รู้จัก “คำถามเพิ่มเติม สนช.” ก่อนลงประชามติ 7 สิงหา

1469690281303

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้จัดโครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์คำถามเพิ่มเติมของ สนช. แก่เครือข่ายผู้นำนักประชาธิปไตย ที่ห้องคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา

เพื่อให้เครือข่ายผู้นำนักประชาธิปไตย มีองค์ความรู้เกี่ยวกับคำถามเพิ่มเติมของ สนช. สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการออกเสียงประชามติ และนำไปเผยแพร่ขยายผลไปยังกลุ่มต่างๆ ต่อไป มีผู้ผ่านการอบรมตามโครงการเสริมสร้างความพร้อมแก่ท้องถิ่น หลักสูตร “กระบวนการเสริมสร้างผู้นำนักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ระหว่าง พ.ศ. 2546 – 2558 จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมสัมมนาจำนวน 800 คน

1469690282970

1469690288489

โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่หนึ่ง เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยนายพงศ์กิตติ์ อรุณภักดีสกุล รองเลขาธิการวุฒิสภา กล่าวรายงาน รวมถึง นายกล้านรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมการการเมือง และสมาชิก สนช., พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ สมาชิก สนช., นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คนที่หนึ่ง และนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ

นายสุรชัย ได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง “สถานการณ์การเมืองปัจจุบันและอนาคตการเมืองไทย” ที่หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ได้กำหนดระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านประเทศ ภายใต้โรดแมป 3 ระยะ ขณะนี้เข้าสู่ระยะที่ 3 การจัดทำรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2560

จากเจตนารมณ์ของผู้ที่รับผิดชอบบ้านเมืองขณะนี้ ซึ่งอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่กำหนดให้ขั้นตอนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ต้องผ่านกระบวนการลงประชามติ ซึ่งมีกำหนดในวันที่ 7 ส.ค. 2559 นอกเหนือไปจากการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็จะมีเรื่องคำถามพ่วง หรือคำถามเพิ่มเติมที่ สนช. ได้เสนอกับทาง กกต. ตามกติกาที่เขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557

ดังนั้นการออกเสียงประชามติในครั้งนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของประเทศไทย ที่ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจในสองเรื่องสำคัญพร้อมกัน แม้ว่าเมื่อ 19 ส.ค. 2550 เคยมีการทำประชามติไปแล้วครั้งหนึ่ง คือเห็นด้วย – ไม่เห็นด้วย กับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ตอนนั้นไม่มีใครคาดคิดว่า 9 ปีต่อมาจะต้องหวนกลับมาสู่จุดเดิม ของการให้ประชาชนตัดสินใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

1469690284550

อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่วันนี้คือ จะทำอย่างไรให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และสามารถเลือกตั้งได้ เป็นโจทย์เดิมที่ได้เคยคิดและแก้ไขเมื่อปี 2550 เพราะหากเป็นเช่นนั้น ก็จะมีผลกลับมาสู่จุดเดิมอีก เพราะฉะนั้นจะต้องช่วยกันทำความเข้าใจว่า ภายใต้เส้นทางที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2560 นั้น มันมีโจทย์ที่จะต้องคิดต่อมากกว่าให้มีการทำรัฐธรรมนูญหรือการเลือกตั้ง

คือหลังเลือกตั้งแล้ว ประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยที่แท้จริง พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งสามารถบริหารประเทศได้อย่างสงบราบรื่น พรรคการเมืองที่แพ้การเลือกตั้งจะต้องยอมรับกฎกติกาตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนด มากกว่านโยบายประชานิยม เป็นรัฐบาลที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ทุจริตคอรัปชั่น ยอมรับกติกาตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องการถ่วงดุล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และทำงานภายใต้หลักนิติธรรม คุณธรรม จริยธรรม นั่นเป็นเป้าหมายที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

16-07-27-11-10-12-262_photo

จากนั้น นายปกรณ์ ได้ชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ว่า กรธ. เปิดรับฟังความคิดเห็นทุกช่องทาง เพื่อนำมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยไม่ได้ตัดขาดความเห็นจากประชาชน อีกทั้งไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องการเมือง แต่คำนึงถึงอนาคตประเทศด้วยว่าจะเป็นอย่างไร ในเรื่องที่บอกให้เอาของเก่ามาใช้ก็คงไม่ได้ เพราะของเก่าก็มีปัญหาจะเอามาใช้ได้อย่างไร จึงพยายามทำให้เรื่องการเมืองจบด้วยการเมือง ไม่นำพาผู้คนลงมาในท้องถนนอีก ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่แค่การปะผุทางการเมือง แต่ได้วางแนวทางอนาคตของประเทศไว้ด้วย ทั้งหมดอยู่ที่การตัดสินใจของประชาชนในวันที่ 7 ส.ค.ว่าจะเป็นอย่างไร

ทางด้านนายกล้านรงค์ ได้กล่าวถึงสาระสำคัญคำถามเพิ่มเติมว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นฉบับแรกที่ให้มีคำถามพ่วงประชามติ ซึ่งมีประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น คือ 1.การปฏิรูปประเทศกับยุทธศาสตร์ชาติ 2.ระยะเวลา 5 ปี และ 3.รัฐสภาให้ความเห็นชอบ เพราะร่างรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญเรื่องการปฏิรูปประเทศ แต่ระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายใช้บังคับ ให้หน่วยงานของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ดำเนินการปฏิรูปไปก่อน ส่วนที่ต้องกำหนดไว้ 5 ปี ก็เป็นไปตามวาระของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีหน้าที่ติดตามเร่งรัดการปฏิรูป การจัดทำและดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ

ทั้งนี้ ถ้าประชาชนเห็นชอบทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ผลคือ กรธ.จะต้องไปแก้ไขบทเฉพาะกาลให้เป็นไปตามคำถามพ่วง แต่หากเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแต่ไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วง คำถามพ่วงก็จะตกไป หากไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ แต่เห็นชอบคำถามพ่วง ร่างรัฐธรรมนูญก็ตกไปแล้วร่างใหม่ โดยมีนัยสำคัญว่าการร่างต้องพิจารณาคำถามพ่วงไว้ในร่างใหม่ ถ้าไม่เห็นชอบทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงก็ตกไปทั้งฉบับ ดังนั้น วันที่ 7 ส.ค.จึงเป็นวันสำคัญที่สุดที่ประชาชนจะใช้อำนาจและสิทธิของตัวเอง ตนจึงขอให้มาช่วยกันลงประชามติบนพื้นฐานความเข้าใจด้วยตัวเองโดยไม่มีการชี้นำ ชักชวน และบังคับ

สาครออนไลน์ โดย กองบรรณาธิการ



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง