แบรนด์โลจิสติกส์ JWD กับ “แปซิฟิค ห้องเย็น” ชื่อนี้มีที่มา

2649-1

ภาพจาก http://www.jwd-group.com/upload/attach/stars-updates-vol-1-2016.pdf

ช่วงนี้ใครที่สังเกตเห็นรถกระบะบรรทุกสินค้าแช่แข็งภายใต้ชื่อ เจดับเบิ้ลยูดี (JWD) ในพื้นที่พระราม 2 สมุทรสาคร อาจมีคนสงสัยว่า หน้าตาแบรนด์ที่ดูทันสมัยนั้น มาจากต่างชาติหรือไม่

เพราะเราจะเห็นผู้ประกอบการโลจิสติกส์แบรนด์ เจดับเบิ้ลยูดี อยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรม เช่น บางนา-ตราด สมุทรปราการ มีนบุรี สุวินทวงศ์ และพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง

ด้วยความสงสัยจึงไปหาคำตอบ กลับพบว่า “เจดับเบิ้ลยูดี” เป็นแบรนด์โลจิสติกส์สัญชาติไทย ที่รีบแรนด์ดิ้งในช่วงที่นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา

โดยมี บริษัท แปซิฟิค ห้องเย็น จำกัด ในซอยวัดเทพนรรัตน์ หมู่ 2 ต.นาดี อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เข้ามาอยู่ในส่วนหนึ่งของกลุ่ม เจดับเบิ้ลยูดี

ชื่อของ แปซิฟิค ห้องเย็น ซึ่งมี “จิตชัย นิมิตรปัญญา” เป็นเจ้าของในฐานะประธานบริษัท นักธุรกิจในจังหวัดหลายคนอาจเคยรู้จัก ในฐานะนักธุรกิจอาหารทะเลที่คร่ำหวอดในวงการกว่า 20 ปี

เขาเป็นเจ้าของ บริษัท โชคสมุทรมารีน จำกัด ธุรกิจอาหารทะเล ปลาแช่แข็ง ซึ่งมีโรงงานแปรรูปและรับจ้างผลิต (OEM) อยู่ย่านถนนเจษฎาวิถี ต.โคกขาม

กระทั่งในปี 2539 ได้ก่อสร้างห้องเย็นที่ซอยวัดเทพนรรัตน์ หมู่ 2 ต.นาดี อ.เมืองฯ ภายใต้ชื่อ บริษัท แปซิฟิค ห้องเย็น จำกัด พื้นที่ 3,000 ตารางเมตร บนที่ดิน 66 ไร่ 3 งาน 6 ตารางวา

ในปี 2546 ได้ขอรับการส่งเสริมการลงทุน โครงการขยายกิจการห้องเย็น ความจุรวม 9,400 ตันสินค้า เงินลงทุน 147 ล้านบาท จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

ต่อมา “ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา” เจ้าของ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของภรรยา “อัจฉรา นิมิตปัญญา” มีแนวคิดที่จะขยายกิจการห้องเย็น

ชื่อของ เจดับเบิ้ลยูดี ในวงการโลจิสติกส์ยุคนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศครบวงจร ทั้งคลังสินค้า รับฝากและบริหารสินค้าทั่วไป สินค้าอันตราย รถยนต์

รวมทั้งให้บริการขนส่งสินค้า บริการขนย้ายทั้งในและต่างประเทศ บริการรับฝากเอกสารและข้อมูล และขยายการให้บริการไปยังภูมิภาคอาเซียน

จิตชัย กล่าวเอาไว้กับสื่อฉบับหนึ่งว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ทุกวันนี้มีการแข่งขันสูง เราคงต้องการหาพันธมิตรเพื่อสร้างความแข็งแกร่งเติบโตแข็งแรงในด้านธุรกิจ

เจดับเบิ้ลยูดี เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับ แปซิฟิค ห้องเย็น ตั้งแต่ปี 2557 โดยเริ่มจากบริหารห้องเย็นร่วมกันที่ถนนบางนา-ตราด กม.19 จ.สมุทรปราการ และถนนสุวินทวงศ์ กม. 64 จ.ฉะเชิงเทรา

โดยก่อนหน้านี้ เจดับเบิ้ลยูดี ได้ร่วมกับ บริษัท คิงฟิชเชอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด จัดตั้ง บริษัท เจพีเค โคลด์สโตเรจ จำกัด ทำธุรกิจห้องเย็น ที่ถนนบางนา-ตราด กม.19 ปัจจุบันคิงฟิชเชอร์ถือหุ้น 1 ใน 3

ก่อนที่จะรวมกิจการ แปซิฟิค ห้องเย็น เข้ามาอยู่เป็นกลุ่มเดียวกันกับ เจดับเบิ้ลยูดี ในเวลาต่อมา

2649-2

ภาพจาก http://www.jwd-group.com/th/services-inland-industry-food-cold-location

ปัจจุบัน เจดับเบิ้ลยูดี ถือหุ้น แปซิฟิค ห้องเย็น ในนาม บริษัท จาแพ็ค โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเกือบทั้งหมด ขณะที่ จิตชัย และภรรยา ถือหุ้นใน เจดับเบิ้ลยูดี รวมกันร้อยละ 16.07

โดย จิตชัย ยังดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เจดับเบิ้ลยูดี อีกด้วย

ทำให้ธุรกิจห้องเย็นของ เจดับเบิ้ลยูดี ประกอบด้วย แปซิฟิค ห้องเย็น 27,996 ตารางเมตร

เจดับเบิ้ลยูดี แปซิฟิค สุวินทวงศ์ 4,540 ตารางเมตร และเจพีเค โคลด์ สโตเรจ บางนา-ตราด กม.19 อีก 4,735 ตารางเมตร ซึ่งทั้งสองแห่งมีเขตพื้นที่ปลอดอากรแห่งแรกในไทย

การร่วมกันเป็นพันธมิตรในธุรกิจห้องเย็น ทำให้ เจดับเบิ้ลยูดี มีขีดความสามารถในการรองรับห้องเย็นทั้งที่มหาชัย สุวินทวงศ์ และถนนบางนา-ตราด กม. 19 ได้มากถึง 9 หมื่นตัน

นับแค่เฉพาะ แปซิฟิค ห้องเย็น มีพื้นที่จัดเก็บรองรับได้มากถึง 5 หมื่นตัน พื้นที่รับฝากและจัดเก็บสินค้าให้เลือกตั้งแต่ 25 องศาเซลเซียส สูงสุดต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง -35 องศาเซลเซียส

ถือเป็นเจ้าตลาดห้องเย็นในปัจจุบัน จากปริมาณคลังสินค้าเย็นในไทย ผู้ประกอบการมากกว่า 100 บริษัท และมีความสามารถในการจัดเก็บมากกว่า 6 แสนตันทั่วประเทศ

2649-3

ภาพจาก http://www.jwd-group.com/th/services/food-cold-chain

กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้ประกอบการในประเทศที่นำเข้าและผลิตอาหารสด ซึ่งอยู่ระหว่างรอการแปรรูปและการส่งออก ผู้ประกอบการอาหารแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูปที่รอการส่งออก

โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการมากกว่า 200 บริษัท เฉพาะในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ก็เป็นหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ที่เลือกใช้บริการ

อย่างไรก็ตาม สภาวะการแข่งขันในช่วงที่ผ่านมา คู่แข่งในพื้นที่ใกล้เคียงที่ให้บริการห้องเย็นที่อยู่ใกล้เคียง ได้แก่ ปิติมหาชัยห้องเย็น, เทพมณี โคลต์สตอเรจ (มหาชัย) และ เอ็มเคห้องเย็น

ท่ามกลางทำเลที่ตั้งมีความต้องการใช้งานคลังสินค้าแช่เย็นและแช่แข็งค่อนข้างมาก ทำให้การแข่งขันอยู่ในระดับปานกลาง โดยเฉพาะการต่อสู้ด้านราคา

ถึงกระนั้น แปซิฟิค ห้องเย็น ภายใต้แบรนด์โลจิสติกส์ เจดับเบิ้ลยูดี เลือกที่จะเน้นให้บริการหลากหลายรูปแบบ มากกว่าคำว่า “ห้องเย็นรับฝาก” แบบในอดีต

มีทั้งทั้งห้องเย็น การขนส่งด้วยระบบความเย็น การคัดแยก การจัดกลุ่ม และการจัดเรียงตามความต้องการของลูกค้า ภายใต้แนวคิด Cold Chain Management

รวมทั้งการใช้มาตรฐาน ISO, GMP การนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น เทคโนโลยี Mobile Pallet โดยไม่ต้องใช้รถรถฟอร์คลิฟต์วิ่ง หรือ อาคารจัดเก็บสินค้าสมัยใหม่ ใช้ฉนวนที่หนาเป็นพิเศษ

ธุรกิจห้องเย็นในจังหวัดสมุทรสาครมีมากกว่า 4 แสนตัน การสร้างความแตกต่างโดยใช้มาตรฐานระดับสากล ผสานกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการยุคนี้นิยมนำมาใช้ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

อย่างน้อยภาพของแบรนด์เจดับเบิ้ลยูดี จากรถขนส่งสินค้า วันหนึ่งอาจจะเป็นที่คุ้นเคยเหมือนเช่นแบรนด์โลจิสติกส์ชื่อดังอย่าง DHL, FedEx หรือแม้กระทั่ง Kerry Express ก็เป็นได้

– กิตตินันท์ นาคทอง –



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง