อ่านจุดยืน ผอ. สำนักพุทธศาสนาสมุทรสาคร กรณีตั้งสมเด็จพระสังฆราช

2135

การแต่งตั้งว่าที่สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่การประชุมลับของคณะกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 5 ม.ค. มีมติเสนอให้ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)” เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ต่อไป และได้เสนอไปยังรัฐบาลแล้ว

กลายเป็นประเด็นร้อนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากมีทั้งฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายคัดค้าน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และเดลินิวส์ ได้สัมภาษณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา จังหวัดสมุทรสาคร “พิศาล แช่มโสภา” ซึ่งในอดีตเคยเป็นนักวิชาการศาสนา สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม

ถือเป็นจุดยืนที่น่าจับตามอง ในสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธด้วยกันในขณะนี้

นายพิศาล กล่าวว่า ไม่อยากให้นำกรณีที่มีผู้นำเรื่องพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช เกี่ยวกับเรื่องเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย มากล่าวอ้าง ว่า เป็นมลทินต่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ทั้งยังมีการระบุอีก ว่า พระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชเป็นกฎหมาย ที่มหาเถรสมาคม และคณะสงฆ์ต้องปฏิบัติตาม

ทั้งนี้ พระบัญชา คือ คำสั่งสมเด็จพระสังฆราช หรือ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ที่คณะสงฆ์ไทยต้องปฏิบัติตาม ซึ่งการจะทรงมีพระบัญชาใดๆ นั้น มีเกณฑ์กำหนดตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ว่า ทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม

ส่วนพระลิขิต คือ ข้อเขียนตามพระประสงค์ จัดเป็นคำสอน ไม่ใช่คำสั่ง จึงไม่เป็นกฎหมาย ไม่มีผลต่อการปฏิบัติ เช่น พระวรธรรมคติ พระโอวาท เป็นต้น

การกล่าวอ้างว่า มหาเถรสมาคมขัดพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชทำให้เกิดมลทิน จึงไม่เป็นความจริง เพราะพระลิขิตที่นำมากล่าวอ้างนั้น ขัดกับกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 11 พ.ศ. 2521 ว่าด้วยการลงนิคหกรรม ซึ่งเกี่ยวกับระบบศาลของคณะสงฆ์ไทย แบ่งเป็น 3 ศาล อย่างทางโลก คือ ชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และชั้นฎีกา

โดยในข้อ 26 ระบุว่า การพิจารณาวินิจฉัยลงนิคหกรรมชั้นฎีกาให้เป็นอำนาจของมหาเถรสมาคม เนื่องจากสมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง พระองค์จึงเปรียบเหมือนประธานศาลฎีกา ดังนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่ประธานศาลฎีกา จะมีคำตัดสินว่า นาย ก. หรือ นาย ข. ถูกหรือผิด ขณะที่ศาลชั้นต้นยังไม่พิจารณา

นอกจากนี้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้ ในการดำเนินการเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะ เพื่อทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็เป็นกฎหมายที่ผ่านมติมหาเถรสมาคม ในยุคที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ยังทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคมด้วย

อีกวันหนึ่ง นายพิศาล ยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เกี่ยวพันเรื่องรถไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ระบุว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ จะซื้อรถทำไม ในเมื่อชาวพุทธที่เลื่อมใสมีอยู่มาก ไม่จำเป็นต้องซื้อ ก็มีพอใช้ปฏิบัติศาสนกิจอยู่แล้ว สำคัญที่คนซื้อถวายว่า ได้รถมาอย่างไร

“เรื่องนี้อยากให้ทุกฝ่ายใช้ปัญญาในการคิดพิจารณาว่า ท่านจะต้องซื้อรถทำไม ในเมื่อชาวพุทธที่เลื่อมใสท่านมีอยู่มาก ระดับท่านไม่จำเป็นต้องซื้อ ก็มีพอใช้ปฏิบัติศาสนกิจอยู่แล้ว สำคัญที่คนซื้อถวายว่า ได้รถมาอย่างไร เรื่องนี้ก็พิสูจน์ได้ไม่ยาก ทั้งนี้ ตนเห็นว่า อย่านำการเมืองเข้ามาแทรกแซงในกิจการพระพุทธศาสนาด้วยวิธีการที่ไม่สะอาด แค่นี้พระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ก็มีความรู้สึกที่แย่พออยู่แล้ว”

2135-3

ภาพจาก http://pantip.com/topic/34355763

เป็นที่น่าสังเกตว่า ความเคลื่อนไหวด้านพุทธศาสนาในจังหวัดสมุทรสาครช่วงที่ผ่านมา มีปรากฎการณ์ที่น่าสนใจอยู่ 2 กรณี ได้แก่ กรณีธุดงค์ธรรมชัย ของวัดพระธรรมกาย ที่พบว่าเคยเข้ามาในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครหลายครั้ง แต่ในปี 2559 พบว่าทางส่วนกลางได้เลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ส่วนการตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งพระภิกษุ 1 หมื่นรูป เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2558 ซึ่งปรากฎโลโก้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร เทศบาลนครสมุทรสาคร สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสาคร และประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร ในเอกสารประชาสัมพันธ์

แม้จะมีประชาชนกลุ่มหนึ่งคัดค้านบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรสาคร แต่พบว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าว ที่ปิดถนนเอกชัย ตั้งแต่หน้าห้องสมุดมีชีวิต องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ไปจนถึงสนามกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร เป็นไปด้วยความราบรื่น เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

แม้กระทั่งเมื่อนายวิจักษณ์ ชินโคตรพงษ์ ปลัดจังหวัดสมุทรสาคร ออกคำสั่งให้ตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสาคร และเทศบาลนครสมุทรสาคร ตรวจสอบการจัดกิจกรรมตักบาตรดังกล่าว แต่ก็ไม่พบว่าผลการสอบสวนมีอะไรผิดปกติ

แม้เหตุการณ์ข้างต้น จะบ่งชี้ว่าความเห็นของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสาครไม่น่าแปลกใจอะไร แต่ก็ดูเหมือนว่า ไม่มีความเคลื่อนไหวจากชาวพุทธอีกฝั่งออกมา โดยเฉพาะคนที่เคยออกมาชุมนุมคัดค้านตักบาตรพระสงฆ์ 1 หมื่นรูปเมื่อปีที่แล้ว

ขึ้นอยู่กับว่าชาวพุทธสมุทรสาครจะคิดยังไงกับเรื่องนี้.



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง