เจาะลึกทำเลถนนพระราม 2

สาครออนไลน์วิเคราะห์-เจาะลึกทำเลย่านถนนพระราม 2 จากกรุงเทพฯ ถึงตัวเมืองสมุทรสาครแบบรอบด้าน ทั้งการคมนาคม ระบบขนส่งมวลชน แหล่งจับจ่ายใช้สอย สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล สถานีตำรวจ การวางผังเมือง และโครงการก่อสร้างในอนาคต เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อบ้านในย่านนี้

การคมนาคม – ถนนพระราม 2 เป็นเส้นทางคมนาคมจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่ภาคใต้ มีระยะทางตลอดสาย 84 กม. และเป็นจุดเริ่มต้นทางด่วนเฉลิมมหานคร มุ่งหน้าเข้าสู่ใจกลางเมือง มีความกว้างช่วงตั้งแต่ทางด่วนดาวคะนองถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน 14 ช่องจราจร แบ่งออกเป็นช่องทางหลัก 4 ช่องจราจร และช่องทางขนาน 3 ช่องจราจร จากนั้นช่วงตั้งแต่ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน ถึง จ.สมุทรสาคร มีความกว้าง 10 ช่องจราจร แบ่งออกเป็นช่องทางหลัก 3 ช่องจราจร และช่องทางขนาน 2 ช่องจราจร

ถนนพระราม 2 มีเส้นทางที่เชื่อมโยงไปยังจุดต่างๆ ได้แก่ ถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนรอบนอกตะวันตก) ไปยังถนนเพชรเกษม ถนนบรมราชชนนี และ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี สามารถตรงไปออกทางแยกต่างระดับบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อมุ่งหน้าสู่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนทางพิเศษบางพลี-สุขสวัสดิ์ สามารถตรงไปออกถนนสุขุมวิท ถนนบางนา-บางปะกง มุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออก และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งอยู่ห่างจากทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนประมาณ 55 กม.

นอกจากนี้ ในส่วนของถนนกาญจนาภิเษก ยังมีเส้นทางซึ่งเป็นเครือข่ายถนนของกรมทางหลวงชนบท ได้แก่ ถนนกัลปพฤกษ์ (ตากสิน-เพชรเกษม-วงแหวนรอบนอก) มุ่งหน้าไปยังสะพานสาทร สู่ใจกลางธุรกิจย่านสาทรและสีลม, ถนนราชพฤกษ์ ที่มีเส้นทางขนานกับถนนกาญจนาภิเษก ผ่านถนนบรมราชชนนีไปยังปิ่นเกล้า ถนนนครอินทร์ไปยังสะพานพระราม 5 ถนนติวานนท์ จ.นนทบุรี ถนนรัตนาธิเบศร์มุ่งหน้าไปยังเขตบางเขน กรุงเทพฯ ถนนชัยพฤกษ์มุ่งหน้าไปยังปากเกร็ด ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนสาย 345 มุ่งหน้าไปยัง จ.ปทุมธานีได้เช่นกัน

ระบบขนส่งมวลชน – ถนนพระราม 2 มีเส้นทางเดินรถประจำทางหลายสาย ส่วนใหญ่ให้บริการตั้งแต่ช่วงเช้ามืด มีดังต่อไปนี้

• ต้นทางการเคหะธนบุรี
– สาย 17 การเคหะธนบุรี-แจงร้อน-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รถธรรมดาร่วมบริการขาว-น้ำเงิน (04.00-22.00 น.)
– สาย 85 พระราม 2-หัวลำโพง รถธรรมดาร่วมบริการขาว-น้ำเงิน (04.00-22.00 น.)
– สาย 142 การเคหะธนบุรี-ปากน้ำ รถปรับอากาศ ยูโรทู (03.45-21.30 น.)
– สาย 147 วงกลมเคหะธนบุรี-บางแค-ท่าพระ รถธรรมดาร่วมบริการสีชมพู รุ่นใหม่ (04.00-22.00 น.)
– สาย 171 การเคหะธนบุรี-หมู่บ้านนักกีฬา รถปรับอากาศร่วมบริการสีเหลือง รุ่นใหม่ (04.00-22.00 น.)
– สาย 558 การเคหะธนบุรี-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รถปรับอากาศร่วมบริการสีเหลือง รุ่นใหม่ (04.20-23.00 น.)

นอกจากนี้ ยังมีรถสองแถวให้บริการต้นทางการเคหะธนบุรี โดยสังเกตที่ข้อความด้านหน้ารถ หากเป็นสองแถวสีเหลืองจะมีป้ายบอกจุดหมายปลายทางต่างกัน ได้แก่ ท่าน้ำสมุทรสาคร, บางน้ำจืด, หมู่บ้านกานดาพาร์ค, ซอยวัดพันท้ายนรสิงห์ ส่วนรถสองแถวสีแดงจะไปวัดแสมดำ รถสองแถวสีฟ้าจะไปถนนบางขุนเทียน ฯลฯ

• ต้นทางอู่แสมดำ
– สาย 68 อู่แสมดำ-บางลำภู รถธรรมดาขาว-น้ำเงิน (04.15-23.00 น.)
– สาย 76 อู่แสมดำ-ประตูน้ำ รถปรับอากาศสีขาว รุ่นใหม่ (บริการตลอดคืน)
– สาย 140 อู่แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รถปรับอากาศสีขาว รุ่นใหม่ (04.20-23.00 น.)
– สาย 141 อู่แสมดำ-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รถปรับอากาศสีขาวคาดน้ำเงิน

• ต้นทางมหาชัยเมืองใหม่
– สาย 105 มหาชัยเมืองใหม่-คลองสาน รถปรับอากาศสีขาวคาดน้ำเงิน (04.20-21.00 น.)
– สาย 105 ก. มหาชัยเมืองใหม่-วัดสน รถธรรมดาขาว-น้ำเงิน (04.20-21.00 น.)

• ต้นทางจังหวัดสมุทรสาคร
– สาย ปอ.68 สมุทรสาคร-บางลำภู รถปรับอากาศร่วมบริการสีเหลือง รุ่นใหม่ (04.00-22.00 น. เที่ยวสุดท้ายจากสมุทรสาคร 20.30 น.)

ในกรณีที่ต้องเดินทางตอนกลางคืน มีรถประจำทางเพียงสายเดียวที่ให้บริการตลอดคืน ได้แก่ สาย 76 การเคหะธนบุรี-ประตูน้ำ ซึ่งรถแท็กซี่จะมีให้บริการที่หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี พระราม 2 (ท่าข้าม) และป้ายรถเมล์หน้าเคหะธนบุรี (ฝั่งห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส พระราม 2)

รถไฟฟ้า – ย่านถนนพระราม 2 ไม่มีรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟใต้ดินเข้าถึง ส่วนใหญ่ในชั่วโมงเร่งด่วนมักจะนิยมใช้บริการรถตู้ปรับอากาศ โดยเฉพาะสายอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งมีให้บริการจากท่ารถตู้บริเวณใต้ทางด่วนถึง 23.00 น. ทุกวัน นอกจากนี้ในรายที่ต้องต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส มักจะใช้วิธีต่อรถประจำทางสาย 76 และ 105 เพื่อไปยังสถานีรถไฟฟ้าทีเอส วงเวียนใหญ่ บริเวณถนนกรุงธนบุรี หรือในรายที่ทำงานอยู่ย่านสุขุมวิทจะต่อรถประจำทางสาย 141 ไปลงที่หน้ากรมศุลกากร เพื่อต่อรถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือตลาดคลองเตยซึ่งมีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินอยู่

อย่างไรก็ตาม ฝั่งธนบุรีมีโครงการรถไฟฟ้าที่สำคัญ ได้แก่ รถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนต่อขยายสถานีวงเวียนใหญ่ ถึงสถานีบางหว้า ถนนเพชรเกษม ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถนั่งรถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่ หรือต่อรถประจำทางสาย 68 และ ปอ.68 ไปยังสถานีรัชดาภิเษก-ราชพฤกษ์ ซึ่งอยู่ใกล้กับรถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ที สถานีราชพฤกษ์ รวมไปถึงรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง และบางซื่อ-ท่าพระอีกด้วย

ส่วนทางรถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่ อยู่ในโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย ในอนาคต ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ในแผนโครงข่ายเพิ่มเติม ของแผนโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน พ.ศ. 2553-2572 ระยะแรก 10 ปี (ให้บริการภายใน พ.ศ. 2562) และโครงการช่วงบางบอน-มหาชัย อยู่ในแผนการต่อขยายเส้นทางเดิม ของแผนโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน พ.ศ. 2553-2572 ระยะ 20 ปี (ให้บริการภายใน พ.ศ. 2572)

คลิกที่นี่ เพื่ออ่านรายละเอียด โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม

รถตู้ปรับอากาศ – มีรถตู้ปรับอากาศให้บริการในย่านถนนพระราม 2 ได้แก่

– การเคหะธนบุรี-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
– การเคหะธนบุรี-แยกบางนา
– การเคหะธนบุรี-มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รังสิต
– ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 2-มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก
– ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 2-เซ็นทรัลพลาซ่า ปิ่นเกล้า
– ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 2-งามวงค์วาน
– ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 2-มาบุญครอง
– ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 2-เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว
– ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 2-บางแสน จ.ชลบุรี
– ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 2-เซ็นทรัล เฟสติวัล พัทยา บีช จ.ชลบุรี
– ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี พระราม 2-สมุทรสาคร
– ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี พระราม 2-นครปฐม
– รถตู้ บขส.กรุงเทพฯ-หัวหิน-ปราณบุรี (จุดขึ้นรถหน้าร้านหมูกะทะ หน้าบิ๊กซี พระราม 2)

รถไฟ – ย่านถนนพระราม 2 มีทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย ซึ่งมีทั้งขบวนรถธรรมดาและขบวนรถปรับอากาศ ให้บริการจากต้นทาง สถานีมหาชัย ถึงสถานีวงเวียนใหญ่ ตั้งแต่เวลา 04.10-19.00 น. และจากต้นทางสถานีวงเวียนใหญ่ ถึงสถานีมหาชัย ตั้งแต่เวลา 05.20-20.10 น. จุดลงรถไฟที่เชื่อมต่อถนนพระราม 2 และสามารถเดินเท้าได้ ได้แก่

– ที่หยุดรถบางบอน ไปตามถนนบางขุนเทียน ห่างจากถนนพระราม 2 ประมาณ 1.2 กม.
– ที่หยุดรถการเคหะธนบุรี ไปตามถนนพระราม 2 ซอย 62 แยก 2 ในเคหะชุมชนธนบุรี โครงการ 3 ห่างจากถนนพระราม 2 ประมาณ 1 กม.
– สถานีรางโพธิ์ ไปตามถนนพระราม 2 ซอย 82 (ฝั่งตรงข้ามคือถนนบางกระดี่) ห่างจากถนนพระราม 2 ประมาณ 800 เมตร
– ที่หยุดรถพรหมแดน ไปตามถนพระราม 2 ซอย 100 ฝั่งตรงข้ามคือวัดพหรมรังษี ห่างจากถนนพระราม 2 ประมาณ 1 กม.

อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 เคยเกิดน้ำท่วมรางรถไฟตั้งแต่สถานีรางโพธิ์ถึงที่หยุดรถบางบอนมาแล้ว

ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า พระราม 2

จับจ่ายใช้สอย – ย่านถนนพระราม 2 มีห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ให้บริการที่สำคัญ ย่านถนนท่าข้าม (กม.6) ได้แก่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า พระราม 2 ฝั่งขาเข้า, ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ พระราม 2 (ท่าข้าม) ฝั่งขาออก และแมคปาร์ค พระราม 2 ซึ่งมีร้านแมคโดนัลด์ให้บริการทั้งร้านแบบสแตนอะโลน และบริการไดร์ฟทรูตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งศูนย์บริการยาง แอค ของบริดจ์สโตน

ส่วนย่านการเคหะธนบุรี (กม.10) ประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ พระราม 2 สาขา 2 (การเคหะธนบุรี) ฝั่งขาเข้า และห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส พระราม 2 ฝั่งขาออก นอกจากนี้ ในรายที่ต้องการซื้อของใช้ประจำวันยามค่ำคืน ย่านการเคหะธนบุรีจะมีคอนวิเนียนสโตร์อย่างเซเว่น อีเลฟเว่น และท็อปส์เดลี่ รวมทั้งเมื่อผ่านย่านวัดแสมดำจะมีปั้มน้ำมัน ปตท.จิฟฟี่ มักจะเป็นจุดนัดพบเวลาเดินทางมุ่งหน้าสู่ภาคใต้อยู่บ่อยครั้ง

เมื่อเข้าเขตจังหวัดสมุทรสาคร จะมีย่านชุมชนที่สำคัญ ได้แก่ ย่านวัดพันท้ายนรสิงห์ (กม.17) ซึ่งจะมีร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และเป็นที่ตั้งของสาขาธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน อีกย่านหนึ่งคือหมู่บ้านมหาชัยเมืองใหม่ (กม.21) ซึ่งจะมีตลาดสด ท่ารถประจำทาง ขสมก.ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น 2 จุด สาขาของธนาคารธนชาต (นครหลวงไทยเดิม) และธนาคารไทยพาณิชย์

ส่วนร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และวัสดุก่อสร้างที่สำคัญ ได้แก่ โฮมโปร พระราม 2 (กม.6), บุญถาวร พระราม 2 (กม.15) และร้านไทวัสดุ มหาชัย (กม.23) อย่างไรก็ตาม บนถนนพระราม 2 จะมีคอมมูนิตี้มอลล์อยู่ 2 จุด ได้แก่ โครงการพอร์โต้ชีโน่ (กม.25) ซึ่งจะมีแมกเนตที่สำคัญอย่างฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านแมคโดนัลด์ และร้านสตาร์บั๊กส์คอฟฟี่ จะเปิดให้บริการในปี 2555 และโครงการนุศาอเวนิว ถนนพระราม 2 (กม.15) ในอนาคต

สถาบันการศึกษา – ย่านถนนพระราม 2 จะมีสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง ได้แก่ โรงเรียนอัสสัมชัญ แคมปัสพระราม 2 ส่วนโรงเรียนมัธยมศึกษา ได้แก่ โรงเรียนทวีธาภิเษก 2 ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล เขตบางขุนเทียน, โรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบางขุนเทียน ถนนพระราม 2 ซอย 69 ส่วนโรงเรียนใกล้เคียงถนนพระราม 2 ได้แก่ โรงเรียนศึกษานารีวิทยา, โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ ถนนเอกชัย และโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม ถนนสุขสวัสดิ์ สำหรับในเขตจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ โรงเรียนสมุทรสาครบูรณะ โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย และโรงเรียนพันท้ายนรสิงห์วิทยา สำหรับสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ใกล้เคียง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนุรี เข้าทางถนนพุทธบูชา

โรงพยาบาล – ย่านถนนพระราม 2 ไม่มีโรงพยาบาลของรัฐ นอกจากโรงพยาบาลสมุทรสาครซึ่งอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ส่วนโรงพยาบาลเอกชนบนเส้นทางถนนพระราม 2 ได้แก่ โรงพยาบาลางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล (กม.0), โรงพยาบาลบางมด, โรงพยาบาลนครธน, โรงพยาบาลพระราม 2 นอกนั้นเมื่อเข้าสู่ตัวจังหวัดสมุทรสาครจะมีโรงพยาบาลเอกชัย ถนนเอกชัย โรงพยาบาลมหาชัย และโรงพยาบาลมหาชัย 3 (ประกันสังคม) บริเวณทางเข้าเมืองสมุทรสาคร กม.28 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จะมีโรงพยาบาลของรัฐ สังกัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงพยาาลบางขุนเทียน ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล กม.10 ในปี 2556

สถานีตำรวจ – ย่านถนนพระราม 2 ในเขตกรุงเทพมหานครจะมีพื้นที่รับผิดชอบอยู่ 3 สถานี ได้แก่ สน.บางมด ตั้งแต่ต้นถนนพระราม 2 ถึงสะพานข้ามคลองบางมด (กม.ที่ 2) , สน.ท่าข้าม ตั้งแต่สะพานข้ามคลองบางมด ถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน (กม.11) และ สน.แสมดำ ตั้งแต่ทางแยกต่างระดับางขุนเทียน ถึงสุดเขตกรุงเทพมหานคร (กม.18) ส่วนเขตจังหวัดสมุทรสาครจะมีพื้นที่รับผิดชอบอยู่ 2 สถานี ได้แก่ ทิศเหนือของถนนพระราม 2 อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของ สภ.เมืองสมุทรสาคร และทิศใต้ของถนนพระราม 2 ตั้งแต่เขตจังหวัดสมุทรสาคร ถึงสะพานข้ามคลองบางน้ำจืด อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของ สภ.โคกขาม ซึ่งรวมไปถึงซอยวัดพันท้ายนรสิงห์

ผังเมืองกรุงเทพมหานคร (ซูมเฉพาะฝั่งธนบุรี)

การวางผังเมือง – จากผังเมืองฉบับเก่า ย่านถนนพระราม 2 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่ถูกจัดวางให้เป็นพื้นที่สีส้ม ซึ่งเป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ตั้งแต่ต้นถนนพระราม 2 ถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน แต่จะมีพื้นที่สีม่วง ซึ่งเป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมบริเวณถนนางขุนเทียน-ชายทะเล ตั้งแต่ปากทางด้านถนนพระราม 2 ถึงถนนกาญจนาภิเษกด้านทิศใต้

แต่เมื่อผ่านทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน ผังเมืองจะถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม มีเจตนารมย์เพื่อรักษาพื้นที่เกษตรกรรมและเป็นแนวกันชันระหว่างพื้นที่เมืองและพื้นที่ชนบท ซึ่งโดยทั่วไปแล้วพื้นที่สีเขียว สามารถสร้างโรงงานได้ แต่มีการจำกัดประเภทโรงงานที่สามารถสร้างได้ เช่น โรงงานที่เป็นมลพิษ ส่วนโครงการหมู่บ้านจัดสรรสร้างได้เฉพาะบ้านเดี่ยวเนื้อที่ไม่เกิน 100 ตารางวา

สำหรับย่านถนนพระราม 2 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งแต่เขตจังหวัดสมุทรสาคร ซอยวัดพันท้ายนรสิงห์ ถึงสะพานข้ามทางรถไฟ ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียว เมื่อเข้าเขตตำบลคอกกระบือ จะเป็นพื้นที่สีเหลือง สีส้ม และพื้นที่สีแดงบริเวณหมู่บ้านมหาชัยเมืองใหม่ จากนั้นบริเวณสนามกอล์ฟมาแชร์ ถึงคลองเจ็ดศอก หมู่บ้านกานดาจะเป็นพื้นที่สีเขียว ก่อนจะเป็นพื้นที่สีเหลืองถึงทางเข้าเมืองสมุทรสาคร

ผังเมืองรวมสมุทรสาคร (ซูมเฉพาะย่านถนนพระราม 2 ถึงตัวเมืองสมุทรสาคร)

โครงการก่อสร้างในอนาคต – ย่านถนนพระราม 2 มีโครงการทางด่วนดาวคะนอง-บางขุนเทียน-สมุทรสาคร ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ แนวสายทางเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อทางพิเศษเฉลิมมหานครบริเวณดาวคะนองไปตามถนนพระรามที่ 2 จนถึงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก (ถนนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 8.8 ก.ม. ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำขอบเขตงานจ้างที่ปรึกษา (TOR) ระยะเวลาศึกษา 15 เดือน งบประมาณ 30 ล้านบาท ส่วนช่วงตั้งแต่ถนนกาญจนาภิเษก ถึงจังหวัดสมุทรสาครจะอยู่ในลำดับถัดไป

อย่างไรก็ตาม การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเตรียมนำโครงการที่เคยศึกษาไว้มาเป็นโครงการลงทุนใหม่ หลังจากปัญหาอุทกภัยที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเส้นทางปกติที่จะเชื่อมโยงกรุงเทพฯ ไปสู่เส้นทางภาคต่างๆ มีความเป็นไปได้จะสร้างเส้นทางจากดาวคะนอง สิ้นสุดเส้นทางที่ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร มีระยะทาง 27.8 กิโลเมตร โดยหลังจากนี้ กทพ.จะนำโครงการดังกล่าวมาศึกษา และพิจารณาเริ่มการลงทุนอย่างจริงจัง ซึ่งจากผลการศึกษาเดิมที่ กทพ.ทำไว้ มีวงเงินลงทุนเบื้องต้น 13,700 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง ไม่รวมกับเงินที่จะใช้ในการเวนคืน 5,000 ล้านบาท ค่าออกแบบ 144 ล้านบาท และค่าควบคุมงานก่อสร้างอีก 344 ล้านบาท

อีกโครงการหนึ่ง คือ โครงการทางหลวงสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 254 กิโลเมตร แบ่งแนวเส้นทางออกเป็น 3 ช่วงหลัก ประกอบด้วยแนวเส้นทางด้านตะวันออก ระยะทาง 97 กิโลเมตร เริ่มต้นที่ถนนสายเอเชีย กม. 13+790 ต.บ้านกรด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา สิ้นสุดที่ถนนบางนา-ตราด กม.ที่ 23+850 ฝั่งตะวันตกของชุมชน อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ช่วงดังกล่าวกำลังพิจารณาสร้างคลองผันน้ำเจ้าพระยา อยุธยา-อ่าวไทย ขนานไปกับทางหลวงพิเศษ

ต่อจากนั้นจะเป็นแนวเส้นทางด้านใต้ ระยะทาง 59 กิโลเมตร สิ้นสุดที่ถนนพระราม 2 กม. 23+200 ต.อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร และต่อด้วยแนวเส้นทางด้านตะวันตก ระยะทาง 98 กิโลเมตร สิ้นสุดบริเวณถนนสายเอเซีย กม.13+790 ทั้งนี้ ในส่วนของแนวเส้นทางที่พาดผ่านในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จากการที่กรมทางหลวงได้ว่าจ้างบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์แมเนจเมนท์ จำกัด ศึกษาแนวเส้นทางที่เป็นไปได้เมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา พบว่าได้พาดผ่านพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและพื้นที่นาเกลือของ ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร

จากนั้นปรับแนวอ้อมด้านใต้ ของนิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาคร โดยตัดผ่านพื้นที่ของหมู่บ้านสารินซิตี้ ทางด้านเหนือของ ต.โคกขาม ก่อนข้ามทางรถไฟสายแม่กลอง แล้วอ้อมผ่านด้านล่าง ICD ของบริษัท เอกชัยคอนเทนเนอร์ฯ แล้วข้ามถนนเอกชัย ไปสิ้นสุดเส้นทาง ที่ถนนพระราม 2 ต.นาดี เชื่อมต่อแนวด้านตะวันตก มุ่งขึ้นเหนือขนานไปกับถนนเศรษฐกิจ ทางด้านตะวันออกตัดผ่านถนนพุทธสาคร ขนานไปกับแนวพื้นที่ฝั่งตะวันออกของเขตพื้นที่ทหาร ก่อนเข้าสู่ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน ตัดผ่านถนนเพชรเกษม ระหว่าง ต.อ้อมน้อย กับเขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร



6 ความคิดเห็น เรื่อง “เจาะลึกทำเลถนนพระราม 2”

  1. ต่างหู กล่าวว่า:

    ม.ค. 16, 12 at 4:01 am

    กำลังจะเล็งจะไปอยู่แถวนั้นพอดี ขอบคุณข้อมูลมากๆ

  2. Jit กล่าวว่า:

    มิ.ย. 17, 12 at 1:20 pm

    คือว่า อยากทราบเบอร์โทรศัพท์ของรถตู้ อนุสาวรีย์ พระราม2 ค้ะ พอดีกระเป๋าตังค์หายอ่ะคะ มีเอกสารสำคัญมากมายเลยคะ ทั้ง ATM บัตรประชาชน บัตรประกันสังคม เงินจำนวน 500 บาท ลักษณะกระเป๋า ใบเล็กสีน้ำตาลเข้ม

  3. คมสันต์ กล่าวว่า:

    ก.พ. 12, 13 at 4:05 am

    อยากจะขายที่ดินใกล้วัดศาลาแดงบางไผ่ ถนน บางแวก ติดคลองบางเชือกหนังฝั่งใต้ 14ไร่3งาน ขายต่ำกว่าราคาประเมิน(มีพื้นที่ข้างเคียงอีกประมาณ10ไร่ ขายไร่ละ 3ล้านบาท รวมแลัวประมาณ 24ไร่ เหมาะทำโครงการจัดสรร หรือใว้เก็งกำไร) มีใครสนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 081-9515223คมสันต์

  4. อ้น กล่าวว่า:

    ก.ค. 07, 13 at 5:28 pm

    ดีครับ คนใช้ถนนพระราม2 น่าสงสารมาก ผมอยู่แถวนี้มา35 ปี คนอยู่เยอะมาก รถติดมากๆๆ ถนนแย่มากๆๆ การดูแลถนนเส้นพระราม2 ซึ่งเป็นถนนสายหลักวิ่งลงภาคใต้ ผม คิดว่าแย่มาก ผมหวังว่าคนที่มีส่วนร่วมในการทำโครงการต่างๆๆ น่าจะหันมามองและจิงจังกับการแก้ปัญหาการเดินรถในถนนพระราม2 อย่างจิงจังและจับต้องได้

  5. .... กล่าวว่า:

    ก.ย. 16, 13 at 4:35 pm

    น่าจะมีรถไฟฟ้าไม่ก็ใต้ดินได้แล้ว เพราะรถติดทุกเวลาเลย ไม่สะดวกเวลาเดินทาง

  6. กิตติ กล่าวว่า:

    เม.ย. 27, 14 at 4:25 am

    แปลกใจมาหลายปีแล้วว่า..

    ทำไมเลือกทำเป็นถนนยางมะตอย แต่ไม่ทำเป็นถนนคอนกรีตที่แข็งแรง??
    ทั้งๆ ที่ ..

    1. เป็นถนนเศรษฐกิจหลัก (สำหรับเดินทางลงภาคใต้, ผ่านพื้นที่เศรษฐกิจ แหล่งอาหารทะล ต้องมีการขนส่งด้วยรถบรรทุกมากมาย ฯลฯ)
    2. เป็นถนนที่มีรถบรรทุกขนาดใหญ่ ตู้คอนเทนเนอร์ วิ่งตลอดเวลา
    3. พื้นยางมะตอยของถนนพระราม2 เมื่อฝนตก เกิดอุบัติเหตุทุกครั้ง จากการตกข้างทาง
    4. ถนนยางมะตอยอายุการใช้งานสั้นมาก (เห็นได้จากการซ่อมแซมถนนพระราม 2 บ่อยมาก แต่ทำแค่การเอายางมะตอยมาปะๆ ถนนก็ไม่เรียบอยู่ดี)

    ผู้เกี่ยวข้อง โปรดพิจารณาด้วยครับ


แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง