คำต่อคำ “ผู้ว่าฯ อาทิตย์” โร่เคลียร์สวนพุทราบางกระเจ้า หลังถูกฟ้องศาลปกครอง

1

หลังจากที่เจ้าของสวนพุทราใน ต.บางกระเจ้า อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ร่วมกับนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ฟ้องศาลปกครองกลาง กรณีปล่อยปะละเลยให้โรงงานฟอกย้อมปล่อยน้ำเสียลงในสวน ทำเอาผู้ว่าฯ สมุทรสาครต้องเปิดโต๊ะแถลงข่าวชี้แจง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง งัดผลพิสูจน์คุณภาพน้ำและดินหวังคลายข้อสงสัย พร้อมยืนยันว่าดำเนินการรวดเร็วครบถ้วน

โดยเมื่อเวลา 15.50 น. วันที่ 12 พ.ค. ที่ห้องประชุม 501 ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วยนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะฝ่ายปฏิบัติการศูนย์ดำรงธรรม , พ.อ.จักราวุธ สินพูลผล รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.สมุทรสาคร, หน่วยงานสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด, หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด, อบต.บางกระเจ้า และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันเปิดการประชุมเพื่อชี้แจงต่อสื่อมวลชน จากกรณีที่ น.ส.บุษบา ขาวเจริญ ชาวบ้าน ม.8 ต.บางกระเจ้า อ.เมืองฯ ได้รับความเดือดร้อนจากการที่โรงงานทวีชัย ฟอกย้อม (ซอเฮง) ปล่อยน้ำปนเปื้อนสารเคมี ทำให้สวนพุทราและมะขามเทศล้มตาย จนต้องเรียกร้องไปยัง อบต.บางกระเจ้า และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อเดือน ส.ค. 57

แต่การดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขจากทางภาครัฐยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจึงไปร้องเรียนไปยังสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ซึ่งมีนายศรีสุวรรณ จรรยา เป็นนายกสมาคมฯ ให้การช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าวเมื่อเดือน ม.ค. 58 ซึ่งต่อมานายศรีสุวรรณ กับชาวบ้าน ต.บางกระเจ้า จำนวน 12 คน ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร, อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางกระเจ้า และ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ฐานเป็นเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ พร้อมทั้งเรียกร้องเงินชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวน 3.6 ล้านบาท เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 58 จนเป็นข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา รายการ “จับชีพจรประเทศไทย” ทางช่อง TNN24 ได้นำเสนอเรื่องราวกรณีความเดือดร้อนของชาวบ้านจากการปล่อยน้ำเสียโรงงานฟอกย้อม ต.บางกระเจ้า และแนวทางการฟ้องร้องต่อศาลปกครองในเรื่องดังกล่าว โดยมีนายศรีสุวรรณ จรรยา และนายชัชวาลย์ คงอุดม เป็นแขกรับเชิญ

ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมในเรื่องนี้ว่า ที่เชิญสื่อมวลชนมาในครั้งนี้เพื่อให้ได้รับทราบว่าเราได้ทำอะไรไปบ้าง และให้ช่วยกันนำเสนอ ไม่อย่างนั้นจะเป็นการเข้าใจผิด สาธารณชนก็จะไม่รู้และคิดว่าจังหวัดเราไม่ได้ทำอะไรเลย จากที่รายการพูดเหมือนทางจังหวัดเราไม่ได้ใส่ใจ ก็เป็นที่มาของการฟ้องศาลปกครอง แต่จริงๆ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร

เรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชน ใน นสพ.สยามรัฐ เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 57 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรม ได้มอบหมายให้ศูนย์ดำรงธรรมแจ้งอุตสาหกรรมจังหวัดไปตรวจสอบ ขณะเดียวกันก็ได้มอบหมายให้ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ฝ่ายทหาร เป็นหัวหน้าทีมในการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปตรวจสอบด้วยกัน ซึ่งก็ได้มีการดำเนินการเป็นลำดับ ต้องเรียนว่า ศูนย์ดำรงธรรมได้ถูกตั้งขึ้นมาโดยคำสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ จังหวัดสมุทรสาครเองได้ดำเนินการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและคณะ คสช. มาโดยต่อเนื่อง ตัวนายกรัฐมนตรีเองก็ได้ดูรายการนี้เหมือนกัน และได้ทราบว่าทางจังหวัดได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง ก็อยากจะให้นำเสนอต่อสาธารณชนด้วยว่า เรามีการดำเนินการอย่างรวดเร็วครบถ้วน

เมื่อมีข่าวเกิดขึ้น ก็มีการแจ้งให้อุตสาหกรรมจังหวัดไปตรวจสอบทันที หลังจากนั้น รอง ผอ.กอ.รมน. ก็เข้าไปในพื้นที่โรงงาน ไปตรวจสอบพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ อุตสาหกรรมจังหวัด รวมไปถึงเก็บตัวอย่างต่างๆ ไปวิเคราะห์ผล ซึ่งใช้เวลาพอสมควร หลังจากนั้นก็ให้รองผู้ว่าฯ เชิญทางผู้ประกอบการ ผู้เสียหาย (คุณบุษบา) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือกันว่าจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร ซึ่งจากผลการประชุมเบื้องต้น ก็ยังสรุปไม่ได้ว่าที่ต้นพุทราและมะขามเทศเสียหาย มาจากสาเหตุใด ก็จะได้หาทางแก้ไขต่อไป

ต่อมาก็ได้มีหน่วยงานต่างๆ กล่าวชี้แจงการดำเนินการตรวจสอบในเรื่องที่เกิดขึ้น โดยตัวแทนของอุตสาหกรรมจังหวัด (อกจ.) แจ้งว่ามีการเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อตรวจสอบครั้งแรกเมื่อ ส.ค.57 พบเพียงสารแขวนลอย ซึ่งได้มีการปรับทางโรรงานไปจำนวน 5,000 บาท ส่วนค่าอื่นๆ เช่นค่าโลหะหนัก อยู่ในเกณฑ์ปกติ ต่อมาทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) โดย นายยรรยง เลขาวิจิตร หัวหน้า ทสจ. ได้กล่าวว่า เมื่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแจ้งมายังที่สำนักงาน ก็ได้มีการตรวจสอบ ซึ่งพบว่าระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานแห่งนี้ไม่ได้รายงานตาม ทส.2 ทำให้ต้องแจ้งความดำเนินคดีและฟ้องร้องต่อศาล ซึ่งได้ตัดสินให้ทางโรงงานต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวน 10,000 บาท ในเรื่องของการเก็บตัวอย่างน้ำและก็ดิน ก็ได้ให้กรมควบคุมมลพิษ ส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการ ซึ่งผลตรวจใช้เวลานานพอสมควร ก็ได้รับรายงานว่า ตัวอย่างของน้ำและดินบางส่วน อยู่ในค่าที่ไม่เกินมาตรฐาน บางส่วนก็มีสิ่งที่ปนเปื้อนมากพอสมควร แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีผลทำให้พืชเสียหายอย่างไร จากนั้นตัวแทนจากเกษตรจังหวัด (กสจ.) ก็ได้อธิบายต่อ พบว่าค่านำไฟฟ้าของดินอยู่ระหว่าง 9-12.4 ซึ่งมีความเค็มจัดมาก โดยทั่วไปการเพาะปลูกพืชจะมีปัญหา ผลผลิตจะลดลงและมีคุณภาพต่ำ อาจจะทำอันตรายต่อพืชได้ ส่วนที่สองพบว่าการตรวจสารพิษตกค้างของวัสดุการเกษตรนั้น ไม่พบปัญหาดังกล่าว

นายสุทธิพงศ์ ม่วงสวนขวัญ ปลัด อบต.บางกระเจ้า ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า ทาง อบต.ได้อนุญาตให้โรงงานดำเนินกิจการเมื่อปี 40-41 และ น.ส.บุษบา ได้เริ่มเข้ามาร้องเรียนปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ประมาณกลางปี 44 มาโดยตลอด ซึ่งทางผู้ประกอบการก็มีการปรับปรุงแก้ไขให้ค่าชดเชย มาครั้งสุดท้ายทาง น.ส.บุษบาเองก็ไปร้องเรียนที่หน่วยงานอื่นๆ แต่จะไม่ค่อยเข้ามาร้องเรียนที่ อบต.บางกระเจ้า บางครั้ง อบต. ก็ไม่กล้า ว่าหน่วยงานไหนเป็นคนตรวจ ซึ่งทาง อบต.ก็ไปเก็บตัวอย่างน้ำมาตรวจสอบหลายครั้ง ก็พบว่าไม่เกินค่ามาตรฐาน อีกประเด็นหนึ่งในเรื่องของคลองปากวอ ก็มีโรงงานที่ทำให้เกิดน้ำเสียหลายแห่ง เพราะคลองได้เชื่อมหลายตำบล ซึ่งไม่สามารถทราบได้ว่าโรงงานไหนเป็นต้นเหตุทำให้เกิดน้ำเสียเข้าสวนพุทราดังกล่าว จากนั้นผู้สื่อข่าวรายหนึ่งได้ซักถามต่อนายสุทธิพงศ์ ว่าตอนปี 44 ทางสวนพุทราได้มีการเรียกเงิน 2 แสนบาทจากเจ้าของโรงงาน ทาง อบต.บางกระเจ้าได้มีข้อตกลงบันทึกไว้หรือไม่ ซึ่งทางนายสุทธิพงศ์ได้ตอบว่า ทั้งสองฝ่ายไปทำกันเอง ตกลงกันเอง และผู้สื่อข่าวได้ถามต่อไปว่า เมื่อปี 55 ได้มีการจ่ายเงินอีก นั้นมาจากเรื่องอะไร ทางนายสุทธิพงศ์ได้ตอบกลับอีกว่า เป็นเพราะน้ำท่วมไปในสวนพุทรา ทางโรงงานได้ให้ค่าชดเชยไปประมาณ 5 แสนบาท

ต่อมานางสุวรีย์ บุญเกิด ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม อบต.บางกระเจ้า ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อปี 55 ทางโรงงานไม่ได้มีการปรับปรุงบ่อให้เป็นคอนกรีต เป็นบ่อดิน และท่อระบายน้ำจากไลน์ผลิตที่ยังไม่ได้ผ่านการบำบัด เป็นท่อที่เก่า เกิดการแตกชำรุดทำให้น้ำนองออกไปริมรั้วและก็ไหลซึมเข้าไปยังสวนพุทรา ซึ่งทางผู้ประกอบการก็ยินดีที่จะชดใช้ ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงระหว่างจ่ายเงินกันเอง ทาง อบต. ไม่ได้เกี่ยวข้องเพราะเห็นว่าทำตามหน้าที่ให้ปรับปรุงแก้ไขในเรื่องท่อแตก ส่วนในกรณีปี 44 ที่ได้มีการร้องเรียนมา ทาง อบต.บางกระเจ้าก็ได้นำน้ำไปตรวจสอบที่อุตสาหกรรมจังหวัด ผลน้ำก็มีความผิดปกติแต่ไม่มาก เพราะเป็นน้ำซึมมาจากบ่อสุดท้ายที่บำบัดมาแล้วเลยไม่มีผลอะไร ผู้สื่อข่าวได้ถามต่ออีกว่า ในการจ่ายเงิน 2 รอบก็ได้มีการซื้อขายที่ด้วย นางสุวรีย์ตอบว่า จากที่ทราบในการจ่ายเงินมีทั้งรายใหญ่และรายย่อย ทางโรงงานได้เล่าให้ อบต. ว่าเวลาที่ชาวบ้านขุดดินหรือถมดิน กล่าวหาว่าน้ำที่ทางโรงงานซึมมา ทำให้ศาลพระภูมิของเขาเอนจะล้ม ก็ได้มอบเงินเพื่อไปปรับปรุงศาลพระภูมิ และหลายอย่างที่ชดเชยในเรื่องของสุขภาพ เมื่อมีการเจ็บป่วย ก็จะมาขอเงินเพื่อที่จะพาไปรักษาตัว ทางบริษัทเองก็ให้ ทาง อบต. เองก็ไม่ทราบ เพียงแต่ต้องเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าทางโรงงานได้ทำอะไรให้กับประชาชนที่เดือดร้อนบ้าง ตอนนี้ทาง อบต. ก็ติดตามอยู่ตลอด

นายสุทธิพงศ์ก็ได้ชีแจงเพิ่มเติมถึงเรื่องการซื้อที่ดินของโรงงานว่า ช่วงประมาณปี 44 นอกจากจ่ายเงินชดเชยให้ น.ส.บุษบาแล้ว ทางโรงงานได้ซื้อที่ดินเพิ่ม 2 ไร่ด้วย เพื่อพัฒนาบ่อบำบัดน้ำเสียให้ได้มาตรฐาน เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว จากนั้นเหตุการณ์ก็ปกติไปเรื่อย มีการขอเงินบ้างอะไรบ้าง จนกระทั่งมีเรื่องร้องเรียนโดยตรงในปี 55 ที่มีการชดเชยเงิน 5 แสนบาท ในภายหลังก็ไม่ได้ร้องเรียนที่ อบต.บางกระเจ้าโดยตรงแล้ว ไปแจ้งที่ศูนย์ดำรงธรรมแทน ซึ่งทางผู้ว่าฯ ได้กล่าวว่า ทราบปัญหาดังกล่าวจาก นสพ.สยามรัฐ ลงเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 57 แล้วทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมก็ได้ตรวจสอบในเรื่องนี้ ก็เลยได้เข้าไปดูแลและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จากผลตรวจของน้ำที่ส่วนราชการต่างๆ ได้แจ้งไว้ จนตอนนี้ยังไม่ทราบเป็นที่ชัดเจนว่า ต้นพุทราที่ตายไปนั้นเกิดจากสาเหตุใด

พ.อ.จักราวุธ สินพูลผล รอง ผอ. กอ.รมน. จ.สมุทรสาคร ได้ชี้แจงให้สื่อมวลชนทราบในเรื่องนี้ว่า ตนเป็นคณะแรกที่ได้เข้าไปดูในที่เกิดเหตุพร้อมกับส่วนของอุตสาหกรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรม จะพบว่าแปลงของสวนพุทรา มันตายเพียงแค่ 2 ต้น หรือ 3 ต้น ทางหัวๆ แปลงเท่านั้น แต่แปลงอื่นนั้นไม่ตาย ทั้งๆ ที่ขนานไปกับทางโรงงาน ตอนนี้บ่อบำบัดของโรงงานสร้างเป็นคอนกรีตแล้ว แต่ก่อนอาจจะเป็นบ่อดินและก็มีน้ำรั่วซึม ท่อแตก ตอนซื้อที่กันใหม่ๆ ก็ซื้อที่จากเจ้าของสวนคนนี้แบ่งที่ขายให้ แล้วก็มาตั้งโรงงานฟอกย้อมก็ขออนุญาตโดยถูกต้อง พอตรวจดูทางกายภาพแล้วว่ามันตายเพราะอะไร เราก็เลยขุดตรงใกล้ๆ กำแพง ลึกประมาณ 1 ศอก 50 เซนติเมตร ก็เริ่มเห็นมีน้ำสีน้ำตาล เหมือนสีน้ำตาลทรายแดงไหลออกมา ซึ่งมันไม่เหมือนกับน้ำในสวนของเขา ถ้าจำไม่ผิดเขาใช้คนละคลองกับคลองที่โรงงานปล่อยน้ำลงคลอง มี 2 คลองที่ใกล้กัน น้ำที่เกิดจากกระบวนการฟอกย้อมไม่ใช่สีแดงแบบน้ำในสวนพุทรา มันเป็นสีน้ำเงินจากการฟอกย้อมสารเคมี ในการประชุมเมื่อ 3 ธ.ค. ก็ได้ให้ข้อสันนิษฐานไว้ว่าในการที่สร้างกำแพงและถมดินของโรงงาน ผู้รับเหมาเขาไปเอาดินที่มาจากกระบวนการนำทองแดงมาแยกสารออกแล้วเหลือแต่เกลือ และก็นำมาถมดินข้างกำแพง พอฝนตกน้ำก็ไหลซึมไปลงที่สวนพุทรา จากการที่มีค่าเกลือเค็ม ค่อนข้างแน่ใจว่ามันเกิดกระบวนการทำให้มันเป็นกรดเกลือ ก็เลยทำให้ต้นพุทรา 2-3 ต้นตาย แต่ต้นอื่นไม่ตาย ก็ยังชี้ไม่ได้ แต่ไม่ได้เกิดจากการปล่อยน้ำเสียของโรงงานแล้ว ในส่วนของคุณบุษบา จากการที่เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่บ่อยครั้งจนเกิดความรำคาญ และก็ไม่ได้ผลตามที่พอใจ ก็เลยไม่พึ่งเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่จังหวัดแล้ว ไปร้องส่วนกลางเลย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ผมว่า ทรัพยากรธรรมชาติ อุตสาหกรรม ก็ทำตามกฎหมาย ตามหน้าที่แล้ว

นางสุภาพ ศรีจันทร์ ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า ทางกรมควบคุมมลพิษได้แจ้งให้ ทสจ. เก็บน้ำจากปลายท่อระบายน้ำทิ้ง เพื่อให้ยืนยันว่าผลของอุตสาหกรรมจังหวัดกับ ทสจ. ต่างกันอย่างไร ผลปรากฏว่าคุณภาพน้ำก็เป็นไปในทางเดียวกันตามมาตรฐานจากปลายท่อก่อนที่จะปล่อยลงคลอง แต่ว่าถ้าเกิดเป็นบริเวณร่องสวนพุทรา จะเทียบเคียงกับมาตรฐานอีกตัวหนึ่ง เพราะว่าจะไม่ใช่ไม่ใช่มาตรฐานจากแหล่งกำเนิด ก็ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งเป็นสภาพปัจจุบันของน้ำทั่วไปในคลองของจังหวัดสมุทรสาคร ก็ไม่ยืนยันว่าน้ำตรงนี้มาจากทางโรงงาน

ต่อมาทางผู้ว่าฯ ได้สอบถามไปยังตัวแทนของอุตสาหกรรมจังหวัดอีกครั้ง ว่าตัวอย่างน้ำจากโรงงานก่อนบำบัด กับน้ำที่อยู่ในร่องสวนนั้นบ่งชี้อะไรได้บ้าง ซึ่งทางอุตสาหกรรมจังหวัดกล่าวตอบว่า น้ำของในสวนคุณภาพดีกว่าน้ำก่อนบำบัดมาก เพราะไม่มีค่าโลหะหนัก ส่วนน้ำก่อนบำบัดจะมีค่าตรงนี้อยู่ก่อนแล้ว เมื่อบำบัดเสร็จจะไม่มี โดย พ.อ.จักราวุธ รอง ผอ. กอ.รมน. ได้กล่าวเสริมด้วยว่า น้ำที่อยู่ในร่องสวนก็มีสีหนึ่ง น้ำตรงร่องข้างกำแพงจะออกเป็นสีแดง แต่น้ำก่อนบำบัดจะเป็นสีดำ-น้ำเงินเข้ม ถ้ามองทางกายภาพมันคนละสีกัน

นอกจากนี้ทางตัวแทนของอุตสาหกรรมจังหวัด ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าเป็นมาตรฐานที่น้ำระบายออก จะเป็นกฎหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะใช่ค่าหนึ่ง ส่วนน้ำที่อยู่ตามพื้นที่อื่นจะเป็นตามกฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ก็จะเป็นค่าอีกค่าหนึ่ง ตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมถ้าน้ำระบายออกจากโรงงานมีค่าเกิน กระทรวงก็สั่งปรับสั่งหยุดตามกฎหมาย แต่ถ้าค่าไม่เกิน กระทรวงก็ทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากต้องทำตามกฎหมาย ส่วนถ้าเป็นของกระทรวงทรัพย์เป็นน้ำพื้นที่อื่นก็ต้องหาสาเหตุว่าที่มาของน้ำนี้มาจากแหล่งน้ำใดบ้าง ก็ต้องดูอีกทีหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวท่านหนึ่งได้สอบถามไปยังที่ประชุมว่า เป็นเรื่องที่ดีที่มีการแถลงข่าว น่าจะมีการเชิญเจ้าของสวนพุทรา กับเจ้าของโรงงานเข้ามาฟังด้วย เพื่อพวกเขาจะได้รู้ว่าทางจังหวัดก็ได้ทำงานอยู่ ทางที่ประชุมได้ชี้แจงว่า ได้มีการเชิญมาร่วมพูดคุยกันมาแล้ว 2 ครั้ง วันที่ 12 ก.ย. และครั้งสุดท้าย 3 ธ.ค. 57 ซึ่งได้พยายามชี้แจงเหตุผลและก็ให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงผลค่าการตรวจของน้ำแล้ว ส่วนหนึ่งก็ไม่รับฟังซึ่งกันและกัน และก็ไม่พยายามที่จะฟังเหตุผล อาจจะเป็นความเข้าใจผิด และมองเจ้าหน้าที่รัฐในแง่ลบ แต่เราก็ได้เชิญมาทั้ง 2 ครั้งที่ได้มีการประชุมร่วมกัน ผู้สื่อข่าวอีกท่านถามต่อว่า ทราบว่าได้มีการเอาตัวอย่างน้ำในสวนไปให้แล็บเอกชนตรวจเอง ทางที่ประชุมก็ตอบว่า ไม่ทราบ เป็นข้อกล่าวอ้างมาตลอดว่า เขาได้เก็บตัวอย่างน้ำเขาไปให้แล็บเอกชนตรวจสอบ ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่าแล็บไหน แต่ว่าทางเราที่ได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำตามพารามิเตอร์ต่างๆ ทั้งสำนักงานอุตสาหกรรม ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และกรมควบคุมมลพิษ ก็ได้มีหนังสือที่เป็นเอกสารทางราชการยืนยันผลการตรวจของน้ำ ซึ่งตรงนี้คิดว่าเป็นค่าที่น่าเชื่อถือได้อยู่แล้ว และทุกครั้งที่มีการตรวจก็ค่อนข้างที่จะสอดคล้องกันว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

จากนั้นผู้สื่อข่าวได้ถามไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดอีกครั้งว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อหลังจากมีประเด็นข่าวนี้ขึ้นมา ทางผู้ว่าฯ ได้ตอบกลับว่า เราก็ได้ทำตามกระบวนการและข้อเท็จจริงก็เป็นแบบนี้ ซึ่งนโยบายจังหวัดในเรื่องของคูคลอง ได้ดำเนินการอย่างเด็ดขาดหมด เช่นที่คลองภาษีเจริญ อ.กระทุ่มแบน ในส่วนนี้จะให้รอง กอ.รมน. จัดทีมลงไปตรวจสอบอีกที เพื่อให้สิ้นสงสัยว่าเกิดเพราะอะไร ซึ่งผลยังไม่ชี้ชัดว่ามันใช่หรือไม่ ต้องไปดูเพิ่มเติม

ทางนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ขอพูดถึงเรื่องคดีความว่า ตอนนี้อยู่ในชั้นไต่สวน ทางผู้ฟ้องได้มีข้อเรียกร้อง 4-5 ข้อ ก็ต้องว่ากันจะได้ตามนั้นหรือไม่ ส่วนผลจะเป็นประการใดก็ต้องรอดูก่อนในเบื้องต้นศาลท่านจะมีความเห็นอย่างไร โดยได้มีการฟ้องเป็นคดีปกครองไปยังศาลปกครองกลาง และเหมือนจะฟ้องแพ่งด้วย ก็มีสิทธิ์ทั้งสองศาล ก็ต้องรอดูกันต่อไป ซึ่งทางผู้ว่าฯ ได้กล่าวต่ออีกว่า ในเรื่องของคดีความที่ว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ก็ได้มอบหมายให้รอง กอ.รมน.ไปดูข้อเท็จจริงต่างๆ เพิ่มเติม ส่วนเรื่องการฟ้องก็ว่าไปตามนั้น เป็นข้าราชการก็ต้องโดนอยู่แล้ว

ซึ่งในที่ประชุมได้มีข้อสรุปว่า จะได้มีการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบปัญหานี้อีกครั้งหนึ่ง ทั้งทางโรงงานทวีชัยฟอกย้อม และสวนพุทราที่ได้รับความเสียหาย หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติม ทางสาครออนไลน์จะได้รายงานให้ได้รับทราบต่อไป

2

3

4

5

6

7

8

9

– กิตติกร นาคทอง –



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง