เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ศึกษาวิถีประมง ชิม-ช้อปตลาดคนเดินสมุทรสาคร

1 ศาลพันท้าย 01

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา “สาครออนไลน์” พร้อมคณะสื่อมวลชนในจังหวัดสมุทรสาคร ได้มีโอกาสร่วมเดินทางสำรวจพื้นที่ต่างๆ ด้วยกัน ในกิจกรรมที่มีชื่อว่า “ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ชมตลาดชุมชน สัมผัสวิถีคนประมง” ภายใต้โครงการประชาสัมพันธ์เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวกับการส่งเสริมสินค้าชุมชน และสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนแบบบูรณาการ

โดยนางยุวพร นวชาติกุล ประชาสัมพันธ์จังหวัดฯ และนายภิญโญ หลงผดุง นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ พร้อมคณะจากสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งแต่ละสถานที่ล้วนมีความเป็นมาที่น่าสนใจ และเป็นจุดขายที่โดดเด่นในการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น อุทยานพันท้ายนรสิงห์ หมู่บ้านปากคลองประมง ฟาร์มหอยแมลงภู่ ศาลากลางน้ำ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งฯ ศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำฯ เรือโบราณพนมสุรินทร์ และถนนคนเดินพันท้ายไนท์มาร์เก็ต

1 ศาลพันท้าย 02

1 ศาลพันท้าย 03

1 ศาลพันท้าย 04

เริ่มต้นเราได้เดินทางมาถึงอุทยานประวัติศาสตร์พันท้ายนรสิงห์ เมื่อตอน 09.45 น. มีนายนรินทร์ บุญร่วม ข้าราชการบำนาญ อดีตประมงอำเภอ รับหน้าที่วิทยากรให้กับคณะสื่อมวลชนและประชาสัมพันธ์จังหวัด ได้อธิบายถึงความเป็นมา เช่น การก่อตั้งอุทยานพันท้ายนรสิงห์ การใช้ชื่อตำบลพันท้ายนรสิงห์ ที่ได้เปลี่ยนมาจากเดิมคือตำบลบ้านไร่ การสร้างศาลหลังใหม่

การหล่ออนุสาวรีย์จำลองของพันท้ายนรสิงห์ในปี พ.ศ. 2519 ซึ่งได้เล่าถึงเกร็ดประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งไว้ว่า เค้าโครงใบหน้าของรูปหล่อนั้น ได้นำมาจาก สมชาย ศรีภูมิ นักแสดงในยุคนั้นเป็นต้นแบบ ฯลฯ จากนั้นจึงพาพวกเราไปที่ “หลักประหารเดิม” พร้อมเล่าวีรกรรมของพันท้ายนรสิงห์ ที่ยอมแลกชีวิตของตนเพื่อรักษากฎมณเฑียรบาลไว้ ด้วยความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ และจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

2 หมู่บ้านประมง 01

2 หมู่บ้านประมง 02

2 หมู่บ้านประมง 03

2 หมู่บ้านประมง 04

ต่อมาในช่วง 10.45 น. เราจึงได้มาถึงท่าเทียบเรือประมง หน้าองค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนรสิงห์ แล้วนั่งเรือหางยาวแล่นไปตามคลองตรง สู่หมู่บ้านปากคลองประมง ต.พันท้ายนรสิงห์ ที่มีบ้านเรือนริมน้ำปลูกอยู่ราย 2 ข้างทาง ทั้งแบบหลังคามุงจาก และบ้านแบบสมัยใหม่สีสันสวยงาม

จนกระทั่งออกไปยังปากอ่าว เราได้เห็นทิวไม้ไผ่ชะลอคลื่นปักอยู่ และมีหลักไม้มากมายเป็นสัญลักษณ์ของการทำ “ฟาร์มหอยแมลงภู่” แล้วเราก็ได้เห็นการสาธิตวิธีงมหอยแมลงภู่ขึ้นมา ซึ่งจะต้องดำน้ำลึกลงไปเก็บหอยยังด้านล่าง โดยมีออกซิเจนเป็นเครื่องช่วยหายใจ โดยมีวิทยากรคอยอธิบายวิธีการทำฟาร์มหอยแมลงภู่ จากนั้นเรือจึงแล่นต่อไปที่ศาลากลางทะเล ซึ่งภายในนั้นมี “พระพุทธมหาสมุทร” ประดิษฐานอยู่

เข้าสู่ช่วงเที่ยง คณะสื่อมวลชนและประชาสัมพันธ์จังหวัด ก็ได้ล่องเรือไปยังร้านอาหาร “ครัวบ้านประมง” ได้ลิ้มรสความอร่อยจากเมนูต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หอยแครง-หอยแมลงภู่สดๆ ลวกพร้อมน้ำจิ้มรสเด็ด แกงส้มกุ้งมะพร้าวอ่อน เนื้อปูผัดผงกะหรี่ หมึกชุบแป้งทอด ฯลฯ พร้อมบรรยากาศริมน้ำที่ยังคงวิถีชีวิตชาวประมงไว้ให้เห็นกันอยู่

3 ศูนย์วิจัย 01

3 ศูนย์วิจัย 02

3 ศูนย์วิจัย 03

3 ศูนย์วิจัย 04

3 ศูนย์วิจัย 05

เมื่อทานมื้อกลางวันกันเสร็จสิ้น ก็ได้เดินทางมาต่อที่ “ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร” อย่างที่ทราบกันดีว่าเมื่อเดือนที่แล้ว ทางศูนย์ฯ เคยมีโอกาสให้การต้อนรับ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฟิจิและคณะ มาศึกษาดูงานที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ โดยมีนายสุทธิชัย ฤทธิธรรม ผู้อำนวยการของศูนย์ฯ เป็นผู้บรรยาย

โดยได้ฉายสไลด์ข้อมูล และอธิบายถึงงานหลักของศูนย์ฯ ว่ามีหน้าที่ในการดูแลชาวประมงและเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงและอนุรักษ์สัตว์น้ำ ทั้งสัตว์น้ำกินได้และสัตว์น้ำสวยงาม การตรวจคลินิกสัตว์น้ำ ตรวจสารตกค้างและแบคทีเรียในน้ำ เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม เปิดฝึกอบรม ฯลฯ อีกทั้งยังอธิบายถึงสถานการณ์ของกุ้งขาวที่ลดลง ผลงานการวิจัยและพัฒนาของศูนย์ฯ ที่ตอนนี้กำลังร่วมมือกับทางนักวิชาการประมงเมียนมาร์ ศึกษาเพื่อร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนา “ปลาตะลุมพุก” (หรือ “ปลาชิกคั่ก” ในภาษาจีน) ที่สาบสูญไปจากแหล่งน้ำของไทยมานาน

หลังจากรับฟังการบรรยายเสร็จเรียบร้อย ทางคณะผู้เดินทาง ได้เข้าเยี่ยมชมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดต่างๆ โดยมีนางชมพูนุท หลักดี แนะนำการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลสวยงาม และกุ้งทะเลพันธุ์พื้นเมืองอย่างกุ้งแชบ๊วย และกุ้งกุลาดำ เพื่อเป็นการอนุรักษ์

ในส่วนของปลาสวยงาม จะเป็นนางพรทิพย์ ทองบ่อ นักวิชาการประมง คอยอธิบายกรรมวิธีในการเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม อย่างปลาการ์ตูนสายพันธุ์ต่างๆ ที่เพาะเลี้ยงเพื่อจำหน่ายเป็นการทั่วไป ที่น่าสนใจมากที่สุดเห็นจะเป็นเจ้า ”ปลาการ์ตูนแพลตตินัม” ที่ผสมข้ามสายพันธุ์จนเป็นลวดลายสีขาวล้วน ซึ่งมีการซื้อขายในราคาถึง 500 บาท ต่อลำตัวขนาด 1 เซนติเมตร เลยทีเดียว

4 ศูนย์แสดง 01

4 ศูนย์แสดง 02

4 ศูนย์แสดง 03

ถัดมาเราได้เดินทางมาที่ “ศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำสมุทรสาคร” ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน โดยมีวิทยากรคอยให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ภายในศูนย์แสดงฯ แห่งนี้ ที่มีอยู่มากมาย ทั้งสวยงามและได้ความรู้ โดยเฉพาะอุโมงค์ใต้น้ำ ที่มีปลาขนาดใหญ่ ทั้งปลาฉลาม ปลาเก๋า ปลากระเบน แหวกว่ายให้พวกเราได้ตื่นตาตื่นใจ และถ่ายภาพกันอย่างสนุกสนาน

5 เรือโบราณ 1

5 เรือโบราณ 2

5 เรือโบราณ 3

แล้วเราก็เดินทางกันมาต่อที่ “เรือโบราณพนมสุรินทร์” หมู่ 6 ต.พันท้ายนรสิงห์ ซึ่งมี น.ส.ปรียานุช จุมพรม จากสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี พร้อมคณะทำงาน ได้เป็นวิทยากรอธิบายรายละเอียดคร่าวๆ ถึงประวัติของการพบซากเรือโบราณ ที่ได้พบอยู่ในบ่อเลี้ยงกุ้งของนายสุรินทร์ และนางพนม ศรีงามดี เมื่อประมาณปลายปี 2556 และได้มีการขุดศึกษาทางโบราณคดีมาโดยตลอด

มีนักโบราณคดี และนักวิชาการจากหลายชาติเข้ามาเยี่ยมชมและร่วมกันศึกษาซากเรือโบราณดังกล่าว มีการขุดพบข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ และได้มีการนำเสากระโดงเรือ 1 ใน 2 ต้น ขึ้นมาจากบ่อขึ้นมาแช่น้ำด้านบนไว้ เพื่อเป็นการรักษาสภาพของโบราณวัตถุ และเพื่อให้คณะที่มาเยี่ยมชม ได้สัมผัสกันอย่างใกล้ชิด

6 พันท้ายไนท์ 1

6 พันท้ายไนท์ 2

6 พันท้ายไนท์ 3

6 พันท้ายไนท์ 4

6 พันท้ายไนท์ 5

ในช่วงตอนเย็น การเดินทางของเรามาสิ้นสุดกันที่ “พันท้ายไนท์มาร์เก็ต” ภายในโครงการ คีท พลาซ่า เป็นถนนคนเดินที่มีการตกแต่งอย่างสวยงาม สร้างบรรยากาศอันน่าตื่นตาตื่นใจ มีการจำหน่ายข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ทั้งเสื้อผ้าเครื่องประดับ อุปกรณ์ไฟฟ้า และอาหารการกินที่หลากหลาย ด้านในนั้นมีลานเบียร์ พร้อมเวทีกิจกรรมและการแสดงดนตรี ที่หลายคนนิยมมานั่งพักผ่อนหย่อนใจ

โดยตลาดคนเดินแห่งนี้ จัดขึ้นทุกสัปดาห์ที่ 2 และ 4 ของเดือน ซึ่งทางคณะสื่อมวลชนได้สังสรรค์กัน และทางนายกิตติพงษ์ เจริญคงธรรม ประธานกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ YEC สมุทรสาคร เจ้าของโครงการคีท พลาซ่า ได้มอบของที่ระลึกให้กับคณะสื่อมวลชนไว้ให้ด้วย

6 พันท้ายไนท์ 6

6 พันท้ายไนท์ 7

6 พันท้ายไนท์ 8

6 พันท้ายไนท์ 9

6 พันท้ายไนท์ 10

และนี่คือเรื่องราวการเดินทางทั้งหมดของคณะสื่อมวลชน ที่ทางสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาครได้พาไปสำรวจในครั้งนี้ ทำให้เราได้ทราบว่า สมุทรสาคร มีอะไรมากกว่าที่เราคิด และสามารถท่องเที่ยวได้หลายสถานที่ โดยใช้เวลาในหนึ่งวัน

• กิตติกร นาคทอง •



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง