ฟ้องด้วยภาพ ห้องสมุด’หมด’ชีวิต
อาคารห้องสมุดมีชีวิตขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร บริเวณหัวมุมถนนเจษฎางค์ หลังวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร กำลังเป็นที่กังขาของผู้ที่ผ่านไปมา ถึงสภาพภายนอกอันทรุดโทรมที่เกิดขึ้น นอกเหนือจากโครงการห้องสมุดมีชีวิตที่ยังไม่มีแม้แต่หนังสือสักเล่ม ทั้งที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ว่าเป็นโครงการชิ้นโบว์แดงในนโยบายด้านการศึกษาของ อบจ.สมุทรสาคร
ย้อนไปถึงนโยบายด้านการศึกษา อบจ.สมุทรสาครได้จัดทำโครงการก่อสร้างศูนย์บริการทางการศึกษา “ห้องสมุดมีชีวิต” โดยจัดทำในรูปแบบห้องสมุดมีชีวิตที่เป็นแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบที่ทันสมัย โดยนำระดับเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร ICT มาใช้ในการสืบค้นข้อมูลเอกสาร มีพื้นที่ใช้สอยเป็นตัวอาคาร 3 ชั้น บริเวณสถานีสื่อสารจังหวัดสมุทรสาคร (หลังเก่า) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นจำนวนเงิน 19,800,000 บาท
วัตถุประสงค์ในการก่อสร้าง เพื่อให้เด็กและเยาวชน และประชาชนได้มีแหล่งเรียนรู้ และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีความรู้ ความสามารถพิเศษและผู้มีประสบการณ์ในด้านต่างๆ ได้มีเวทีสำหรับแสดงความสามารถ และถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนโดยมีพื้นที่ใช้สอยเป็นตัวอาคารประกอบด้วย ส่วนบริการสาธารณะ ส่วนบริการการศึกษา ส่วนมัลติมีเดีย ส่วนบริการกิจกรรมพิเศษ ส่วนบริการและเจ้าหน้าที่ และส่วนงานระบบอาคาร
เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจัดสร้างห้องสมุดมีชีวิต ของ อบจ.สมุทรสาคร ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ และเพื่อเป็นการระดมทุนในการจัดหาครุภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์ หนังสือ ตลอดจนค่าใช้จ่าย ในการจัดสร้างห้องสมุดมีชีวิต อบจ.สมุทรสาคร จึงได้จัดงานแถลงข่าวการจัดสร้างศูนย์บริการทางการศึกษา “ห้องสมุดมีชีวิต” เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2549 ณ สำนักงาน อบจ.สมุทรสาคร โดยจัดพิมพ์หนังสือ จำนวน 1,000 เล่ม เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจัดสร้างห้องสมุดมีชีวิต
เมื่อย้อนไปเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2551 นายวีระยุทธ เอี่ยมอำภา ผวจ.สมุทรสาคร ในเวลานั้น พร้อมด้วย นายอุดร ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร ได้เปิดโครงการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสำนักงานการเรียนรู้ ตามโครงการพัฒนาระบบศึกษาศูนย์บริการทางการศึกษาระดับท้องถิ่น โดย อบจ.ได้จัดสร้างห้องสมุดมีชีวิต เป็นอาคาร 3 ชั้น คาดว่าแล้วเสร็จกลางปี 2552
และเมื่อมองไปยังสถานที่ก่อสร้าง ด้านหน้าอาคารมีป้ายระบุว่า กรมธนารักษ์กระทรวงการคลัง ได้อนุญาตให้ใช้ที่ราชพัสดุ แปลงทะเบียนที่ สค.34 ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่ 0-2-36 ไร่มูลค่าที่ดิน 10,620,000 บาท ในการจัดสร้างห้องสมุดเพื่อเป็นแหล่งค้นคว้า หาความรู้ โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาครเป็นผู้ดูแล และบำรุงรักษา ซึ่ง อบจ.สมุทรสาครใช้วงเงินในการก่อสร้าง 19,790,000 บาท เริ่มก่อสร้างปี 2549 ระยะเวลาการก่อสร้าง 2 ปี แล้วเสร็จเมื่อปี 2551
ปัจจุบันอาคารดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จมานานแล้ว แต่ยังไม่มีการเข้าใช้งาน ซึ่งพบว่าสภาพเมื่อมองจากภายนอก ราวกับอาคารโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยสีที่ทาภายนอกอาคารกลับหลุดลอกไปจนเห็นปูนฉาบของอาคาร บางช่วงมีราดำเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งน่าแปลกใจว่า ผู้บริหาร อบจ.สมุทรสาคร และวิศวกรโยธาผู้รับผิดชอบตรวจงานปล่อยผ่านผู้รับเหมาไปได้อย่างไร และเจ้าหน้าที่ อบจ.บางคนที่ต้องขับรถผ่านไม่รู้สึกเอะใจบ้างเลยหรืออย่างไร
น่าสงสัยเข้าไปอีกว่า อาคารมูลค่าเกือบ 20 ล้านบาทเนรมิตได้ขนาดนี้ สงสัยในส่วนที่มองไม่เห็น เช่น เสาเข็ม ส่วนผสมของปูนและเหล็กที่อยู่ข้างในจะเป็นอย่างไร น่าเป็นห่วงสำหรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการ โดยเฉพาะเยาวชน นักเรียน นักศึกษา หากวันหนึ่งเกิดพังถล่มลงมาจะเป็นอย่างไร ใครจะรับผิดชอบ ไม่นับรวมเหตุที่ผู้รับเหมาถึงกับต้องลดคุณภาพ ลดปริมาณ ลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเพราะอะไร
คำถามนี้ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร “อุดร ไกรวัตนุสสรณ์” น่าจะให้คำตอบได้ดีกว่าใคร