ยาแรงอินโดนีเซียทำประมงไทยระส่ำ คาดปฏิรูปใหม่เพิ่มค่าธรรมเนียม

1395-1

ทางการอินโดนีเซียกำลังใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกับเรือประมงต่างชาติ ที่ลักลอบเข้าไปทำการประมงในน่านน้ำ เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่เรือต่างชาติลำอื่นๆ ไม่ให้ละเมิดน่านน้ำของอินโดนีเซียเข้าไปจับปลาอีก พร้อมกับนำตัวลูกเรือดำเนินคดีต่อศาลอินโดนีเซียทันที

โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีเรือประมงถูกจับกุมไปแล้ว 10 ลำ ล่าสุดได้ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดทำลายเรือประมงต่างชาติ 2 ลำ ซึ่งติดธงปาปัวนิวกินี แต่ลูกเรือทั้งหมดเป็นคนไทย นอกจากนี้ยังมีเรืออีก 6 ลำ อยู่ในระหว่างการไต่สวน และรอการทำลาย

ขณะที่ทางการอินโดนีเซียได้ยกเลิกตั๋วประมงทุกชนิด พร้อมเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีกระทรวงที่ดูแลด้านการประมง พร้อมกับเปลี่ยนนโยบายใหม่ และยังไม่มีการกำหนดแนวทางให้เรือประมงต่างชาติเข้าไปทำการประมงในน่านน้ำอินโดนีเซีย

จากมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อกิจการประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่องของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากแหล่งวัตถุดิบส่วนหนึ่งมาจากน่านน้ำอินโดนีเซีย ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมาจากน่านน้ำพม่า ซึ่งเรือจะเทียบท่าตามชายฝั่งทะเลอันดามัน เช่น ระนอง พังงา

แม้ว่าชาวประมงโดยเฉพาะทางภาคใต้จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หันไปซื้อตั๋วเข้าไปทำการประมงในน่านน้ำประเทศมาเลเซียแทน แต่ก็มีปลาน้อยกว่า ถึงกระนั้นก็ยังต้องทำเพื่อความอยู่รอด เพราะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งลูกเรือ และครอบครัว

– ชี้อินโดนีเซียออกระเบียบใหม่ ต้องลูกเรืออินโดร้อยเปอร์เซ็นต์

นายวิริยะ ศิริชัยเอกวัฒน์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย เปิดเผยว่า เรื่องดังกล่าวเป็นกรณีที่ทางประเทศอินโดนีเซียจะดำเนินการกับเรือประมงต่างชาติทุกลำที่เข้าไปขโมยจับปลาในน่านน้ำของเขา ซึ่งไม่เว้นเรือประมงจากประเทศไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม เรือประมงไทยส่วนใหญ่ที่เข้าไปทำธุรกิจประมงหรือทำการจับปลาในน่านน้ำอินโดนีเซียจะมีการตีตั๋ว หรือทำสัญญาร่วมทุน หรือขายเรือให้กลายเป็นเรือสัญชาติอินโดนีเซีย ไปแทบทั้งหมดแล้วตั้งแต่ประมาณปี 2547 หรือประมาณ 9-10 ปีที่ผ่านมา

เนื่องจากมีข้อกำหนดทางกฎหมายว่าเรือประมงที่จะเข้าไปจับปลาในน่านน้ำของเขาได้ ต้องเป็นเรือภายใต้ร่มธงของประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น

เรือของนักธุรกิจไทยเมื่อไปร่วมจับปลากับเขาได้แล้ว จึงขนถ่ายปลาใส่เรือแม่หรือเรือห้องเย็นขนส่งไปขายหรือนำกลับมายังประเทศไทย ดังนั้นปัญหาดังกล่าวจึงเป็นปัญหาคนละส่วนกับปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้น

ปัญหาสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นกับนักธุรกิจประมงไทยที่ไปร่วมทุนกับประเทศอินโดนีเซียก็คือการที่รัฐบาลใหม่และรัฐมนตรีด้านกิจการประมงคนใหม่ของอินโดนีเซียได้ออกระเบียบใหม่ในการต่อใบอนุญาตที่หมดอายุ ของเรือประมงที่เข้าไปจับปลา

รวมถึงการกำหนดให้เรือต่างชาติเดิมที่ได้รับใบอนุญาตให้เข้าไปจับปลา หากในอดีตเป็นเรือที่ต่อมาจากประเทศอื่น หรือไม่ได้เป็นเรือที่ต่อขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย จะต้องมีลูกเรือเป็นชาวอินโดนีเซีย 100% ทั้งลำ ลูกเรือต่างชาติห้ามลงไปปะปนในเรือร่วมทุนหรือเรือของต่างชาตินั้นๆ

– เผยลูกเรือ 3 พันติดค้างในอินโดนีเซีย ผู้ประกอบการเผยปรับตัวมาตรการไม่ทัน

ปัญหาหนักที่เกิดขึ้นขณะนี้ก็คือ ลูกเรือไทยของเรือร่วมทุนที่จับปลาอยู่ในเขตตอนใต้ของประเทศอินโดนีเซีย และเป็นเรือของสมาชิกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย ประมาณ 3,000 คน ไม่สามารถลงเรือได้และต้องติดค้างอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย

อีกทั้งลูกเรือชาวอินโดนีเซียที่ลงไปทั้งหมด-ทั้งลำ ก็ไม่สามารถปล่อยให้ไปควบคุมการออกเรือจับปลาของเรือร่วมทุนจากประเทศไทยได้ จึงทำให้กองเรือร่วมทุนต้องจอดอยู่ในฝั่ง ส่งผลให้เกิดการสูญเสียโอกาสการจับปลาไปนับล้านตันในช่วงเวลาที่ผ่านมา

วิริยะกล่าวต่อว่า ขณะนี้ทางสมาคมฯ ได้รับการแจ้งขอความช่วยเหลือจากนักธุรกิจร่วมทุนประมงชาวไทยในอินโดนีเซีย ให้ช่วยหาทางเจรจากับทางรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ เพื่อหาทางคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น

โดยเห็นว่า มาตรการที่ประกาศใช้ทันทีทันใดนี้ ทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน ซึ่งในทางปฏิบัติควรมีการแจ้งให้เตรียมตัวล่วงหล้าประมาณ 2-3 ปี ทั้งยังต้องการขอความช่วยเหลือในการนำลูกเรือไทยที่ติดค้างอยู่กลับมายังประเทศไทยด้วย

“ที่ผ่านมา สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย ได้เข้าพบ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อรายงานสถานการณ์ละปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมขอหารือแนวทางแก้ไข ซึ่งรัฐบาลไทยก็คงทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะเรือร่วมทุนของนักธุรกิจประมงชาวไทยส่วนใหญ่ก็โอนไปเป็นเรือสัญชาติอินโดนีเซียแทบทั้งหมดแล้ว” วิริยะ กล่าว

นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ก็จะเข้าพบอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ อีกครั้งหนึ่งเพื่อขอให้ช่วยเป็นธุระในการไปเจรจาและแจ้งให้รัฐบาลอินโดนีเซียได้ทราบว่านักธุรกิจประมงชาวไทยได้รับความเดือดร้อนอย่างไรบ้างจากมาตรการที่ออกมาบังคับใช้ และเพื่อจะได้ร่วมกันบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นโดยด่วน

– ยาแรงอินโดนีเซียหวังตีตั๋วใหม่ เพิ่มค่าธรรมเนียมหลังที่ผ่านมาไม่ได้ประโยชน์

อีกด้านหนึ่ง แหล่งข่าวในวงการธุรกิจประมงได้เปิดเผยว่า มาตรการที่ทางประเทศอินโดนีเซียนำออกมาบังคับใช้ อาจเป็นเพราะต้องการยกเลิกผู้ได้รับอนุญาตเก่า แล้วเปิดให้ตีตั๋วใหม่ ซึ่งอาจมีการเรียกค่าธรรมเนียมเพิ่มจากเรือที่เคยได้รับอนุญาตเดิม

นอกจากนั้น ขณะนี้เรือแม่หรือเรือห้องเย็นสัญชาติไทย ที่เคยตีตั๋วเข้าไปขนถ่ายบรรทุกปลาจากเรือลาก เพื่อนำไปจำหน่าย ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ และต้องติดค้างอยู่ในน่านน้ำ ซึ่งอาจจะเป็นไปเพื่อบีบให้ยอมรับการปรับค่าธรรมเนียมใหม่

“ทางอินโดนีเซียอาจเห็นว่าการที่เรือใหญ่ของไทยเข้าไปขนปลาออกมา ทางประเทศของเขาไม่ได้ประโยชน์อย่างไร ทั้งยังเป็นการขาดรายได้เข้าประเทศ จึงเสนอให้เรือประมงขนถ่ายปลาขึ้นฝั่ง แล้วใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนถ่ายปลาที่จับได้ ส่งต่อมายังประเทศไทย ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก และนักธุรกิจผู้ร่วมทุนประมงชาวไทยก็ยังไม่พร้อมในการดำเนินงานขนส่งเช่นนี้” แหล่งข่าว ระบุ

อย่างไรก็ตาม จากการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว ขณะนี้ก็มีความเคลื่อนไหวต่างๆ เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใช้แรงงานประมงชาวอินโดนีเซีย ที่ได้รับผลกระทบจากการจ้างงานบ้างแล้วเช่นกัน

– ประมงสมุทรสาครชี้คนละเครือข่าย

ส่วนนายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ปัญหาด้านการประมงที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย ไม่ได้รับการแจ้งร้องทุกข์จากสมาชิกของสมาคมการประมงสมุทรสาครมากนัก เพราะเป็นคนละข่ายการประมง ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจะเป็นกลุ่มที่ลากปลาในต่างประเทศ และส่วนใหญ่จะเป็นสมาชิกของสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย

– กรมประมงเตือนติดตามระเบียบใหม่ใกล้ชิด-ปฏิบัติเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของกรมประมงก็ไม่ได้นิ่งเฉย โดยก่อนหน้านี้นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า รมว.กิจการทางทะเลและประมงอินโดนีเซีย ได้เชิญเอกอัครราชทูตของประเทศที่มีเรือประมงทำการประมงในน่านน้ำอินโดนีเซีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทย เข้าหารือเกี่ยวกับนโยบายและการจัดระเบียบด้านการประมงใหม่

โดยจะปฏิรูปในด้านต่าง ๆ อาทิ การออกใบอนุญาตทำการประมง การจะนำระบบโควตาปลามาใช้ทั้งในด้านปริมาณปลาที่จับได้และช่วงเวลาที่อนุญาตให้จับปลา การให้ปลาที่จับได้ต้องถูกแปรรูปในอินโดนีเซียก่อนการส่งออกหรือนำกลับประเทศไทย การเข้มงวดกับเรือประมงที่ลับลอบเข้าทำประมงผิดกฎหมาย การปิดบางพื้นที่ไม่ให้ทำประมงในช่วงเวลา รวมถึงการกำหนดวิธี ขนาดเรือ และอุปกรณ์การทำประมง

กรมประมงจึงขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการเรือประมงไทยติดตามการออกระเบียบด้านการประมงใหม่ของรัฐบาลอินโดนีเซียอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถทำการประมงได้อย่างถูกต้อง เป็นไปตามกฎระเบียบของอินโดนีเซียอย่างเร่งครัด และเคารพหลักเกณฑ์การป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย.

สุรพล ระวิวงษ์ : สัมภาษณ์
กิตตินันท์ นาคทอง : เรียบเรียง



6 ความคิดเห็น เรื่อง “ยาแรงอินโดนีเซียทำประมงไทยระส่ำ คาดปฏิรูปใหม่เพิ่มค่าธรรมเนียม”

  1. เต้ย กล่าวว่า:

    ม.ค. 11, 15 at 11:54 pm

    ไม่ใช่เดือดร้อนแค่นักธุระกิจแต่แรงงานไทยที่เกี่ยวข้องก็เดือดร้อนด้วย

  2. เต้ย กล่าวว่า:

    ม.ค. 11, 15 at 11:59 pm

    ปัญหาที่หนักสุดคือการใช้แรงงานอินโด100%

  3. ฮามูดี แดเบาะ กล่าวว่า:

    มี.ค. 17, 15 at 1:26 am

    ตอนนี้ทางบริษัทของเรากำลังติิดต่อกับบุคคลใกล้ชิดกับมนตรีซูซี ในการหาผลเป็นส่วนที่ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ พุ่งนี้ผมจะไปเจรจากับเจ้าของสัมปทาน น่าจะลงตัว หากผู้ประกอบการท่านไหนสนใจโทรมาติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์0818176950,0904800963 ขนาด130ตันขึ้นไป

  4. หยี กล่าวว่า:

    มี.ค. 17, 15 at 1:31 am

    ของผมมีสองลำแต่ขนาด 300ตัน ผมสนใจคับ นัดคุยได้ที่ไหนคับ

  5. ฮามูดี กล่าวว่า:

    พ.ค. 21, 15 at 3:10 am

    คุณหยีคับช่วยติดต่อกลับด้วยน่ะคับ ขอเบอร์ติดต่อด้วยคับ

  6. ซี กล่าวว่า:

    ก.ย. 24, 15 at 5:45 pm

    ท่านใดสนใจนำเข้ากะลาปาร์มจากอินโดนีเซียติดต่อฝ่ายการตลาดPT ARGO KERNELPALM ติดต่อมาที่เบอร์0818176950


แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง