ฝ่าวิกฤตคลองจินดา ผันน้ำอนาคตจากแม่กลองช่วยสวนกล้วยไม้

1400-0

ผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้และเกษตรกรในพื้นที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม อ.กระทุ่มแบน และ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ร่วมระดมทุนกว่า 2 ล้านบาท ซื้อทรายเพื่อบรรจุบิ๊กแบก ก่อนหย่อนลงไปในคลองจินดา เพื่อป้องกันน้ำเค็มที่ขึ้นมาจากแม่น้ำท่าจีนไหลเข้ามาในพื้นที่เกษตรกรรม

โดยปฏิบัติการครั้งนี้เกิดขึ้นที่สะพานข้ามคลองจินดา ถนนเพชรเกษม-คลองใหม่ ต.บางช้าง อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยใช้รถเครน 2 คัน ช่วยยกถุงบิ๊กแบกข้ามสายไฟฟ้า หย่อนลงไปในคลอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านกำลังพลจากกรมการสัตว์ทหารบก จ.นครปฐม 60 นาย

ที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่ 3 อำเภอของ 2 จังหวัด ประสบปัญหาน้ำทะเลหนุนเข้ามาผ่านแม่น้ำท่าจีนมายาวนานกว่า 2 สัปดาห์ อันเนื่องมาจากทางภาคเหนือได้ปล่อยน้ำลงมายังทางตอนล่างของประเทศน้อย จากภาวะภัยแล้ง ทำให้ถูกแทนที่ไปด้วยน้ำทะเลที่หนุนเข้ามา

ล่าสุด นอกจากเกษตรกรเหล่านี้จะร่วมกันฝ่าวิกฤตแล้ว ในส่วนของกรมชลประทานนั้น จะดำเนินการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครปฐมและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาราชบุรีฝั่งซ้ายมาช่วย

นอกจากนั้น ยังจะดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำและนำรถบรรทุกน้ำออกช่วยเหลือประชาชนจนกว่าสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ

สำหรับคลองจินดา เป็นคลองขุดในสมัยรัชกาลที่ 5 ความยาว 14 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างคลองควายที่ ต.ตลาดจินดา อ.สามพราน ไปยังแม่น้ำท่าจีนที่ ต.บางช้าง อ.สามพราน ในอดีตมีวัตถุประสงค์เพื่อการคมนาคมทางเรือ

ปัจจุบันเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ทั้งสวนกล้วยไม้และสวนผลไม้ แม้คลองจินดาจะไม่ได้ไหลผ่านจังหวัดสมุทรสาคร แต่ก็มีคลองเชื่อมต่อไปยังพื้นที่การเกษตรในสองอำเภอ อาทิ คลองเขื่อนขันธ์ คลองเจ็ดริ้ว คลองตัน คลองลาดบัว คลองหนองนกไข่ ฯลฯ

บริเวณดังกล่าวถือเป็นแหล่งปลูกกล้วยไม้เพื่อการส่งออกที่สำคัญของไทย มีพื้นที่ปลูกมากกว่า 3,000 ไร่ สร้างรายได้ให้กับประเทศในแต่ละปีคิดเป็นมูลค่ามหาศาล

1400-2

สุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว ว่า กรมชลประทานได้นำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาระบายผ่านประตูระบายน้ำโพธิ์พระยาในอัตรา 10 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที

อีกด้านหนึ่ง ยังได้นำน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองระบายผ่านคลองท่าสาร-บางปลานำน้ำลงสู่แม่น้ำนครชัยศรี (แม่น้ำท่าจีน) ท้ายประตูระบายน้ำบางปลาในอัตราเฉลี่ย 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ 30 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการมาตรการเสริม โดยผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง ผ่านทางคลองส่งน้ำสาย 5 ซ้าย ซึ่งเป็นคลองชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครปฐม ก่อนที่จะกระจายน้ำเข้าสู่คลองแยก 6 ขวา และแยก 7 ขวา เพื่อให้น้ำไหลลงสู่ต้นคลองจินดา

โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยผลักดันน้ำเค็มให้ออกจากคลองจินดา และรักษาคุณภาพน้ำในคลอง

เมื่อเกษตรกรนำบิ๊กแบกมาสร้างเป็นทำนบปิดกั้นบริเวณปากคลองจินดาแล้ว กรมชลประทานก็จะนำเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่มาช่วยในการสูบน้ำออกจากคลองจินดา เพื่อให้น้ำในคลองหมุนเวียนตลอดเวลาไม่เน่าเสีย คาดว่า ภายในกลางเดือน ม.ค. นี้คุณภาพน้ำน่าจะได้มาตรฐานและเข้าสู่ภาวะปกติ

1400-1

สาครออนไลน์ ตรวจสอบที่มาของน้ำจากแม่น้ำแม่กลองที่จะมาสู่คลองจินดา พบว่ามีจุดเริ่มต้นที่เขื่อนแม่กลอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ผ่านคลองสายใหญ่ฝั่งซ้าย (1 ซ้าย 2 ซ้าย) ไปยังพื้นที่เพาะปลูก 6 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร

จากนั้นได้เข้าสู่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครปฐม ที่ ต.ตะคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี คลองจะแยกออกเป็นสองส่วน ได้แก่ คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย มุ่งหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งจะไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครชุม ต่อด้วยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาราชบุรีฝั่งซ้าย

จากนั้นไปตามคลองส่งน้ำสาย 5 ซ้าย มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งคลองที่จะส่งไปหล่อเลี้ยงคลองจินดาเส้นแรก คือ คลองส่งน้ำสาย 6 ขวา – 5 ซ้าย ที่ ต.บ้านยาง อ.เมืองฯ จ.นครปฐม และคลองส่งน้ำสาย 7 ขวา – 5 ซ้าย ที่ ต.โพรงมะเดื่อ อ.เมืองฯ จ.นครปฐม

โดยคลองชลประทานทั้งสองเส้นทาง จะไหลลงไปทางทิศใต้ออกสู่คลองหนองดินแดง ข้ามถนนเพชรเกษม จากนั้นจะแยกขวาไปตามคลองบางแขม ที่ ต.บางแขม แยกขวาไปตามคลองรางชะโด ต่อเนื่องไปยังคลองลำยายหอมใหญ่

เข้าสู่พื้นที่ ต.ดอนยายหอม แยกขวาลงไปตามคลองหนองหญ้าปล้อง คลองควาย ข้ามสะพานถนนบ้านแพ้ว-พระประโทน ไปบรรจบกับคลองจินดาที่ ต.ตลาดจินดา อ.สามพราน ซึ่งสภาพและความกว้างของคลองเพียงพอที่จะไปถึง

อย่างไรก็ตาม บริเวณปากคลองจินดา กรมชลประทานมีแผนที่จะก่อสร้างประตูระบายน้ำพร้อมสถานีสูบน้ำถาวรปิดกั้นในปีงบประมาณ 2558 อายุสัญญา 900 วัน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำทะเลหนุนเข้าคลองจินดาได้อย่างถาวร

“ในระหว่างนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร กรมชลประทานได้จัดส่งรถบรรทุกน้ำใช้หมุนเวียนไม่น้อยกว่าวันละ 10 คัน เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำใช้จนกว่าคุณภาพน้ำในคลองจินดาจะดีขึ้น” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

1400-3

คลองชลประทานสายหลักที่รับน้ำจากเขื่อนแม่กลอง (ภาพจาก Google Street View)

ด้าน ประวัติวิทย์ สวัสดิ์ดวง ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 13 กรมชลประทาน ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง เปิดเผยว่า ในการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองช่วยเหลือเกษตรกรนั้น เป็นการนำปริมาณน้ำที่สำรองไว้ใช้สำหรับทำการเกษตรในช่วงต้นฤดูฝนปี 2558 มาใช้

ทั้งนี้ ลุ่มน้ำแม่กลองมีน้ำต้นทุนมาจากเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ผ่านมาทางเขื่อนแม่กลอง ซึ่งกรมชลประทานวางแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 30 มิ.ย. 2558

โดยสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน 2558 จำนวน 3,000 ล้าน ลบ.ม. ใช้ในการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ และอื่นๆ ประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม. ที่เหลือจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนด้านการเกษตรสำหรับปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย

โดยปริมาณน้ำในเขื่อนทั้ง 2 แห่งล่าสุด ณ วันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา เขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 2,692 ล้าน ลบ.ม. หรือ 16% ของปริมาณการกักเก็บ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 2,160 ล้าน ลบ.ม. หรือ 24% ซึ่งถือได้ว่าเป็นปีที่มีน้ำน้อยสุด

น่าเป็นห่วงว่า การนำน้ำที่สำรองไว้ไปใช้เพื่อไม่ให้กล้วยไม้ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยอีกชนิดหนึ่งได้รับความเสียหาย หากวันหนึ่งน้ำที่สำรองเกิดขาดแคลนขึ้นมาในช่วงฤดูแล้งที่คาดว่าจะยาวนาน เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายกำลังแสวงหาทางออกอยู่ในขณะนี้.

กิตตินันท์ นาคทอง



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง