ถอดรหัส “มาตรา 44” เด้งฟ้าผ่า “แมนรัตน์”

แมนรัตน์

คืนวันศุกร์แห่งชาติของจังหวัดสมุทรสาคร หลังผ่านพ้นวันประวัติศาสตร์ที่ “อองซาน ซูจี” มาเยี่ยมยามถามไถ่แรงงานที่มาต้อนรับอย่างมืดฟ้ามัวดินท่ามกลางสายฝน

แต่ไม่ทันพ้นวัน คำสั่งคณะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 เด้งข้าราชการและตำรวจลอตใหม่ 23 คน ก็แปะโป้งแบบที่ใครๆ ก็ไม่ทันตั้งตัว

ชัดเจนที่สุด คือการสั่งเด้งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร “แมนรัตน์ รัตนสุคนธ์” ไปปฏิบัติราชการในสํานักงานปลัดกระทรวง กระทรวงมหาดไทย

เท่านั้นยังไม่พอ รองอัยการจังหวัดสมุทรสาคร “นันทวุธ อุตสาหตัน” อายุเพียง 31 ปี ก็ย้ายไปปฏิบัติราชการในสํานักงานอัยการสูงสุด

อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร “ทรงวุฒิ โชติมา” ไปปฏิบัติราชการในสํานักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม

แรงงานจังหวัดสมุทรสาคร “รัตนา พละชัย” ไปปฏิบัติราชการในสํานักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน

รวมทั้งนายตำรวจอย่างผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสาคร “พล.ต.ต. สรไกร พูลเพิ่ม” ก็ยังต้องไปปฏิบัติราชการในศูนย์ปฏิบัติการ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ

อาจจะเรียกได้ว่า เป็นคำสั่งมาตรา 44 ที่ออกมาแบบไม่ทันได้ร่ำลาคนสมุทรสาคร เพราะวันต่อมาก็เป็นวันหยุดราชการเสียแล้ว

สาเหตุที่มีคำสั่งเด้งข้าราชการและตำรวจลอตนี้ออกมา ตามเอกสารระบุว่า ถูกร้องเรียนหรือกล่าวหาว่าปล่อยปละละเลยให้มีการกระทําความผิดเกิดขึ้นในพื้นที่ของตนหรือมีการทุจริต หรือประพฤติมิชอบ

หรือดําเนินการหรือไม่ดําเนินการตามอํานาจหน้าที่จนเกิดความเสียหายแก่ทางราชการและมีมูลอันสมควรตรวจสอบ

โดยคำสั่งดังกล่าวให้ ศูนย์อํานวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน จี้ให้หน่วยงานต้นสังกัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก ศอตช.

ก่อนหน้านี้ คสช. ได้ออกคำสั่งมาตรา 44 เด้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐไปแล้ว 3 ลอต

ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่าก่อนหน้านี้ เตรียมที่จะพิจารณารายชื่อลอตที่ 4 โดยเน้นไปที่เรื่องชุดปฏิบัติการของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เข้าทลายอาบอบนวดนาตารี พื้นที่ สน.ห้วยขวาง แล้วพบโพยจ่ายส่วยเป็นหลัก

แต่ไม่นึกว่าจะมีเรื่องเซอร์ไพร์สไปถึงผู้ว่าฯ แมนรัตน์ และผู้การฯ สรไกร ที่เสร็จสิ้นการต้อนรับนางซูจีไปหมาดๆ

น่าสนใจตรงที่ หนึ่งในวาระการมาเยือนสมุทรสาครของนางซูจี คือการกล่าวว่าจะผลักดันเอกสารรับรองสัญชาติหรือหนังสือแสดงตัวบุคคล (ซีไอ) เพื่อให้แรงงานต่างด้าวทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย

รัฐมนตรีแรงงานของเมียนมา “อู เต็ง ส่วย” ถึงกับสัญญาว่าจะทำให้เอกสารนี้ถึงมือแรงงานเอง โดยไม่ผ่านนายหน้า

พร้อมย้ำว่าจากนี้อย่าได้ใช้ “กระบวนการนายหน้า” เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารใดๆ อีก

แม้ว่า คสช. จะไม่ระบุเหตุผลในการออกมาตรา 44 กับผู้บริหารจังหวัด ข้าราชการ และนายตำรวจในจังหวัดสมุทรสาครในครั้งนี้อย่างเด่นชัดว่าเกิดเรื่องอะไร

แต่ดูจากทรงแล้ว คาดว่ามีปัญหาเรื่องแรงงานชาวเมียนมา ที่พยายามสื่อสารและร้องทุกข์ไปยังทางการเมียนมาโดยตลอด โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ในช่วงที่นางซูจีเดินทางมาประเทศไทย

ต้องรอดูว่า หัวหน้า คสช. รวมทั้ง ศอตช. จะชี้แจงถึงการออกคำสั่งไว้ว่าอย่างไร อย่างช้าที่สุดก็เป็นช่วงวันอังคารที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี นักข่าวสายการเมืองคงไม่พลาดที่จะถามประเด็นนี้

อย่างไรก็ตาม การออกคำสั่งมาตรา 44 อาจกระทบกับอนาคตทางราชการของนายแมนรัตน์ เพราะที่ผ่านมาข้าราชการลอต 1 ถึงลอด 3 นับร้อยคน ถึงวันนี้ยังไม่มีใครสามารถปลดล็อกไปได้

แม้จะเคยมีแนวคิดเสนอปลดล็อกข้าราชการที่ตรวจสอบแล้วเสร็จไปถึงหัวหน้า คสช. มาแล้วก็ตาม อย่างมาก นายแมนรัตน์น่าจะถูกแช่แข็งยาวไปจนถึงพ้นยุค คสช.

หน้าที่ในฐานะ “พ่อบ้าน” แก่คนสมุทรสาครจึงต้องให้รองผู้ว่าฯ สมุทรสาคร “ณรงค์ศักดิ์ เฉลิมเกียรติ” ทำหน้าที่ไปพลางๆ ก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ว่าฯ สมุทรสาครขึ้นมาใหม่ หรือ กระบวนการของ ศอตช. จะเสร็จสิ้น

กิตตินันท์ นาคทอง



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง