ตรวจสมุดพก “ส.ส.สมุทรสาคร” ก่อนจะเลือกให้ไปต่อ?

การเลือกตั้งในแต่ละครั้ง หากไม่นับเสียงจากคะแนนจัดตั้ง หรือความนิยมชมชอบของนักการเมืองเจ้าของพื้นที่ ส่วนใหญ่มักจะใช้อารมณ์ความรู้สึก และความพึงพอใจต่อรูปลักษณ์หน้าตา และกระแสทั้งจากพรรคการเมือง การสนับสนุนอุปถัมภ์จากนักการเมืองระดับบิ๊ก หรือตัวผู้สมัครเอง แต่มีน้อยคนนักที่จะไขว่คว้าหาข้อมูลเพื่อให้รู้ว่า ว่าที่ผู้แทนที่เราเลือกจะดีจริงหรือไม่

เพราะหน้าที่ของ ส.ส.ตามความเข้าใจของชาวบ้านทั่วไป กลายเป็นการผลักดันงบประมาณเข้ามาในระดับตำบล ชุมชน หรือหมู่บ้าน ควบคู่ไปกับการออกอีเวนท์ประเภทงานบุญ งานประจำปี งานแต่ง และที่นิยมที่สุดคืองานศพ ทั้งๆ ที่หน้าที่ที่แท้จริงของ ส.ส.คือการทำหน้าที่นิติบัญญัติ โดยเฉพาะการประชุมสภาเพื่อออกกฎหมาย และตรวจสอบฝ่ายบริหารคือรัฐบาล

บทเรียนจากเหตุการณ์ “สภาล่ม” ที่เกิดขึ้นกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ซึ่งคาบเกี่ยวถึง 3 รัฐบาล คือรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช, สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงเป็นเรื่องที่น่าอัปยศอดสูต่อประชาชนที่ได้พบเห็น นำไปสู่การหาแนวทางในการป้องกันหรือสั่งสอนนักการเมืองเหล่านั้น เช่น การรณรงค์โหวตโน หรือการทำเครื่องหมายในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน

อีกด้านหนึ่ง จากกระแสการตื่นรู้ทางการเมืองของประชาชน ผ่านช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์สนธิ ลิ้มทองกุล นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ยังก่อให้เกิดเครือข่ายภาคประชาชนที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือการที่มีเว็บไซต์เครือข่ายข้อมูลนักการเมืองที่เกิดขึ้นจำนวนมาก

อาทิ เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย (http://www.politicalbase.in.th) ของบริษัท สยาม อินเทลลิเจนท์ ยูนิต จำกัด, เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลนักการเมือง (http://www.thaiswatch.com) ของกลุ่มแรงคิด ต้นกล้าประชาธิปไตย, เว็บไซต์ศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย (http://www.tdw.polsci.chula.ac.th) ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ล่าสุดกับการเปิดตัวเว็บไซต์เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (http://www.tpd.in.th) ของกลุ่มแผนงานวิจัยและพัฒนาฐานข้อมูลนักการเมืองเพื่อการตรวจสอบทางสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนำโดย ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา ที่สื่อมวลชนจำนวนมากให้ความสนใจ รวมทั้งเว็บไซต์จับตาเลือกตั้ง 54 (http://www.thaielectionwatch.net) ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เป็นที่น่าสังเกตว่า ที่ผ่านมาในการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง และผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต คณะกรรมการการเลือกตั้งมักจะใช้วิธีส่งเอกสารไปพร้อมกับรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามไปรษณีย์ แต่เนื่องจาก กกต.เป็นผู้ควบคุมกติกาการเลือกตั้ง ข้อมูลในเอกสารจึงระบุเฉพาะหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร ชื่อ นามสกุล และอาชีพเพียงสั้นๆ เท่านั้น

เว็บไซต์เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทยจึงได้จัดทำ “สมุดพก ส.ส. 51-53 (ฉบับย่อ) ซึ่งเป็นความร่วมมือร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต ภายในจะบรรจุสถิติการเลือกตั้ง และผลการเลือกตั้งปี 2550 ที่วิเคราะห์ไปถึงร้อยละของคะแนนที่ได้ ต่อจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งกันให้เห็นภาพ ว่าการเลือกตั้งในสมัยที่ผ่านมาเป็นอย่างไร แบบเจาะลึกตัวเลขต่อตัวเลข

ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อมองมาถึงข้อมูล ส.ส.แต่ละคน จะมีการนับสถิติการเข้าประชุมสภาของ ส.ส.แต่ละคร รวมทั้งการลงมติร่างพระราชบัญญัติฉบับต่างๆ ที่สำคัญของ ส.ส.แต่ละคน ซึ่งทำให้รู้ว่า ส.ส.ที่เราเลือกเข้ามาสมัยที่แล้วทำงานได้คุ้มค่าสมดังที่เราได้ลงคะแนนเสียงให้หรือไม่ อันเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าจะเลือกคนเดิม เปลี่ยนคนใหม่ หรือไม่เลือกใครได้อย่างถ่องแท้

มาดูสมุดพก ส.ส.ในส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเขตเลือกตั้งที่ 1 (ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ใช้ระบบเขตเดียวเรียงเบอร์) มี ส.ส. 3 คน ประกอบด้วย นาวาตรีสุธรรม ระหงษ์, นายครรชีต ทับสุวรรณ จากพรรคประชาธิปัตย์ และนายมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ จากพรรคพลังประชาชน (ปัจจุบันอยู่ในสังกัดพรรคเพื่อไทย)

เมื่อดูสถิติการเข้าประชุมสภา เมื่อวัดจากค่าเฉลี่ยของ ส.ส.ทั้งประเทศ พบว่าในปี 2552 ส.ส.ทั้ง 3 คนขยันเข้าประชุมสภาครบถึงร้อยละ 100 ที่ขยันเข้าประชุมสภามากที่สุดคือนายครรชิต พบว่าในปี 2552 และ 2553 เข้าประชุมสภาเต็มร้อย รองลงมาคือนายมณฑล ในปี 2551 และ 2553 เข้าประชุมสภาร้อยละ 97 ส่วนนาวาตรีสุธรรมปี 2551 ร้อยละ 94 และปี 2553 ร้อยละ 93

ส่วนการลงมติกฎหมายฉบับสำคัญๆ พบว่ามีความแตกต่างกันในกฎหมายแต่ละฉบับ เช่น ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … พบว่า ส.ส.ทั้งสามคนรับหลักการในวาระที่ 1 และเห็นชอบด้วยในวาระที่ 3 แต่สำหรับนายมณฑลพบว่ามีกฎหมายบางฉบับที่ไม่เข้าร่วมลงคะแนนเสียงในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 เป็นต้น

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดสมุดพก ส.ส.ฉบับย่อได้ในรูปแบบไฟล์ PDF ได้ที่ เว็บไซต์เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (http://www.tpd.in.th) เข้าไปที่แบนเนอร์ “สมุดพก ส.ส.ฉบับย่อ” หรือหน้าแรกของเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลนักการเมือง http://www.thaiswatch.com เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้

คลิกที่นี่ เพื่ออ่านสมุดพก ส.ส.สมุทรสาคร (PDF)



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง