รู้จักแนวคิด “สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม” ปฏิรูปคนข่าว ร่วมสร้างปัญญาแก่พลเมือง

0_COVER

“สาครออนไลน์” มีโอกาสเข้าร่วมรับฟังเสวนา เรื่อง กระบวนทัศน์ใหม่ สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม : แนวคิด หลักการ และแนวทางพัฒนา เวทีเครือข่ายสมาคมวิชาชีพสื่อ ภาคกลาง โดยมีมีบรรดาสื่อมวลชนจากหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ผู้ผลิตรายการ พร้อมด้วยนักวิชาการทางด้านสื่อสารมวลชน และภาคประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ที่สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ชั้น 3 เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา

สำหรับแนวคิด “สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม” นั้นมีที่มาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, คณะกรรมาธิการปฏิรูปศิลปะ วัฒนธรรม และศาสนา และคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้มีข้อคิดเห็นร่วมกัน ในการบูรณาการแนวคิดด้านการศึกษา วัฒนธรรมและศาสนา และสื่อ เพื่อสร้างพลเมื่องที่มีคุณภาพ พร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม มีจิตใจเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์ และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือช่วยสื่อสารและบูรณาการเนื้อหาสาระไปสู่ประชาชน ให้สื่อได้ทำหน้าที่เป็นโรงเรียนของสังคม และได้มีการผลักดันแนวคิดไปสู่ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป (ฉบับ ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ) ที่สุดท้ายถูกยกเลิกไป

แม้สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้หมดวาระลงไปแล้ว แต่การขับเคลื่อนงานตามแผนและแนวทางที่วางไว้ ทางด้านปฏิรูปสื่อสารมวลชน ก็ยังคงเดินหน้าต่อไปภายใต้กรอบคิด “สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม” โดยมี 4 เครือข่ายหลัก ได้แก่ สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (ส.ส.ม.ท.), สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีเสวนาใน 4 ภูมิภาค คือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯและภาคกลาง และภาคเหนือ เพื่อขับเคลื่อนและเดินหน้าแนวคิดดังกล่าวต่อไป

1 Jumphon

รองศาสตราจารย์จุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 5 สสส. และอดีตประธานกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้อธิบายในความหมายของ “สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม” เนื่องด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้กระบวนการสื่อสารมีความทั้งหลาย สื่อจึงสามารถให้ความรู้กับสิ่งต่างๆ แก่ประชาชนได้ ไม่ใช่เพียงแค่การนำเสนอแต่ข่าว เพราะข่าวหรือเหตุการณ์ต่างๆ ล้วนมีที่มาที่ไป และต้องการความรู้เพิ่มเติม

ทุกวันนี้บทบาทของสื่อมีหน้าที่ในการให้ข่าวสาร ความรู้ และความบันเทิง แต่สิ่งที่ขาดมากที่สุดคือเรื่องของการให้ความรู้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรทั้งหลาย สามารถที่จะทำให้เกิดความรู้อย่างเป็นรูปธรรม ที่จะสื่อสารต่อไปยังสังคมและประชาชนอย่างมากมาย ซึ่งตนเห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นความสำคัญ ที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 3 ชุด มองเห็นและมีความเข้าใจร่วมกันว่า มันเป็นประเด็นปัญหาทางสังคมที่ต้องช่วยกัน จะทำอย่างไรให้การสื่อสารที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เกิดองค์ความรู้ ทำให้ประชาชนได้รับความรู้เพิ่มเติม

อีกทั้งยังมีความหวังที่อยากจะเห็นห้องเรียนทางสังคมที่เกิดขึ้นจากสื่อ ไปพร้อมกับห้องเรียนทางการศึกษา การปกครองท้องถิ่น ครอบครัว วัฒนธรรมและศาสนา และอยากจะเห็น “นักสื่อสารสร้างสรรค์” (Creative Communicator) ที่จะสื่อสารอย่างไรให้เกิดสันติสุข สันติภาพ ช่วยในการดำเนินชีวิตในรูปแบบต่างๆ

2 Nawarat

อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ อดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปค่านิยมศิลปวัฒนธรรม จริยธรรม และศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า นอกจากสื่อจะเป็นโรงเรียนของสังคมแล้ว สื่อยังเป็นอุณหภูมิ ที่จะวัดความรู้สึกนึกคิดของสังคม สามารถสร้างสรรค์และทำลายได้ ตนเชื่อมั่นว่าบทบาทต่อไปของโลก สื่อจะร้อยรัดและหุ้มโลกด้วยซ้ำไป

เรื่องของวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ในการอยู่ร่วมกัน ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของศิลปะ อันหมายถึงความจัดเจนในการทำงานเท่านั้น การเมือง เศรษฐกิจ แม้แต่สื่อมวลชนต่างก็มีวัฒนธรรม ดังนั้นศิลปวัฒนธรรมจึงสำคัญ เพราะสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและเป็นผลผลิตของสังคม ซึ่งต้องมองให้รอบด้าน เปรียบเทียบกับต้นไม้ ที่สังคมเป็นลำต้น เศรษฐกิจเป็นส่วนราก และการเมืองเป็นส่วนยอดที่ส่งผลซึ่งกันและกัน ถ้าการเมืองเป็นพิษ เศรษฐกิจเป็นภัย ต้นไม้ก็ไม่งอกงาม

นอกจากนี้ อ.เนาวรัตน์ ยังได้กล่าวถึงเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญ ที่ได้ปรากฏเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรมโดยตรงแล้ว 1 มาตรา จากเดิมร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ที่อยู่ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ก็ได้นำมาอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ มาตรา 57 (1) ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ซึ่งตนอยากจะฝากช่วยชี้แจงให้สังคมได้เข้าใจตรงนี้ด้วย

3 Sukunya

ศาสตราจารย์สุกัญญา สุดบรรทัด อดีตรองประธานกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ผู้ริเริ่มหลักคิด “สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม” กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกันของคณะกรรมาธิการหลัก 3 ชุด ของ สปช. ช่วยกันคิดวิเคราะห์ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายทุกวันนี้มาจากอะไร น่าจะเกิดจากการที่คนในสังคมมีคุณภาพเพียงพอหรือไม่ และจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร เพราะแม้แต่สื่อที่จะต้องทำงานตามหลักจริยธรรม ก็ยังนำมาไว้อยู่บนหิ้ง

แนวคิดหลัก “สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม” คือต้องมองทุกอย่างแบบภาพรวม (Holistic Approach) เป็นเชิงบูรณาการ สื่อไม่สามารถจะเป็นห้องเรียนของสังคมเพียงผู้เดียวได้ จะต้องร่วมกับสถาบันอื่นๆ ในสังคม จากการประชุมของคณะกรรมาธิการ สปช. ทั้ง 3 ชุด ก็ได้ตกผนึกออกมาเป็น 5 ห้องเรียนด้วยกัน ซึ่งจะเป็นห้องเรียนที่ใหญ่มาก

สื่ออาจจะกลายเป็นแกนหลักโรงเรียนของสังคมได้ แต่ก็ต้องทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อที่จะสร้างพลเมืองของประเทศที่มีคุณภาพ คือ คิดในภาพรวม (Holistic Thinking) เป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น (Active Citizen) สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ (Change Agent) โดยไม่ต้องเป็นผู้ตาม ที่สำคัญจะต้องคิดใหม่ (New Mindset, Skillset) มีวิสัยทัศน์ เพราะเราไม่สามารถจะเดินไปในท่ามกลางวิกฤติด้วยวิธีคิดแบบเดิมๆ ได้

โดยจะต้องรู้จักสร้างสรรค์ (Creative) เพื่อสังคม, มีจินตนาการหรือมโนทัศน์ (Imaginative) ที่ก้าวไปข้างหน้า, คิดในระดับโลก กระทำในระดับท้องถิ่น (Think Global, Act Local), คิดแบบมีเหตุผล และรู้จักสืบสวน ตั้งคำถาม (Logical, Investigative), มีมนุษยธรรม (Humanistic), รู้จักประสานสัมพันธ์กับส่วนต่างๆ (Cooperative) และรู้จักแบ่งปัน (Sharing) โดยแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป แม้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามก็จะรักษาแนวคิดตรงนี้ให้ยืนหยัดต่อไปยังสังคม

นอกจากนี้ แนวคิดของกรรมาธิการสื่อสารฯ สปช. นั้น จะต้องสร้าง “นักสื่อสารสร้างสรรค์” ที่ไม่ได้หมายความเฉพาะสื่อเท่านั้น แต่รวมไปถึงพลเมืองทุกคนในประเทศนี้ เพราะทุกคนเกิดมาเป็นนักสื่อสารด้วยตัวเองอยู่แล้ว จะเริ่มต้นจากสื่อขึ้นมาก่อน และประสานสัมพันธ์กับภาคส่วนอื่นๆ ทุกอย่างต้องไปด้วยกัน คำว่า นักสื่อสารสร้างสรรค์ คือสอนให้คนสามารถหรือเรียนรู้วิธีที่จะรับเข้า รู้จักเลือกฟัง อ่าน ดู แล้วคิดวิเคราะห์หาคำตอบ และรู้จักวิธีส่งออก ที่จะทำให้เกิดประโยชน์และสร้างสรรค์ พร้อมทั้งรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันสังคม ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยมายาคติ

IMG_20160530_094453

IMG_20160530_094945

IMG_20160530_102211

IMG_20160530_111520

IMG_20160530_114529

IMG_20160530_121241

IMG_20160530_121423

IMG_20160530_131838

IMG_20160530_131909

IMG_20160530_132416

IMG_20160530_133615

ทั้งนี้ในงานดังกล่าว ได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมเสวนา ซึ่งมีทั้งสื่อมวลชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ได้ระดมสมองเพื่อหาแนวทางไปสู่เป้าหมาย “สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม” มีทั้งบทบาทแรกของสื่อต่อจุดเริ่มต้นของโรงเรียนสังคม วิธีการของสื่อ การสะท้อนปัญหาของสื่อ วิธีการและข้เสนอแนะเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย โดยทีมงานจะรวบรวมข้อมูลในแต่ละภาคทั้ง 4 เวที นำมาประมวลผลและวิเคราะห์ จัดทำเป็นแผนนโยบายส่งต่อให้รัฐบาลในช่วงเดือน ก.ค. ต่อไป เพื่อให้แนวคิดดังกล่าวเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง