สัมมนาประชาสัมพันธ์สมุทรสาคร “การใช้ราชาศัพท์-พัฒนาบุคลิกภาพ”

1

เมื่อวันที่ 18-19 มิ.ย. ที่ผ่านมา “สาครออนไลน์” พร้อมกับสื่อมวลชนสำนักต่างๆ ในจังหวัดสมุทรสาคร ได้มีโอกาสเข้าร่วมการสัมมนาในโครงการ “สัมมนาสื่อมวลชนเพื่อพัฒนาและสร้างเสริมศักยภาพการประชาสัมพันธ์” โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร มีนางยุวพร นวชาติกุล ประชาสัมพันธ์จังหวัดฯ และนายภิญโญ หลงผดุง นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ พร้อมคณะ เป็นผู้ร่วมประสานงานในโครงการดังกล่าว ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้มีระยะเวลา 2 วัน 1 คืน ณ บ้านอัมพวา รีสอร์ท แอนด์ สปา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

เริ่มต้นวันที่ 18 มิ.ย. หลังจากลงทะเบียนที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร คณะสื่อมวลชนก็ได้เดินทางไปยัง จ.สมุทรสงคราม และได้แวะเข้าไปสักการะหลวงพ่อบ้านแหลม ที่วัดเพชรสมุทรวรวิหาร ต.แม่กลอง อ.เมืองฯ ก่อนจะเดินทางต่อไปยังที่พัก เมื่อเข้าสู่ช่วงบ่าย ได้มีการบรรยายเรื่อง “สื่อกับการใช้คำราชาศัพท์” โดย นายประสพโชค อ่อนกอ ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการ ให้เกียรติเป็นวิทยากรอธิบายถึงความหมายของคำราชาศัพท์ เรื่องของสกุลยศ และพระอิสริยยศ ที่ทำให้การใช้ราชาศัพท์นั้นแตกต่างกันไปตามลำดับชั้น

เรื่องของการขานพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย พระนาม และนาม ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ต่างๆ ที่ถูกต้อง ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ พระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะอ่านออกเสียงว่า “สม-เด็ด-พระ-เทบ-พะ-รัด-ราด-สุ-ดา-สะ-หยาม-บอ-รม-มะ-ราด-ชะ-กุ-มา-รี” นายประสพโชคได้บอกเล่าถึงที่มาของการอ่านออกเสียงดังกล่าว ว่าแต่เดิมสกุลยศของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ นั้นคือ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์” แล้วในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์ให้เป็น “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี” แต่ในการสถาปนาครั้งนั้น มิได้กำหนดในการอ่านไว้อย่างชัดเจน ซึ่งมีการอ่านออกเสียงว่า “ราด-สุ-ดา” หรือ “ราด-ชะ-สุ-ดา” แตกต่างกันไป ต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จึงมีพระราชบัญชาถามลงมาที่สำนักราชเลขาธิการ ว่าพระนามาภิไธยของพระองค์นั้นควรจะอ่านอย่างไร ราชเลขาธิการในตอนนั้นคือ นายทวีสันต์ ลดาวัลย์ ได้ส่งเรื่องนี้ให้กับรองราชเลขาธิการ คือนายวุฒิ สุมิตร ไปค้นคว้าการอ่านชื่อดังกล่าว

จนกระทั่งค้นพบว่า อาจารย์ภาวาส บุนนาค ซึ่งเป็นรองราชเลขาธิการ ได้เคยเขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้ ซึ่งควรจะอ่านเป็น “ราด-สุ-ดา” เพราะมีคำว่า “ราชกุมารี (ราด-ชะ-กุ-มา-รี)” ตามหลังอยู่ มันจะซ้ำซ้อน ดังนั้นการอ่านแบบดังกล่าวก็น่าจะพอแล้ว แต่ยังไม่ทันที่จะได้นำความตรงนี้ขึ้นกราบบังคมทูล อ.ภาวาส ก็ถึงแก่กรรมไปเสียก่อน เมื่อนายวุฒิได้มาค้นเจอเรื่องราวดังกล่าว ก็มีบันทึกกราบบังคมทูล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ขึ้นไป เมื่อท่านได้ทอดพระเนตรว่า อ.ภาวาสได้เคยเขียนไว้แบบนี้ ก็รับสั่งว่าให้ออกเสียงชื่อท่านตามอย่างที่ อ.ภาวาส บันทึกไว้ เนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ นั้นทรงนับถือ อ.ภาวาส มาก เพราะต่างก็เป็นศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน ซึ่งต่อมาทางสำนักราชเลขาธิการ ได้ส่งหนังสือเวียนเกี่ยวกับการอ่านออกเสียงดังกล่าวไปทั่วราชอาณาจักร

นอกจากนี้นายประสพโชคยังได้ชีแนะถึงราชาศัพท์ที่มักใช้กันผิดพลาดเสมอๆ เช่นการใช้ “ทรง”นำหน้าคำที่เป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว เช่น ทรงรับสั่ง ทรงพระราชทาน ฯลฯ ซึ่งไม่ถูกต้อง ควรจะใช้คำว่าทรง นำหน้าคำกริยา เพื่อแปลงให้เป็นคำราชาศัพท์ เช่น ทรงฟัง ทรงยินดี ทรงอ่าน ฯลฯ

การใช้คำราชาศัพท์ผิดพระอิสริยยศ เช่น “ถวายพระราชกุศล” ซึ่งต้องใช้กับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เท่านั้น แต่ “ถวายพระกุศล” นั้นใช้ตั้งแต่เจ้าฟ้าลงไปจนถึงหม่อมเจ้า ซึ่งมีข้อสังเกตถึงการใช้ราชาศัพท์ถวายพระราชกุศล และถวายพระกุศลนั้น จะไม่มีคำว่า “ถวายเป็น” เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 นั้นไม่ทรงโปรดที่จะใช้คำว่า เป็น เนื่องจากน่าจะเป็นคำที่เกินมา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตัดคำว่า เป็น ออกเสีย

การใช้ราชาศัพท์ “เสด็จพระราชดำเนิน” จะต้องมีคำว่า ไป มา กลับ หรือคำอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องตามมาเสมอ จะใช้โดยลำพังนั้นจะได้ความหมายที่ไม่ถูกต้อง เพราะคำว่า เสด็จพระราชดำเนิน แปลว่า เดินทาง นอกจากนี้ ยังมีคำราชาศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับคำว่า เสด็จ อีกหลายคำ เช่น เสด็จเข้า เสด็จออก เสด็จขึ้น และเสด็จลง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเดินทาง

การใช้คำราชาศัพท์ว่า “ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย” ซึ่งใช้กับการถวายสิ่งของที่สามารถยกขึ้นได้ด้วยมือ และ “น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย” ใช้กับการถวายสิ่งของที่เป็นของหนัก ที่ไม่สามารถยกขึ้นมาด้วยมือได้ โดยทั้งสองคำนี้ ต้องใช้กับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เท่านั้น ส่วนเจ้านายตั้งแต่ชั้นเจ้าฟ้าจนถึงหม่อมเจ้า จะใช้คำว่า “ถวาย”

ต่อมาในวันที่ 19 มิ.ย. วันที่สองของการสัมมนา หลังจากรับประทานอาหารเช้า ก็ได้ร่วมกิจกรรมตักบาตรพระสงฆ์ จากนั้นจึงเป็นการทำกิจกรรมเรื่อง “สื่อกับบุคลิกภาพที่ดี” โดย นายสนธยา ศรีเวียงธวัช ผู้อำนวยการสถาบันการพูดและพัฒนาบุคลิกภาพ รับเชิญเป็นวิทยากรในการทำกิจกรรมฝึกอบรมในเรื่องต่างๆ เช่น การปฏิบัติตนในงานพิธีการรูปแบบต่างๆ ทั้งแบบทางการและกึ่งทางการ เทคนิคในการพูดในที่สาธารณะที่ดี การทักทายหรือแสดงความเคารพ ทั้งการโค้งตัว การไหว้และการจับมือ บุคลิกภาพที่ดีในการยืน การนั่งและลุกขึ้นจากที่นั่ง มารยาทในการร่วมงานเลี้ยงรับรอง การต้อนรับประธานในพิธี ฯลฯ จนกระทั่งการบรรยายในส่วนนี้ได้เสร็จสิ้น จึงออกเดินทางจากรีสอร์ท กลับมายังจังหวัดสมุทรสาครในช่วงบ่ายของวันดังกล่าว

การสัมมนาในครั้งนี้ถือเป็นการเสริมสร้างความรู้และเทคนิคต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการทำงานด้านสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสพิธีการอันสำคัญ เช่น การใช้ราชาศัพท์ให้ถูกต้อง และการเรียนรู้มารยาทในการเข้าร่วมพิธีการหรือเข้าสังคมในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสื่อในจังหวัดจากสำนักต่างๆ ทั้งวิทยุชุมชน สื่อสิ่งพิมพ์ และเว็บไซต์ ให้ได้พบปะสังสรรค์และทำกิจกรรมร่วมกันอีกด้วย

2

3

4

5

6

7

8

9

10

11

12

13

14

15

16

17

18

19

20

21

22

กิตติกร นาคทอง



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง