ศึกโรงพยาบาล “ตลาดประกันสังคม“ รับเปิดเสรีด้านบริการ

การแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งได้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการแข่งขันหลังการเปิดเสรีทางการค้าและบริการ โดยเฉพาะการแยกตลาดลูกค้าทั่วไป กับตลาดประกันสังคมออกจากกันเพื่อรองรับการแข่งขัน หรือแม้กระทั่งการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ เจาะกลุ่มลูกค้าประกันสังคมเป็นหลัก ซึ่งพบว่ามี 3 โรงพยาบาลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งสิ้น

เริ่มจากการสิ้นสุดสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนระหว่างโรงพยาบาลมหาชัย (M-CHAI) และสำนักงานประกันสังคม ซึ่งจะออกจากระบบประกันสังคมในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะก่อนหน้านี้ได้แยกแผนกประกันสังคมออกเป็น โรงพยาบาลมหาชัย 3 และการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกันตนเปลี่ยนสถานพยาบาลไปก่อนหน้านี้ โดยการออกจากระบบประกันสังคมดังกล่าว เพื่อเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำงานบริการประชาชนอย่างชัดเจน ซึ่งโรงพยาบาลมหาชัย 3 ให้บริการสำหรับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ที่มีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดเดียวกัน

โรงพยาบาลมหาชัย 3 เป็นโรงพยาบาล 7 ชั้น ขนาด 100 เตียง เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2551 เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกันตน ที่จะให้มีโรงพยาบาลที่รับรักษาเฉพาะลูกค้าประกันสังคม โดยได้จดทะเบียนในนาม บริษัท ไทยแวลูแคร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือโรงพยาบาลมหาชัย ในช่วงมหาอุทกภัย 2554 นั้นโรงพยาบาลมหาชัยได้รับผลกระทบบางส่วน แต่เนื่องจากได้แยกตลาดลูกค้าทั่วไป กับตลาดประกันสังคม จึงได้ตลาดประกันสังคมเป็นหลักในการดำเนินงาน แม้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ที่จำกัดก็ตาม

รายงานประจำปี 2554 ของโรงพยาบาลมหาชัยเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาผลประกอบการของโรงพยาบาลมหาชัยมีรายได้รวม 1,486.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.89 ในส่วนของ บริษัทไทยแวลูแคร์นั้น ปี 2554 มีรายได้ 187.38 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.65 ของรายได้ทั้งหมด ทั้งนี้ บมจ.โรงพยาบาลมหาชัยได้จ่ายต้นทุนเหมาจ่ายจากการให้บริการประกันสังคมให้กับบริษัทไทยแวลูแคร์ ในอัตราร้อยละ 60 ของอัตรารายหัวที่ได้รับจากสำนักงานประกันสังคม และตั้งแต่เดือน ก.ค.54 เป็นต้นมาได้เปลี่ยนแปลงอัตราการจ่ายเป็นร้อยละ 90 ของอัตรารายหัว อย่างไรก็ตาม บมจ.โรงพยาบาลมหาชัยได้จัดวงเงินให้กู้ยืมแก่ บริษัทไทยแวลูแคร์ในลักษณะสัญญาเงินกู้ วงเงิน 200 ล้านบาท

ส่วนเครือโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล (VIH) ของบริษัท ศรีวิชัยเวชวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) ตลาดประกันสังคมมีสองโรงพยาบาลที่ให้บริการ ได้แก่ โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย หรือเดิมคือโรงพยาบาลศรีวิชัย 3 อ้อมน้อย เป็นโรงพยาบาลขนาด 200 เตียง ก่อตั้งในปี 2536 และโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล สมุทรสาคร หรือเดิมคือโรงพยาบาลศรีวิชัย 5 สมุทรสาคร ขนาด 120 เตียง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2537 นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม หรือเดิมคือโรงพยาบาลศรีวิชัย 2 ในเขตหนองแขม กรุงเทพฯ

ปัจจุบันพบว่าโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล สมุทรสาคร เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศและแห่งเดียวในจังหวัดสมุทรสาครที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว มีส่วนแบ่งการตลาดกลุ่มผู้ป่วยลูกค้าต่างด้าวมากกว่าร้อยละ 60 ของแรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเหมาจ่าย (Capitation) ส่วนในช่วงระหว่างปี 2551-2554 โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย ถือเป็นโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนรายได้สูงที่สุดของเครือ และประเภทรายได้ที่มีสัดส่วนสูงที่สุดคือรายได้จากโครงการประกันสังคม

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อต้นปี 2555 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม ได้ออกจากการเป็นสถานพยาบาลในโครงการประกันสังคมในปีนี้ ซึ่งทางโรงพยาบาลได้แนะนำให้เปลี่ยนมาใช้บริการที่โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางถนนเพชรเกษมประมาณ 7-8 กิโลเมตร ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่าอยู่ในช่วงปรับโครงสร้างธุรกิจ ด้วยการลดสัดส่วนรายได้จากกลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรต่ำ และขยายฐานลูกค้าเงินสดและลูกค้าต่างประเทศซึ่งมีอัตรากำไรที่สูงกว่า

จึงมีความเป็นไปได้ว่า โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย น่าจะรับภาระในส่วนของลูกค้าประกันสังคมย่านถนนเพชรเกษมเป็นหลัก ควบคู่ไปกับให้บริการศูนย์เฉพาะทางหลายด้าน ซึ่งในพื้นที่ย่านถนนเพชรเกษม ส่วนใหญ่เป็นย่านโรงงานอุตสาหกรรม และที่อยู่อาศัยชานเมืองของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีโรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการแก่ผู้ประกันตนเพียงแค่ 4 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย, โรงพยาบาลมหาชัย 2, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางแค และโรงพยาบาลบางไผ่ เขตภาษีเจริญ

ส่วนโรงพยาบาลที่กำลังก่อสร้างของกลุ่มวิภาราม เจาะกลุ่มลูกค้าประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพเป็นหลัก คือ โครงการโรงพยาบาลวิภาราม สมุทรสาคร ของบริษัท โรงพยาบาลวิภาราม จำกัด ในเครือโรงพยาบาลวิภาวดี (VIBHA) ซึ่งเป็นอาคารสูง 9 ชั้น ขนาด 210 เตียง ตั้งอยู่ในพื้นที่ถนนพระราม 2 ตรงข้ามนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ต.บางกระเจ้า อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร โดยได้เริ่มตอกเสาเข็มเมื่อต้นปี 2555 ที่ผ่านมา คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 2 ปี โดยใช้งบซื้อที่ดิน 60 ล้านบาท และงบลงทุนอยู่ที่ 500-600 ล้านบาท

โดยการก่อสร้างโรงพยาบาลวิภาราม สมุทรสาคร จะดำเนินการควบคู่ไปกับโรงพยาบาลวิภาราม อมตะนคร ในย่านนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร อ.เมืองฯ จ.ชลบุรี โดยร่วมกับนายวิกรม กรมดิษฐ์ ถือหุ้น 25% วิภารามถือหุ้น 75% จับกลุ่มเป้าหมายประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพ ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2554 กลุ่มวิภารามได้ซื้อกิจการโรงพยาบาลชัยปราการสมุทรปราการ โดยถือหุ้น 51% และเปลี่ยนชื่อเป็นวิภาราม-ชัยปราการ ปัจจุบันโรงพยาบาลในเครือประกอบด้วยโรงพยาบาลวิภาราม, โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา, โรงพยาบาลวิภารามปากเกร็ด, และโรงพยาบาลเสรีรักษ์

ชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) เคยออกมาเปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจจากนี้ จะมุ่งขยายการลงทุนทั้งในส่วนของโรงพยาบาลวิภาวดีและความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจภายใต้กลุ่มวิภาราม ประกอบด้วยโรงพยาบาลวิภาวดี, โรงพยาบาลรามคำแหง และโรงพยาบาลสินแพทย์ สำหรับการขยายสาขาใหม่และการรวมกิจการโรงพยาบาลอื่นๆ เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง รองรับการเปิดเสรีด้านบริการในปี 2558

ต้องจับตาการแข่งขันของโรงพยาบาลเอกชน ที่เจาะตลาดประกันสังคมในพื้นที่อุตสาหกรรม ทั้งย่านตัวเมืองสมุทรสาครและย่านอ้อมน้อย น่าจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ด้วยศักยภาพเครือข่ายโรงพยาบาลที่จะประชันกัน รวมทั้งการช่วงชิงลูกค้าผู้ประกันตนต่อหัวเพื่อต่อรองกับงบประมาณเหมาจ่ายจากการให้บริการประกันสังคม ที่ได้รับจากสำนักงานประกันสังคมเป็นประจำทุกปี ขึ้นอยู่กับว่าโรงพยาบาลไหนจะมีจำนวนผู้ประกันตนมากกว่ากัน และอาจจะเป็นรายได้แบบเสือนอนกินของโรงพยาบาล ในยามที่จะต้องแข่งขันหลังการเปิดเสรีทางการค้าและบริการในอนาคตอันใกล้

สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน
• บริษัท โรงพยาบาลมหาชัย จำกัด (มหาชน)
• บริษัท ศรีวิชัยเวชวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน)
• บริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน)



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง