โชคร้ายสมุทรสาคร วืดรถไฟความเร็วสูง-สายสีแดงไร้อนาคต

หนึ่งในนโยบายรัฐบาลที่ถือเป็นเมกะโปรเจ็กต์สำคัญ คือการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อภูมิภาคต่างๆ ซึ่งในเบื้องต้นจะมีการก่อสร้างอย่างน้อย 4 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ – เชียงใหม่, กรุงเทพฯ – นครราชสีมา, กรุงเทพฯ – ระยอง และกรุงเทพฯ – หัวหิน ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางสั้นกว่ารถไฟปกติ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในอีก 5 ปีข้างหน้า

ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ – หัวหิน พบว่าในช่วงที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนเป็นที่ปรึกษาในการสำรวจ โดยมีการกำหนดไว้ 4 เส้นทาง ได้แก่

• แนวทางเลือกที่ 1 จะขนานไปกับทางรถไฟสายใต้ในปัจจุบัน เริ่มต้นจากสถานีกลางบางซื่อ ผ่าน จ.นครปฐม จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี มาสิ้นสุดที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 225 กิโลเมตร

• แนวทางเลือกที่ 2 เริ่มจากสถานีกลางบางซื่อ แล้วใช้แนวเขตทางรถไฟสายแม่กลอง ผ่าน จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม มาบรรจบกับแนวเส้นทางรถไฟสายใต้เดิมที่ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี มาสิ้นสุดที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 189 กิโลเมตร

• แนวทางเลือกที่ 3 เริ่มจากสถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน โดยใช้พื้นที่เขตทางของถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนรอบนอกตะวันตก) และถนนพระรามที่ 2 ผ่าน จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม มาบรรจบกับแนวเส้นทางรถไฟสายใต้เดิมที่ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี มาสิ้นสุดที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 198 กิโลเมตร

• แนวทางเลือกที่ 4 เริ่มจากสถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน โดยใช้พื้นที่เขตทางถนนกาญจนาภิเษก และถนนเพชรเกษมบางส่วน แล้วใช้แนวเส้นทางใหม่ผ่าน จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม มาบรรจบกับแนวเส้นทางรถไฟสายใต้เดิมที่ อ.ปากท่อ มาสิ้นสุดที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 200 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม นายจุฬา สุขมานพ ผอ.สนข.ได้ออกมาเปิดเผยแล้วว่า แนวเส้นทางที่เป็นไปได้สูงสุด คือการสร้างในแนวรถไฟสายใต้เดิม 225 กิโลเมตร เทียบกับเส้นทางอื่นจะมีการเวนคืนน้อยที่สุด มี 4 สถานี ประกอบด้วยสถานีนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และปลายทางที่หัวหิน โดยจะใช้ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร คู่ขนานไปกับแนวรถไฟสายปัจจุบัน

ขณะที่ในบางจุดที่เป็นจุดตัดทางแยกอาจจะต้องมีการสร้างสะพานข้ามแยกหรืออุโมงค์ทางลอด ซึ่งในเส้นทางนี้มีจุดตัดอยู่ประมาณ 127 แห่ง ถือเป็นการแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟไปด้วยในตัว โดยคาดว่าจะใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปหัวหินเพียง 1 ชั่วโมง ซึ่ง สนข.จะจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ จ.นครปฐม จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์

ก่อนหน้านี้ ทาง สนข.ให้เหตุผลในการไม่ใช้เส้นทางรถไฟสายแม่กลองเดิมว่า แนวเส้นทางดังกล่าวจะต้องมีการรื้อย้ายชุมชนที่อยู่ในเขตทางกว่า 2,500 หลังคาเรือน กับต้องเจาะอุโมงค์ยาว 7-8 กิโลเมตร ช่วงหัวลำโพงถึงวงเวียนใหญ่ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนก่อสร้างแพงขึ้น แม้จะช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางกว่า 10 กิโลเมตรก็ตาม

แม้ สนข.จะอ้างเหตุผลนี้ก็ตาม แต่ในอนาคตเส้นทางรถไฟสายแม่กลอง ช่วงวงเวียนใหญ่ถึงมหาชัย ก็มีโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม หัวลำโพง-มหาชัย ซึ่งช่วงดังกล่าวจะต้องผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตลาดน้อย มายังฝั่งธนบุรีที่วงเวียนใหญ่อยู่แล้ว ซึ่งในอนาคตก็จะมีรถไฟชานเมืองและรถไฟทางไกลสายใต้ที่จะสร้างขึ้นใหม่อยู่แล้ว

การที่ สนข.อ้างว่าที่ไม่ก่อสร้างตามแนวทางรถไฟสายแม่กลองเพราะต้องเจาะอุโมงค์ จึงไม่ใช่ประเด็น เพราะตามแผนงานของรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มจากหัวลำโพงจะใช้โครงสร้างยกระดับสูง 19 เมตรจากระดับดินตามแนวถนนมหาพฤฒาราม เลียบคลองผดุงกรุงเกษม ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใกล้ท่าน้ำสี่พระยา ด้านทิศเหนือของศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ เข้าสู่แนวถนนลาดหญ้าอยู่แล้ว

มองอีกด้านหนึ่ง ขณะที่โครงกรรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พบว่าในปัจจุบันมีความคืบหน้าเฉพาะช่วงบางซื่อ–รังสิต ระยะทาง 36 กม. ที่จะก่อสร้างแน่นอน โดยจะมีการรื้อถอนโครงสร้างรถไฟฟ้าโฮปเวลล์ ซึ่งถูกยกเลิกโครงการก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะลงมือก่อสร้างต่อไป

ขณะที่ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 11 กิโลเมตร ถูกกำหนดเป็นโครงการในปี 2559 ตามมาด้วยช่วงหัวลำโพง-บางบอน ระยะทาง 18 กิโลเมตร เป็นโครงการในปี 2562 และช่วงบางบอน-มหชัย ระยะทาง 20 กิโลเมตร เป็นโครงการในปี 2572 ส่วนช่วงมหาชัย-แม่กลอง ระยะทาง 34 กิโลเมตร และช่วงแม่กลอง-ปากท่อ ระยะทาง 22 กิโลเมตร เป็นเพียงแผนแม่บทเท่านั้น

การที่ สนข.เลือกที่จะไม่ใช้เส้นทางรถไฟสายแม่กลองเดิมเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหิน ซึ่งน่าจะเป็นการบุกเบิกเพื่อนำไปสู่เส้นทางรถไฟชานเมืองและรถไฟทางไกลที่จะสร้างขึ้นใหม่ช่วงมหาชัย-ปากท่อ ระยะทาง 56 กิโลเมตร แทนที่จะใช้ทางรถไฟสายใต้เดิมซึ่งอ้อมไปไกลถึง จ.ราชบุรี และ จ.นครปฐม จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

และต้องยอมรับความจริงว่า แนวเส้นทางช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ ที่ผ่านพื้นที่ชุมชนหนาแน่นใจกลางกรุงเทพฯ จะอยู่นอกเขตทางของการรถไฟแห่งประเทศไทย เช่น ย่านตลาดน้อย คลองสาน ย่านค้าเครื่องหนังถนนเจริญรัถ วงเวียนใหญ่ ขณะที่โครงการส่วนใหญ่ที่อยู่ภายในเขตทางรถไฟสายแม่กลองมีพื้นที่คับแคบ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเวนคืนพื้นที่ชุมชนจำนวนมากและใช้งบประมาณสูง

ในเมื่อทางการมักจะอ้างถึงอุปสรรคมากมายขนาดนั้น เพราะฉะนั้นลืมไปได้เลยสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง จากหัวลำโพงถึงมหาชัย ที่มีเพียงแค่วาดฝันลงในกระดาษ เพราะลักษณะพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยที่จะก่อสร้างตามที่กล่าวข้างต้น และแน่นอนว่าหากไม่มีถนนพระราม 2 ที่เป็นอยู่ในวันนี้ จังหวัดเล็กๆ อย่างสมุทรสาครและสมุทรสงครามคงไม่ต่างจากเมืองที่ถูกลืมแน่นอน.



2 ความคิดเห็น เรื่อง “โชคร้ายสมุทรสาคร วืดรถไฟความเร็วสูง-สายสีแดงไร้อนาคต”

  1. ratiya Naknuch กล่าวว่า:

    ม.ค. 06, 16 at 11:29 am

    สมุทรสาครเป็นเมืองเล็กก็จริงแต่ประชากร หนาแน่น เศรษฐกิจดี ทุกอย่างพร้อม จึงน่าจะทำรถความเร็วูงผ่าน สมุทรสาคร สมุทรสงคราม มากกว่าไปทางนครปฐม ซึ่งคุ้มกับการลงทุนเร็ว ไม่เข้าใจว่าเข้าผ่าน นครปฐม ราชบุรีทำไม ไม่เข้าใจจริงๆ

  2. Kittipot Rangsikul กล่าวว่า:

    ก.ย. 21, 16 at 5:23 am

    มองแบบพื้นๆเลยนะครับ ไม่รู้พวกผู้ใหญ่บ้านเมืองเราคิดอะไรกัน แม่กลองคือย่านเศรษฐกิจที่นึง มีสถานที่ท้องเที่ยวเยอะมาก ทั้งอัมพวา ตลาดร่มหุบ ตลาดน้ำท่าคา จุดชมธรรมชาติเชิงนิเวศน์สวยๆมากมายสามารถดึงเม็ดเงินจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาท่องเที่ยงปีๆนึงไม่ใช่น้อยครับ อยากให้มองจุดนี้เป็นหลัก อย่ามองแค่ว่า ผ่านพื้นที่บ้านใคร หรือคนใหญ่คนโตที่ไหน มองภาพโดยรวมและความเป็นจริงที่เห็นกันอยู่เป็นหลัก เพื่อให้ตรงจุดประสงค์ของประชาชนที่ได้จ่ายเงินภาษีไปทุกบาททุกสตางค์ ฉนั้น ควรยึดที่ประชานเป็นหลักสากล สายสีแดงควรผ่านสมุทรสาครและสมุทรสงครามถึงจะถูกต้อง
    ผม….คนกรุงเทพมหานคร ได้เห็นความผิดพลาดในการพัฒนากรุงเทพฯมาแบบน่าเศร้าใจ มันอยากเห็นแบบนั้นอีก


แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง