“กปภ.สมุทรสาคร” แจงต้นทุนน้ำประปาต่างจากประปานครหลวง

1149-1

จารึก ฤทธิ์เดช

ในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ในกรณีที่ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร นายอภิชิต ประสบรัตน์ (ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาในขณะนั้น) และประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร นายปรีชา สิริแสงอารำพี ได้ตั้งประเด็นสาธารณูปโภคเรื่องการจัดเก็บค่าบริการน้ำประปาในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) มีอัตราการจัดเก็บค่าน้ำสูงกว่าอัตราค่าน้ำของการประปานครหลวง (กปน.) และต้องการผลักดันจังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่ปริมณฑล

ปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาคร ที่ตั้งด้านภูมิศาสตร์ติดกับทางกรุงเทพมหานคร แต่ในด้านการบริหารจัดการไม่ได้มีรูปแบบให้เป็นปริมณฑล เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ และไปรษณีย์ หากจะมีการดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อการแก้ไขปัญหาด้านประปา จึงขอเสนอให้แต่งตั้งคณะทำงานเป็นคณะชุดใหญ่ เพื่อหาแนวทางผลักดันจังหวัดสมุทรสาครให้เป็นพื้นที่ปริมณฑล และมีรูปแบบการบริหารจัดการเป็นปริมณฑล รวมทั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งในปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาครมีเส้นทางที่สามารถเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ได้ 3 เส้นทาง และมีรถ ขสมก.ให้บริการตามถนนสายต่างๆ เช่น ปอ.7 และปอ.68

ในเดือนมีนาคม 57 จังหวัดสมุทรสาครได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานผลักดันด้านสาธารณูปโภค การขนส่งและการสื่อสารของจังหวัดสมุทรสาครเป็นรูปแบบนครหลวง เพื่อแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจของจังหวัดสมุทรสาคร คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานผลักดันด้านสาธารณูปโภคการขนส่งการสื่อสารของจังหวัดสมุทรสาคร สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นไปตามมติคณะกรรมการ ร่วมภาครัฐและเอกชน จังหวัด

1149-3

จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วย 1.รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร (นายวินิตย์ ปิยะเมธาง) หัวหน้าคณะทำงาน 2.ปลัดจังหวัดสมุทรสาคร รองหัวหน้าคณะทำงาน 3.ผู้อำนวยการแขวงการทางสมุทรสาคร คณะทำงาน 4.ขนส่งจังหวัดสมุทรสาคร คณะทำงาน 5.ท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสาคร คณะทำงาน 6.ผู้จัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสมุทรสาคร คณะทำงาน 7.ผู้จัดการประปาส่วนภูมิภาค สาขาสมุทรสาคร คณะทำงาน 8.โทรศัพท์จังหวัดสมุทรสาคร คณะทำงาน 9.หัวหน้าไปรษณีย์จังหวัดสมุทรสาคร คณะทำงาน 10 ผู้แทน การประปานครหลวง คณะทำงาน 11.ผู้แทน การไฟฟ้านครหลวง คณะทำงาน 12.ผู้แทน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด คณะทำงาน

13.ผู้แทน บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน ) คณะทำงาน 14.ผู้แทน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ คณะทำงาน 15.หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรสาคร คณะทำงานและเลขานุการ 16.หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสำนักงานจังหวัดสมุทรสาคร คณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ 17.เลขาธิการหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร คณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ 18.เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร คณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ 19.เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรสาคร คณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ

มีอำนาจหน้าที่ดังนี้ 1.พิจารณาแนวทางการผลักดันด้านสาธารณูปโภค การขนส่งและการสื่อสารของจังหวัดสมุทรสาคร เพี่อสนองต่อหน่วยงานส่วนกลาง 2.นำเสนอข้อมูล ข้อกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันด้านสาธารณูปโภค การขนส่งและการสื่อสารของจังหวัดสมุทรสาครเป็นรูปแบบนครหลวง 3.เชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้อมูลและให้คำปรึกษาในเรื่องที่เกี่ยวข้อง 4.ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายหรือพิจารณาเห็นสมควร ว่าที่ร้อยตำรวจโท อาทิตย์ บุญญะโสภัต ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครเป็นผู้ลงนามคำสั่ง

1149-2

สาครออนไลน์ได้สอบถามผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสมุทรสาคร นายจารึก ฤทธิ์เดช รื่องอัตราค่าจัดเก็บค่าน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค ที่มีราคาต่างจากการประปานครหลวงได้รับคำชี้แจงว่า การประปาส่วนภูมิภาคเพิ่งปรับอัตราค่าน้ำใหม่หลังจากไม่ได้ปรับมานานถึง 11 ปี ซึ่งการประปานครหลวงยังไม่มีการปรับอัตราค่าน้ำนาน 8 ปี และกำลังจะปรับอัตราค่าน้ำขึ้นเช่นกัน อีกทั้งการที่มีราคาผันแปรที่ต่างกัน การประปาส่วนภูมิภาคมี 233 สาขา

ต้นทุนหลัก 3 ส่วน คือ 1.ค่าบำรุงรักษาแหล่งน้ำดิบ ทำ CSR ร่วมกับสังคม 2. ค่าก่อสร้างโรงกรองระบบผลิตมีทุกพื้นที่ 233 สาขาพื้นที่ใกล้เคียงใช้ร่วมกัน บางสาขามีมากกว่า 1 แห่ง บางสาขามี 3 แห่ง 3.ระบบท่อจ่ายที่มีความหนาแน่นต่างจากการประปานครหลวงซึ่งเฉลี่ย 500 รายต่อ 1 กิโลเมตร ส่วนการประปาส่วนภูมิภาคบางครั้งมีเพียง 5 รายต่อ 1 กิโลเมตรที่เป็นต้นทุนคงที่

ส่วนต้นทุนผันแปรคือ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันในกรณีที่ไฟฟ้าดับ ค่าพาหะนะในการดำเนินการ ค่าจ้างที่ปรับอยู่ตลอด ค่าสารเคมี คลอรีน และสารที่ทำให้ตกตะกอน ปูนขาวที่ใส่ในกรณีที่น้ำมีความกระด้าง เป็นกรดเป็นด่าง ในจังหวัดสมุทรสาครมีผู้ใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมจำนวน 4,000 ราย ลูกค้าที่ใช้น้ำไม่ถึง 3,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อเดือน ส่วนลูกค้าที่ใช้น้ำเกิน 3,000 ลบ.ม. ต่อเดือน มีโปรโมชั่นพิเศษ สามารถเซ็นสัญญาขั้นต่ำกับการประปาส่วนภูมิภาคได้ในราคาสูงสุด 23.75 บาทต่อ ลบ.ม. ราคาต่ำสุด 22 บาทต่อ ลบ.ม. ลูกค้าประเภทองค์กรท้องถิ่นและส่วนราชการ ราคา 19 บาทต่อ ลบ.ม.

โดยมีลูกค้าที่ใช้เกิน 3,000 ลบ.ม. ต่อเดือนมีอยู่ 52 ราย ที่ทำสัญญาพิเศษไว้เดิม เริ่มต้นที่ 14 บาทต่อ ลบ.ม. ปรับขึ้นปีละ 1 บาทต่อ ลบ.ม. ชนเพดานสูงสุดที่ 21 บาทต่อ ลบ.ม. ซึ่งยังไม่ชนเพดานสูงสุด เช่น บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟร์เช่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ใช้น้ำของการประปาส่วนภูมิภาคเดือนละ 300,000 ลบ.ม.

มีโรงงานจำนวนมากที่ไม่มีปัญหาเรื่องราคาค่าน้ำประปา เพราะโรงงานที่ไม่ได้ผลิตอาหารสำเร็จรูปส่งออก ที่ไม่ต้องใช้มาตรฐานการใช้น้ำในการผลิตที่ผู้สั่งซื้อสินค้ากำหนด จะมีบ่อน้ำบาดาลเจาะน้ำใช้เอง ร่วมกับการใช้น้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค อย่างเช่นโรงงานผลิตน้ำพริกและน้ำจิ้มขนาดใหญ่ย่านบางโทรัด ใช้น้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคในปริมาณที่น้อยมากในเดือนหนึ่งประมาณร้อยกว่าหน่วย

ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสมุทรสาคร กล่าวทิ้งท้ายว่า หากมีการผลักดันให้ใช้น้ำของการประปานครหลวง ต้องรับเงื่อนไขสัมปทานเรื่องแหล่งน้ำที่มีอายุสัญญา 30 ปีและยังเหลือเวลาอีก 17 ปี ที่ต้องซื้อน้ำจากแหล่งน้ำดิบที่การประปาส่วนภูมิภาคเคยใช้เพื่อจำหน่ายน้ำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครตามสัญญา

• สุรางค์ นาคทอง •



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง