-5

ที่มา : http://www.kasikornbank.com/TH/RatesAndFees/Charges/ChargesDoc/FeeService_29042016_th.pdf

ขณะที่บัตร K-Max Plus Debit Card แบบพ่วงประกันอุบัติเหตุ คิดค่าธรรมเนียมแรกเข้า ออกบัตรใหม่ ทำบัตรทดแทน 150 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 650 บาท

นอกจากนี้ ยังไม่พบว่ามีบัตร K-SME Debit Card จำหน่าย จึงคาดว่าน่าจะหยุดจำหน่ายบัตรนี้ไปแล้ว

ด้าน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้เตรียมออกบัตรเดบิตแบบชิปการ์ดแก่บัตรทุกประเภท ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา โดยพบว่ายังคงค่าธรรมเนียมตามเดิม

ได้แก่ บัตรเอทีเอ็ม FCD, บัตรวีซ่าเดบิต, บัตรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, บัตรเดบิตพร้อม, บัตร No Annual Fee, บัตร All ATMs, บัตรเอ็กซ์คลูซีฟ, บัตรออมทรัพย์จัดให้ และบัตร Thai Debit

2490-6

ขณะที่ ธนาคารธนชาต ได้ออกประกาศยกเลิกการออกบัตรเอทีเอ็มธนชาต ทุกประเภท สำหรับบัญชีเงินเดือน บัตรประจำตัวนักเรียน/นักศึกษา และบัตรสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2559

แต่บัตรเอทีเอ็มที่ออกบัตรก่อนหน้านี้ ยังคงใช้บัตรต่อได้ตามปกติ หากบัตรชำรุด สูญหาย หรือต้องการออกบัตรใหม่ ธนาคารจะออกบัตรเดบิตแทนบัตรเอทีเอ็ม

ปัจจุบัน ธนาคารธนชาตคิดค่าธรรมเนียมแรกเข้า ออกบัตรใหม่ ทำบัตรทดแทน 100 บาท ส่วนค่าธรรมเนียมรายปี มีให้เลือกตั้งแต่รายเดือน บัตรละ 20 บาท ไปจนถึงราย 3 ปี 400 บาท

จะเห็นได้ว่า หลังการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากบัตรแบบแถบแม่เหล็ก มาเป็นบัตรแบบชิปการ์ด แม้รูปแบบบัตรทันสมัยมากขึ้น ความปลอดภัยมีมากขึ้น แต่ค่าธรรมเนียมแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว

เสมือนกับ “ผลักภาระ” ให้ผู้บริโภค ในยุคที่ค่าครองชีพสูงขึ้นอยู่กลายๆ.



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง