รัฐบาลรับซื้อเรือ จุดเปลี่ยน “เมืองประมง”?

2273-1

คำขวัญของจังหวัดสมุทรสาคร “เมืองประมง ดงโรงงาน ลานเกษตร เขตประวัติศาสตร์” ด้วยความเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมประมง เมื่อถึงคราวที่พบกับยาแรงจากมาตรการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และการทำประมงผิดกฎหมาย ไร้การควบคุม ก็กระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หนึ่งในมาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้ คือ การรับซื้อเรือประมงจากเจ้าของเรือโดยตรง

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา ภูเบศ จันทนิมิ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้แจ้งต่องสมาชิกสมาคมฯ ว่า กรมประมงได้เปิดให้เจ้าของเรือประมงไปลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขายเรือ ตามมติคณะทำงานซื้อเรือประมงคืน

โดยเจ้าของเรือประมงที่ประสงค์จะขายเรือ สำหรับเรือประมงที่ไม่มีทะเบียนเรือและอาชญาบัตร, เรือประมงที่มีทะเบียนเรือแต่ไม่มีอาชญาบัตร และเรือประมงที่มีทะเบียนเรือแต่ใช้เครื่องมือไม่ตรงตามอาชญาบัตรที่ได้รับ

สามารถลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 29 ก.พ. ที่สำนักงานประมงจังหวัดในท้องที่

2273-2

หากจำกันได้ ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2558 มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมราคาซื้อขายเรือประมง ที่กำหนดราคากลางเรือประมงขนาด 10-150 ตันกรอส ขึ้นไปที่ต้องออกจากระบบ

จ่ายร้อยละ 50 ของราคากลาง สำหรับเรือที่มีใบอนุญาตและอาชญาบัตรถูกต้อง

จ่ายร้อยละ 25 ของราคากลาง สำหรับเรือที่มีใบอนุญาตแต่ไม่มีอาชญาบัตร หรือเรือที่มีบัตรอาชญาบัตรแต่ไม่มีใบอนุญาต

โดยใช้งบประมาณปี 2559 จากค่าใช้จ่ายในการทำปะการังเทียมรวม 215 ล้านบาท

อีกทั้งมีมติเห็นชอบการเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือประมง โดยธนาคารออมสิน กำหนดให้สมาคมประมงรับรองผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ ประมงจังหวัดรับรองผู้ประกอบการ อื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการในการเปลี่ยนเครื่องมือทำประมง

เจ้าท่าจังหวัดรับรองผู้ประกอบการในเรื่องการปรับปรุงเรือ สมาคมและกรมประมงกำหนดราคากลางของเครื่องมือประมงประเภทต่างๆ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ฝึกอาชีพและเตรียมการด้านการตลาด รวมทั้งให้ธนาคารออมสินพิจารณาอนุมัติวงเงินที่ผ่านการรับรอง

สำหรับการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากที่มีผู้ยื่นอุทธรณ์ 1,844 ราย ได้ส่งข้อมูลให้กรมเจ้าท่าตรวจสอบแล้ว 1,320 ราย และสามารถอุทธรณ์ได้ 873 ราย

ข้อมูลจาก กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ระบุว่า เรือพาณิชย์เกิน 10 ตันกรอส ที่ไม่มีทะเบียนเรือ และใบอนุญาตทำการประมง มีทั้งหมด 197 ลำ ประกอบด้วย 10-20 ตันกรอส 146 ลำ, 20-30 ตันกรอส 49 ลำ และ มากกว่า 30 ตันกรอส 2 ลำ

ส่วนเรือพาณิชย์ที่มีทะเบียนแเรือ แต่ไม่มีอาชญาบัตร มีทั้งหมด 980 ลำ ประกอบด้วย 30-40 ตันกรอส 290 ลำ, 40-50 ตันกรอส 216 ลำ, 50-60 ตันกรอส 265 ลำ, 60-70 ตันกรอส 179 ลำ และมากกว่า 70 ตันกรอส 30 ลำ

รวมแล้ว เฉพาะข้อมูลของกรมประมง มีเรือพาณิชย์ที่ขัดกับกฎหมายทั้งสิ้น 1,244 ลำ

อาจมีคนสงสัยว่า รัฐบาลรับซื้อเรือประมงไปแล้ว … แล้วรัฐบาลเอาไปทำอะไรต่อ

พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง รองหัวหน้าคณะทำงานจัดซื้อเรือประมงคืน เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจเอาไว้ เมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา ว่า งบประมาณที่ใช้ซื้อเรือประมงเอามาจากงบประมาณการซื้อปะการังเทียม มาจัดซื้อเรือออกจากระบบ

แต่ไม่ได้หมายความว่า จะนำเรือที่ซื้อกว่า 1 พันลำไปจมปะการังเทียมทั้งหมด

เบื้องต้นเรือประมงที่รับซื้อ นอกจากส่วนหนึ่งจะนำไปทำปะการังเทียมแล้ว จะให้กรมประมงไปสอบถามหน่วยงานราชการต่างๆ ว่าใครต้องการเรือประมงไปใช้ เพื่อวัตถุประสงค์อะไร กับ นำเรือประมงไปซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศอื่น

อย่างไรก็ตาม แม้การขายเรือประมงแก่รัฐจะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเจ้าของเรือประมง ที่ส่วนใหญ่รักและหวงแหนในอาชีพ แต่ในช่วงที่ผ่านมา ทุกจังหวัดได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การทำประมงที่ผิดกฎหมาย และไร้การควบคุม

โดยสาเหตุหลัก คือ ต่างชาติจับตามอง รวมทั้งเอ็นจีโอบางกลุ่มโจมตีเพื่อหวังกีดกันทางการค้า

เป้าหมายเฉพาะหน้า รัฐบาลคาดหวังว่าไทยจะต้องหลุดจากใบเหลือง “ไอยูยู” สหภาพยุโรปให้ได้ นอกเหนือจากรายงานการค้ามนุษย์ของทางการสหรัฐฯ ที่ไทยยังคงได้รับสถานะ “เทียร์ 3” ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอาหารทะเลไปยังต่างประเทศ

ยาแรงที่รัฐบาลนำมาใช้อย่างหนึ่ง ได้แก่ การตั้งศูนย์ควบคุมการเข้า-ออกเรือ หรือ PIPO, การห้ามเรือที่ผิดกฎหมายแบบเหมารวม ต่ำกว่า 30 ตันกรอส เข้าทำการประมง รวมทั้งล่าสุดกับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง ปี 2558 ที่ห้ามไม่ให้เรือประมงพื้นบ้านออกหาปลาเกิน 3 ไมล์ทะเล

นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ยังส่งผลกระทบไปถึงแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา ที่พบว่าแม้จะเปิดให้ขึ้นทะเบียนซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ก็ประสบปัญหาลูกจ้างหัวหมอ เปลี่ยนงานกะทันหันโดยไม่แจ้งต่อนายจ้าง รวมทั้งปัญหาสัตว์น้ำมีน้อยลง จนภาครัฐต้องออกมาตรการปิดอ่าว 3 เดือน

ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อชาวประมง ทั้งเรือพื้นบ้านและประมงพาณิชย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การฝ่าวิกฤตอย่างหนึ่งของชาวประมง ที่รัฐบาลหยิบยื่นให้ความช่วยเหลือ คือการรับซื้อเรือประมง เพื่อให้ชาวประมงไปประกอบอาชีพหรือธุรกิจอื่น น่าคิดว่าจะต้องมีเรือประมงนับร้อยลำหายไปจากแม่น้ำท่าจีนและอ่าวมหาชัย แม้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องที่ดี แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้

รวมทั้งในส่วนของสถานแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น หรือล้ง ที่มีการแก้ปัญหาด้วยการผลักดันให้ทำเป็นระบบโรงงาน หรือไม่เช่นนั้นบริษัทผู้ผลิตและแปรรูปสัตว์น้ำอาจทำโรงงานแปรรูปเป็นของตนเอง อาจทำให้วิถีของการแปรรูปสัตว์น้ำในสมุทรสาครเปลี่ยนไป

ผลกระทบที่ออกมาเป็นลูกโซ่ จากการหลุดพ้นการกีดกันทางการค้าของต่างชาติ แม้จะไม่ทำให้ความเป็น “เมืองประมง” ของสมุทรสาครเหลือไว้เพียงความทรงจำ แต่ก็เกิดความรู้สึกและคำถามตามมา ถึงการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมประมง

แบบชนิดที่ว่า “เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม …”



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง