ฟังบันทึกการสัมมนา ท่าเรือน้ำลึก-นิคมอุตสาหกรรมทวาย

ผ่านพ้นกันไปแล้ว สำหรับโครงการสัมมนาในหัวข้อ “โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย เส้นทางการค้าแห่งใหม่ โอกาสทองที่ไม่ควรมองข้าม” ซึ่งจัดโดยจังหวัดสมุทรสาคร สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ โดยมีเว็บไซต์สาครออนไลน์ร่วมเป็นสื่อสนับสนุน หรือ Media Sponsor สำหรับการจัดงานครั้งนี้

การสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นไปเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา ณ ห้องโชติกา โรงแรมเซ็นทรัลเพลซ ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร โดยมีนายจุลภัทร แสงจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครเป็นประธานเปิดงาน และมีนายอภิชิต ประสพรัตน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ให้การต้อนรับ

วัตถุประสงค์ในการจัดการสัมมนา ก็เพื่อให้ข้อมูล ความรู้ และข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และสมาชิกของสภาอุตสาหกรรม ในพื้นที่ภาคกลางฝั่งตะวันตก รวมถึงประชาชนทั่วไปทั้งในและนอกพื้นที่พัฒนาการที่เกี่ยวข้อง และเป็นกิจกรรมด้านวิชาการของหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะชน พร้อมสร้างสัมพันธ์กับกลุ่มผู้อ่านและกลุ่มธุรกิจต่างๆ

สำหรับการจัดโครงการสัมมนาครั้งนี้ ได้มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย กับท่าเรือน้ำลึกทวาย” โดย นายโอภาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยได้กล่าวถึงแนวคิดในการเชื่อมฝั่งทะเลจากฝั่งตะวันตกไปยังฝั่งตะวันนออก ประกอบกับประเทศไทยมีความสามารถสูงในการผลิต ซึ่งถ้าหากสามารถกระจายสินค้าได้รวดเร็วก็จะเป็นผลดีเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามโครงการที่เกิดขึ้นก็อาจทำให้บางประเทศที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งเดิม ต้องได้รับผลกระทบบ้าง

จากนั้นเป็นการเสวนา “ท่าเรือน้ำลึกทวาย : โอกาสเศรษฐกิจและช่องทางธุรกิจ” โดยมีวิทยากรที่สำคัญ ได้แก่ ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ โครงการทวาย ดีเวลอปเมนต์ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน), นายทองอยู่ คงขันธ์ ที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และรองประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย, ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา ภาควิชาชีพประมง, ดร.สิงห์ ตั้งเจริญชัยชนะ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง ดำเนินรายการโดย นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ได้กล่าวว่า ท่าเรือน้ำลึกทวายจะเป็นจุดเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ ของโลกและเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซี่ยน จากมหาสมุทรอินเดียไปสู่ย่านทะเลจีนใต้ ไปจนถึงญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศอื่นๆ จึงทำให้เชื่อว่าจะทำให้ขบวนการโลจิสติกส์เติบโตขึ้นอีก 7.6% จากปริมาณการเติบโตเดิม ซึ่งทำให้เชื่อว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์มากเพราะมีฐานความพร้อมต่างๆ รองรับอยู่ แต่เวลานำเสนอก็ต้องบอกว่าทุกประเทศและทุกฝ่ายได้ประโยชน์ทั้งหมด และเชื่อว่าการลงทุนด้านปิโตรเลี่ยมจำนวนมากก็จะอยู่ในย่านท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมนี้ ส่วนความพร้อมด้านสาธารณูปโภคของโครงการ ขณะนี้เส้นทางจากบ้านพุน้ำร้อนฝั่งประเทศไทย ไปยังทวายกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง การเดินทางปัจจุบันสามารถเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งเมื่อลงที่สนามบินขนาดรัยเวย์ประมาณ 3,600 เมตร แล้ว จะใช้เส้นทางถนนต่ออีกประมาณ 37 กิโลเมตร ก็จะถึงพื้นที่โครงการ พร้อมกันนี้ก็ได้มีการเตรียมก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อไว้ใช้ในโครงการแล้วด้วย

นายทองอยู่ คงขันธ์ ได้กล่าวว่า ควรดำเนินการอย่างจริงจังกับการก่อสร้างเส้นทางมอเตอร์เวย์จากบางใหญ่ไปต่อเชื่อมกับถนนในฝั่งพม่า รวมถึงการสร้างรถไฟเชื่อมโยง นอกจากนั้นก็ควรคำนึงถึงเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีก เช่น ความคิดเรื่องเศรษฐกิจเชื่อมโยงคืออะไร แนวทางการกระจายสินค้าควรไปในทิศทางใด มุมมองของรัฐบาลต่อโครงการนี้ควรชัดเจนว่าเป็นอย่างไร ต่อไปต้องทำอะไรต่อเนื่อง เพื่อเป็นการยืนยันว่าทวายจะเป็นประตูทางภาคตะวันตกได้จริงหรือไม่ ขณะนี้แนวทางการพัฒนาท่าเรือฝั่งตะวันตกยังไม่ชัดเจน แม้การเชื่อมโยงทางระบบรางด้วยรถไฟกำลังพัฒนาอยู่ การขนส่งทางน้ำก็มีดำเนินการอยู่ แต่การขนส่งทางบกก็ยังทำได้มาก อย่างไรก็ตามความสำเร็จในการดำเนินงานของกิจการท่าเรือน้ำลึกก็ยังอยู่ที่ค่าธรรมเนียมการใช้ท่าเรือด้วยว่า มีความน่าจูงใจเพียงไร

ดร.สิงห์ ตั้งเจริญชัยชนะ ได้กล่าวว่า ปัจจุบันจุดผ่านแดนด้านนี้มีการเดินท่อแก๊สธรรมชาติผ่านเข้ามาแล้ว ดังนั้นจึงมีความคิดว่าเมื่อท่อแก๊สเดินทางมาได้ ระบบการคมนาคมของคนและสินค้าก็น่าจะมาได้ด้วย ซึ่งเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวสนับสนุนโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายเป็นอย่างดี และเชื่อว่าโครงการดังกล่าวเดินมาไม่ผิดทาง นอกจากนั้นตลอดแนวชายแดนของจังหวัดกาญจนบุรี ระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร ก็ไม่มีปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อยหรือการสู้รบโจมตีใดๆ โดยเฉพาะจุดผ่านแดนบ้านพุน้ำร้อน ก็เป็นช่องทางที่ใช้กันอยู่และมีปัญหาน้อยกว่าช่องทางอื่นๆ ด้วย

ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ได้กล่าวว่า เป็นความฝันอย่างหนึ่ง ที่ชาวสมุทรสาครคิดกันว่าเราควรทีท่าเรือน้ำลึกขนาดเล็กประมาณ 10,000 ตัน เพื่อเชื่อต่อกับท่าเรือน้ำลึกทวาย และคิดว่านิคมอุตสาหกรรมทวายควรมีพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ SME รวมถึงมีอุตสาหกรรมบริการที่เกี่ยวกับการเดินเรือ อู่ต่อเรือ อู่ซ่อมเรือ รวมถึงมีนิคมอุตสาหกรรมประมง เพื่อเชื่อมโยงอุตสาหกรรมประมงที่มีอยู่แล้ว ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมประมงระดับ SME ก็สามารถเคลื่อนย้ายฐานการผลิตไปได้ ส่วนอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ก็อาจคงอยู่ ณ ที่ตั้งเดิมได้ดีอย่างสอดคล้องกัน เชื่อว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า ดังนั้นจึงควรเตรียมพร้อมในเรื่องระบบรองรับต่างๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมการประมงในมหาสมุทรอินเดียสามารถเชื่อมโยงกับประเทศไทยผ่านช่องทางนี้ และในส่วนของอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีอยู่ปัจจุบันก็เชื่อว่าจะใช้ช่องทางนี้เพื่อการประหยัดเวลาในการส่งออกข้ามฝั่งทะเลได้อย่างน้อย 3 วัน ทั้งการทำเข้าวัตถุดิบมายังสมุทรสาครก็จะสะดวกขึ้นเพราะไม่ต้องเดินทางอ้อมแหลมมลายูเหมือนเช่นขณะนี้

สมาชิกวุฒิสภากล่าวอีกว่า จังหวัดสมุทรสาครควรก้าวต่อไปด้วยการมองถึงอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ๆ ที่เราสามารถรองรับได้ อย่างไรก็ตามก็คงต้องพิจารณาด้วยว่ารัฐบาลมองเห็นอย่างไรกับโครงการที่บริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ทำอยู่ แม้ผู้ลงทุนจะได้ประโยชน์โดยตรง แต่ภาคส่วนอื่นๆ ก็ได้ประโยชน์ด้วย เพื่อรัฐบาลจะได้ลงมาสนับสนุนอย่างจริงจัง เช่นการ ดำเนินการรองรับด้วยเส้นทางมอเตอร์เวย์สำหรับการขนส่ง การจัดตั้งจุดผ่านแดนที่มีความพร้อม รวมถึงเรื่องของการส่งเสริมการลงทุน หรือมีการจัดตั้งธนาคารเฉพาะเรื่องนี้ เพื่อให้บริการด้านการเงิน รวมถึงควรมีการวางแผนด้วยว่า ควรมีสายการเดินเรืออะไรบ้าง ที่จะเข้ามาในเส้นทางนี้ ในด้านมิติอื่นๆ ก็มีการปรับตัวเพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เช่น ความคิดเชิงประวัติศาสตร์ก็ควรมีการปรับเปลี่ยนไปสู่ทัศนคติที่ดี รวมถึงเมื่อมีสะพานเศรษฐกิจเกิดขึ้น ก็ควรมีการจัดกลุ่มจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดสมุทรสาครเสียใหม่ด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมอย่างแท้จริง

ในช่วงท้ายของการเสวนายังได้มีการตอบตำถามและเสนอประเด็นคิดเพิ่มเติมจากวิทยากรด้วย เช่น ในเรื่องความจำเป็นที่โครงการนี้จะต้องเริ่มต้นขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมต้นน้ำ ที่มีการลงทุนขนาดหนัก หลังจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมขนาดอื่นๆ ที่จะดำเนินการตามมา โครงการนี้จะมีผลต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาคและระดับจุลภาคของประเทศไทยเพียงใด ประเทศไทยกับสหภาพพม่าจะได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างสมดุลอย่างไร มิติทางสังคมด้านการเคลื่อนย้ายกำลังคนอย่างเสรี การจัดการด้านข้อกฎหมายร่วมกัน การจัดการกลุ่มจังหวัด การขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจร่วมกับพม่า การคำนึงถึงความมั่นคงในการลงทุน และการเข้าไปลงทุน การระดมทุน รวมถึงการคุ้มครองทางด้านกฎหมายของพม่าต่อผู้ที่จะเข้าไปลงทุน

นอกจากนี้ยังมีการคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ การรองรับอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวที่จะก้าวตามมา การจัดตั้งธนาคารและสถาบันการเงินที่จะเข้าไปอำนวยความสะดวกในพื้นที่ การเคลื่อนย้ายการผลิตและแรงงานเข้าไปในพื้นที่อย่างสมบูรณ์ การขนส่งข้ามแดน เอกสารการขนส่งเปลี่ยนแดน ข้อตกลงการค้า การคำนึงถึงกฎหมายการคมนาคมระหว่างประเทศ ค่าธรรมเนียมการผ่านทาง การพิจารณาเรื่องกรอบข้อตกลง GMS ที่ตกลงร่วมกัน ความคิดด้านการเปลี่ยนระบบการขนส่งทางการค้าเป็นความร่วมมือในรูปแบบพันธมิตรทางการค้า การกำหนดเขตภาษีและข้อตกลงด้านกฎหมายภาษี-ด้านการส่งเสริมการลงทุนของพม่า การเก็บภาษี 0% ในช่วง 5 ปีแรก และการเก็บภาษี 15% ในช่วงเวลาต่อมา

สำหรับการสัมมนาดังกล่าว ได้มีการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีวิทยุ เอฟ.เอ็ม. 99.25 คลื่นข่าว เอ็น.เอ.ซี.เรดิโอ จ.สมุทรสาคร และในโอกาสนี้ เว็บไซต์สาครออนไลน์จะได้นำท่านผู้อ่านรับฟังบันทึกเทปการบรรยายพิเศษ และการเสวนาที่น่าสนใจในการสัมมนาครั้งนี้ แก่ผู้เข้าชมเว็บไซต์สาครออนไลน์ทุกท่าน ซึ่งสามารถติดตามบรรยากาศการสัมมนาเพิ่มเติมได้ที่หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ นิตยสารท่าจีน รวมทั้งสื่อสนับสนุนที่เกี่ยวข้องต่อไป

การบรรยายพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย กับท่าเรือน้ำลึกทวาย”
โดย คุณโอภาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

การเสวนา “ท่าเรือน้ำลึกทวาย : โอกาสเศรษฐกิจและช่องทางธุรกิจ” โดย

• ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ โครงการทวาย ดีเวลอปเมนต์ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน)

• นายทองอยู่ คงขันธ์ ที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และรองประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย

• ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา ภาควิชาชีพประมง

• ดร.สิงห์ ตั้งเจริญชัยชนะ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง

ดำเนินรายการโดย คุณชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ บรรณาธิการบริหาร นสพ.ฐานเศรษฐกิจ

ตอนที่ 1

ตอนที่ 2

ตอนที่ 3

ตอนที่ 4

อ่านประกอบ : สัมมนาโครงการ “ท่าเรือน้ำลึกทวาย” ประสบความสำเร็จล้นหลาม!



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง