มองเส้นทางแห่งอำนาจ “ออง ซาน ซูจี” ก่อนเยือนสมุทรสาครครั้งที่สอง

01

“ดอกไม้เหล็กแห่งเมียนมา” ผู้นำสตรีในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในเมียนมา นักโทษการเมืองที่ถูกจองจำภายในบ้านริมทะเลสาบอินยาเป็นเวลานับสิบปี

เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2534 และได้รับการเชิดชูเกียรติอย่างมากมาย เป็น “แม่ซู” ที่ผู้สนับสนุนของเธอเรียกกันด้วยความศรัทธา

แทบไม่มีใครบนโลกนี้ไม่รู้จัก ออง ซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) วัย 71 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา พ่วงด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดี

ในโอกาสที่นางซูจี มีกำหนดที่จะมาเยือนสมุทรสาครอีกครั้ง “สาครออนไลน์” จึงขอย้อนรอยเรื่องราวของเธอ นับตั้งแต่การเดินทางมาที่สมุทรสาครครั้งแรก กระทั่งเข้าสู่สนามการเมืองจนได้รับการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย และการรับบทบาทที่ปรึกษาแห่งรัฐ

เมื่อปี 2555 หลังจากต่อสู้ทางการเมืองภายในเมียนมาอย่างยาวนาน ในที่สุดนางซูจีก็ได้เดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี โดยเดินทางมาที่ประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมประชุมสภาเศรษฐกิจโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออก (World Economic Forum on East Asia) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ

แต่ก่อนหน้าการประชุมจะเริ่ม นางซูจี สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการเยือน จ.สมุทรสาคร อย่างใกล้ชิดเป็นที่แรกถึงสองครั้ง ในวันที่ 30 พ.ค. 2555 ที่ตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร ต่อด้วยศูนย์การเรียนรู้เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ในหมู่บ้านมหาชัยวิลล่า และวันที่ 31 พ.ค. 2555 ที่ศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่า ในโครงการบ้านเอื้ออาทร ต.ท่าจีน

ท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากแรงงานชาวเมียนมานับพัน และบรรดานักข่าวทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งนางซูจีได้กล่าวปราศรัยในครั้งนั้น ว่าต้องการมาดูสภาพความเป็นอยู่ของชาวเมียนมา ฝากให้แรงงานเมียนมาเคารพและรักประเทศไทย ไม่สร้างปัญหา ทำงานกันอย่างเต็มที่ ซึ่งได้ฝากให้ทางการไทยดูแลอย่างเท่าเทียมกัน และหากประเทศเมียนมาพัฒนาขึ้น เมื่อนั้นทุกคนค่อยกลับบ้าน

นับแต่นั้นเป็นต้นมา จ.สมุทรสาคร กลายเป็นที่จับตามองของคนทั้งโลก ในฐานะเมืองที่มีแรงงานชาวเมียนมาอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นกว่าหลายแสนคน ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคการประมง งานกรรมกร และงานรับใช้ในบ้าน

1

2

4 ปีผ่านไป จากผู้นำพรรคฝ่ายค้าน เมื่อการเมืองถูกพลิกขั้วโดยประชาชนเมียนมา ตามวิถีทางประชาธิปไตย นางออง ซาน ซูจี ก็ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารประเทศอย่างเต็มรูปแบบ

เริ่มต้นจากจากการเลือกตั้งทั่วไป 8 พ.ย. 2558 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายถึงร้อยละ 86 กวาดที่นั่งในสภาชนชาติ 255 ที่นั่ง สภาชาติพันธุ์ จานวน 135 ที่นั่ง และสภาระดับท้องถิ่น จานวน 496 ที่นั่ง เอาชนะพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลที่สนับสนุนโดยกองทัพไปอย่างขาดลอย

แม้พรรค NLD จะได้เป็นรัฐบาลบริหาร แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญเมียนมาปี 2551 มีบทบัญญัติเรื่องคุณสมบัติของประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ด้วยเงื่อนไขที่ว่าจะต้องไม่มีบุพการี คู่สมรส บุตร หรือคู่สมรสของบุตร เป็นคนต่างชาติ นั่นทำให้ผู้นำพรรค NLD อย่างนางซูจี ไม่อาจกุมบังเหียนปกครองประเทศได้ด้วยตัวเอง ซึ่งก่อนการเลือกตั้ง นางซูจีได้ประกาศให้คนทั้งโลกรับรู้ว่า หากพรรค NLD ได้รับชัยชนะ เธอจะมีบทบาทอยู่เหนือประธานาธิบดี

แต่หนทางสู่อำนาจสูงสุดในสภา ยังไม่ถูกปิดตายเสียทีเดียว เมื่อนางซูจีได้เลือกนายอู ถิ่นจอ (U Htin Kyaw) นักการเมืองวัย 69 ปี เพื่อนคนสนิทของนางซูจี เข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดี

ในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี นางออง ซาน ซูจี ก็เลือกรับตำแหน่งใน 4 กระทรวงสำคัญ ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน

และแล้วเมื่อสภาชนชาติของพรรค NLD ได้เสนอร่างกฎหมายพิเศษ เพื่อตั้งที่ปรึกษาแห่งรัฐ (State Counsellor) วาระ 5 ปี แก่นางออง ซาน ซูจี ซึ่งมีฐานะเทียบเท่านายกรัฐมนตรี คอยให้คำปรึกษาประธานาธิบดี ทำงานร่วมกับฝ่ายบริหารอย่างครอบคลุม

ไม่นานนักประธานาธิบดีถิ่น จอ ก็ได้ลงนามในกฎหมายดังกล่าว ส่งผลให้เธอได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ คนแรกในประวัติศาสตร์ของเมียนมา ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้ลาออกจากรัฐมนตรี 2 กระทรวง เหลือคุมเพียงแค่กระทรวงการต่างประเทศ และทำเนียบประธานาธิบดี

สำหรับภารกิจการเยือนประเทศไทยครั้งที่สอง ของนางออง ซาน ซูจี ในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐ และ รมต.ต่างประเทศ คือการเข้าพบและหารือข้อราชการกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือด้านแรงงาน และบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา

โดยนางซูจี เลือกที่จะไปเยือน จ.สมุทรสาคร เป็นแห่งแรกอีกครั้ง เพื่อพบปะพร้อมกล่าวปราศรัยต่อแรงงานชาวเมียนมา ที่ตลาดทะเลไทย 23 มิ.ย. 2559 เวลา 16.30 – 18.30 น.

แน่นอนว่าจะมีแรงงานชาวเมียนมานับพัน ออกมาให้กำลังใจนางซูจีเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เพียงแต่ความใกล้ชิดอาจน้อยลงกว่าครั้งก่อน เนื่องจากบทบาททางการเมืองของเธอที่เปลี่ยนไป

กิตติกร นาคทอง



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง