107,682,401 บาท : งบฉุกเฉินน้ำท่วมสมุทรสาคร

หมายเหตุ : เอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัดสมุทรสาคร ครั้งที่ 4/2554 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน 2554 ณ ห้องประชุม 401 ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร โดยในส่วนของการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของจังหวัดสมุทรสาคร จะมีนายอำพล อังคภากรณ์กุล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร (หน.สนง.ปภ.สค.) เป็นผู้เสนอรายละเอียดให้ที่ประชุมทราบ

• • •

ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องเพื่อทราบ

4.1 การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของจังหวัดสมุทรสาคร

หน.สนง.ปภ.สค. – ตามที่ได้เกิดปัญหามหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลางหลายจังหวัด มวลน้ำมหาศาลได้ไหลหลากมาตามแม่น้ำท่าจีน คลองมหาสวัสดิ์ คลองทวีวัฒนา และบางส่วนมีการระบายมาจากเขตกรุงเทพมหานครเข้าท่วมในพื้นที่ตำบลอ้อมน้อย ตำบลสวนหลวง ตำบลแคราย และตำบลท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน และบางส่วนของตำบลบางน้ำจืด และตำบลคอกกระบือ อำเภอเมืองสมุทรสาคร ได้รับความเสียหาย จังหวัดสมุทรสาคร ได้เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของจังหวัดสมุทรสาคร จนกระทั่งขณะนี้ปัญหาได้คลี่คลายและมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จึงขอรายงานสถานการณ์และเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของจังหวัดสมุทรสาคร

4.1.1 การเตรียมความพร้อมก่อนเกิดภัย

(1) การจัดประชุม เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจ

(2) การประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ครอบคลุมทั้ง 3 อำเภอ

(3) อนุมัติงบประมาณ จำนวน 107,682,401 บาท สำหรับเตรียมความพร้อมป้องกันอุทกภัย ดังนี้

(3.1) การป้องกันน้ำล้นตลิ่ง

– เสริมคันดินริมแม่น้ำท่าจีน และลำคลองต่างๆ ในพื้นที่ตำบลบางยาง ท่าไม้ สวนส้ม อำแพง

-การจัดซื้อกระสอบทราย รวม 4,192,560 ใบ

(3.2) การขุดลอกคลองเพื่อเร่งระบายน้ำ รวม 73 คลอง งบประมาณรวม 59 ล้านบาทเศษ

(3.3) การดูดเลน โดยเรือของกรมเจ้าท่าบริเวณปากอ่าวแม่น้ำท่าจีน

(4) การจัดหา เครื่องสูบน้ำ

(4.1) จังหวัดจัดซื้อ จำนวน 50 เครื่อง

(4.2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อ จำนวน 20 เครื่อง

(4.3) เช่าจากเอกชน จำนวน 31 เครื่อง

(5) การเร่งผลักดันน้ำ

จ้างเหมาเรือประมงผลักดันน้ำ จำนวน 25 ลำ

(6) การจัดวางระบบบริหารจัดการ และกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่ชัดเจน

– จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม จังหวัดสมุทรสาคร

– มอบหมายให้ นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ รองผุ้ว่าราชการจังหวัด รับผิดชอบอำเภอเมืองสมุทรสาคร

นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด รับผิดชอบอำเภอกระทุ่มแบน

นายไพศาล สำราญทรัพย์ ปลัดจังหวัด รับผิดชอบอำเภอบ้านแพ้ว

(7) การประชาสัมพันธ์และการแจ้งเตือนภัย

จังหวัดได้จัดทำประกาศจังหวัด และข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ให้ปฏิบัติตั้งแต่ก่อนเกิดภัย

(8) การจัดตั้งศูนย์รับบริจาค

การจัดตั้งศูนย์รับบริจาค เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามนโยบายของรัฐบาล โดยกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือแบบ “จังหวัดพี่จังหวัดน้อง” ได้รับเงินสด 4,322,807 บาท สิ่งของมูลค่า 16,370,262 บาท รวมมูลค่า 20,693,069 บาท ได้นำไปช่วยจังหวัดลพบุรี 3 ครั้ง จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ครั้ง และภาคเอกชนได้นำสิ่งของอุปโภคบริโภคไปมอบให้ผู้ประสบภัยด้วยตนเองอีก มูลค่าหลายล้านบาท

4.1.2 การดำเนินการขณะเตือนภัย

(1) แต่งตั้งคณะทำงาน

ให้ อปท.เป็นฝ่ายปฏิบัติการ และให้ส่วนราชการทุกส่วน เป็นฝ่ายสนับสนุน

(2) การช่วยเหลือผู้ประสบภัย

(2.1) กำหนดพื้นที่เป็น ศูนย์พักพิงชั่วคราว สำหรับรองรับผู้อพยพ 152 จุด สามารถรองรับผู้อพยพได้ 53,850 คน

(2.2) ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคน นายกเหล่ากาชาด หัวหน้าส่วนราชการ มอบถุงยังชีพและอื่นๆ ให้ผู้ประสบภัย จำนวนกว่า 5,000 ชุด เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ 6 ลำ เรือพาย 307 ลำ สุขาลอยน้ำ 40 หลัง สุขาเก้าอี้ 1,000 ชุด นอกจากนี้ อปท.ยังจัดซื้อถุงยังชีพไปมอบให้ผู้ประสบภัยอีกจำนวนหนึ่ง ตลอดจนภาคธุรกิจและภาคประชาชน ได้จัดโรงครัว ข้าวกล่อง น้ำดื่ม ไปมอบให้ผู้ประสบภัยด้วย

4.1.2 การดำเนินการหลังเกิดภัย

(1) ฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย

(1.1) ขอรับการสนับสนุนโครงการและงบประมาณ

(1.1.1) จังหวัด โดยคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟย.) จังหวัดสมุทรสาคร ขอรับการสนับสนุนโครงการและงบประมาณ ไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีสนับสนุนงบประมาณ แผนงาน 3 ด้าน

– ด้านโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 14 โครงการ งบประมาณ 129,793,842 บาท

– ด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชน จำนวน 4 โครงการ งบประมาณ 86,923,600 บาท

– ด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิต จำนวน 2 โครงการ งบประมาณ 21,943,328 บาท

(1.1.2) ขอรับการสนับสนุนโครงการและงบประมาณไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม *

– ขุดลอกคลอง จำนวน 58 โครงการ งบประมาณ 62,957,600 บาท

– ซ่อมแซมสถานีสูบน้ำบางยาง งบประมาณ 2,283,000 บาท

– ขอรับการสนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับเครื่องสูบน้ำ รวม 36,894,400 บาท

(2) การพิจารณาค่าชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554)

รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยครัวเรือนละ 5,000 บาท มีหลักเกณฑ์ ดังนี้

– น้ำท่วมถึงบ้านพักอาศัยโดยฉับพลัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย

– บ้านพักอาศัยถูกน้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย

– บ้านพักอาศัยได้รับความเสียหายจากน้ำป่าไหลลาก และดินโคลนถล่ม

ทั้ง 3 กรณี ต้องอยู่ในเขตพื้นที่ประกาศภัยพิบัติเท่านั้น

จึงเสนอที่ประชุมเพื่อโปรดทราบ – จบ –

* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย คนของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย (สมาชิกบ้านเลขที่ 111)



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง