ลุ้น! 3 แนวเส้นทาง “กัลปพฤกษ์-พุทธสาคร” จะไปทางไหน?

2656-1

โครงการศึกษาความเหมาะสมของโครงการส่วนต่อขยาย ถนนกัลปพฤกษ์ – ถนนพุทธสาคร ซึ่งสำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวงชนบท ว่าจ้าง บริษัท อินทิเกรเกด เอนจิเนียริ่ง คอนศัลแทนท์ จำกัด และ บริษัท เอพชิลอน จำกัด

ขณะนี้อยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) โดยมีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม ถึง 30 กันยายน 2559 รวมทั้งหมด 9 เดือน

พื้นที่ศึกษาโครงการ ประกอบด้วย แขวงและเขตบางบอน, แขวงหลักสอง เขตบางแค และแขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร และ ต.สวนหลวง, ต.คลองมะเดื่อ และ ต.แคราย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร รวมทั้งหมด 2 จังหวัด 3 เขต 1 อำเภอ 3 แขวง และ 3 ตำบล

ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (กลุ่มย่อยระดับพื้นที่) บริษัทที่ปรึกษาโครงการได้นำเสนอแนวเส้นทางที่เหมาะสม 3 เส้นทางแก่ประชาชน ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

2656-2

แนวเส้นทางที่ 1 ระยะทาง 14.071 กิโลเมตร – เริ่มต้นจากถนนกัลปพฤกษ์ เลี้ยวโค้งไปตามทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านซอยกาญจนาภิเษก 3 บริเวณคลองบางอ้าย แล้วเลี้ยวโค้งไปตามทิศตะวันตก ผ่านถนนบางบอน 3 บริเวณหมู่บ้านสุขสบาย

จากนั้นเลี้ยวโค้งไปตามทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านถนนบางบอน 4 บริเวณซอยประสิทธิ์ 4/3 หลังจากนั้นผ่านถนนบางบอน 5 บริเวณหมู่บ้านชมวิว ก่อนผ่านถนนหนองแขม-วัดศรีนวลธรรมวิมล ห่างจากวัดศรีนวลธรรมวิมล 1 กิโลเมตร

ผ่านถนนคลองสี่วาตากล่อม บริเวณปากซอยทองหลาง 1 แล้วโค้งซ้ายลงมาผ่านถนนแคราย-คลองมะเดื่อ ห่างจากสามแยกแคราย 560 เมตร อ้อมทางด้านหลังหมู่บ้านช้าง 1 สิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับกระทุ่มแบน

2656-3

แนวเส้นทางที่ 2 ระยะทาง 13.661 กิโลเมตร – เริ่มต้นจากถนนกัลปพฤกษ์ เลี้ยวโค้งไปตามทิศตะวันตก ผ่านซอยกาญจนาภิเษก 3 บริเวณที่ดินสวนผลไม้ ใกล้กับแฟลตอาคารสงเคราะห์ข้าราชการและลูกจ้างของกรุงเทพมหานคร บางบอน จากนั้นลงมาทางทิศใต้ ผ่านซอยร่มไทร ผ่านคลองบางโคลัด แล้วเลี้ยวโค้งขวา ผ่านถนนบางบอน 3 บริเวณสวนสุขภาพบางบอน กับคลองรางไผ่

ผ่านถนนบางบอน 4 บริเวณซอยสถาพพร 1 แล้วผ่านถนนบางบอน 5 บริเวณปากทางบางบอน 5 ซอย 5 จากนั้นถนนจะโค้งไปทางซ้าย ผ่านถนนคลองสี่วาตากล่อม ห่างจากสามแยกแคราย 500 เมตร สิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับกระทุ่มแบน

2656-4

แนวเส้นทางที่ 3 ระยะทาง 13.122 กิโลเมตร – เริ่มต้นจากถนนกัลปพฤกษ์ เลี้ยวโค้งไปตามทิศตะวันตก ผ่านซอยกาญจนาภิเษก 3 บริเวณที่ดินสวนผลไม้ ใกล้กับแฟลตอาคารสงเคราะห์ข้าราชการและลูกจ้างของกรุงเทพมหานคร บางบอน จากนั้นเลี้ยวโค้งซ้ายตัดกับซอยร่มไทร ผ่านถนนบางบอน 3 บริเวณบางบอน 3 ซอย 5 (ซอยบ้านนายเหรียญ)

ขนานไปกับซอยบ้านนายเหรียญเล็กน้อย แล้วโค้งซ้าย ผ่านถนนบางบอน 4 บริเวณบางบอน 4 ซอย 7 หมู่บ้านวรารมย์ แล้วโค้งขวา ผ่านถนนบางบอน 5 บริเวณหมู่บ้านวรารมย์ ห่างจากปากทางบางบอน 5 ซอย 7 ไปทางทิศเหนือ 370 เมตร ผ่านหลังหมู่บ้านพระปิ่น 4 ผ่านถนนหนองแขม-วัดศรีนวลธรรมวิมล

ก่อนเลี้ยวโค้งไปตามทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านบางบอน 5 ซอย 7 บริเวณโรงงานวิจิตรการช่าง ข้ามคลองสี่วาตากล่อม บริเวณใกล้สามแยกบางบอน 5 ซอย 5 แล้วผ่านถนนแคราย-คลองมะเดื่อ ห่างจากสามแยกแคราย 560 เมตร อ้อมทางด้านหลังหมู่บ้านช้าง 1 สิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับกระทุ่มแบน

2656-5

ทั้งนี้ ทั้งสามแนวเส้นทาง จะอยู่ห่างจากถนนแคราย-คลองมะเดื่อ ไปทางถนนเลียบคลองแคราย 600 เมตร และถนนเลียบคลองหมื่นปรารมย์ 550 เมตร และบริเวณจุดสิ้นสุดโครงการ จะมีการก่อสร้างทางแยกต่างระดับขึ้นมาใหม่ เป็นสะพานข้ามถนนพุทธสาคร ทิศทางขาออกมุ่งหน้า อ.กระทุ่มแบน และอีกสะพานหนึ่งจะม้วนไปทางถนนพุทธสาคร

รวมทั้งทิศทางขาเข้าจะเป็นสะพานข้ามถนนพุทธสาครทางตรงมุ่งหน้าไปทางถนนกัลปพฤกษ์ โดยจะเวนคืนที่ดินบางส่วนบริเวณห้างหุ้นส่วนจำกัด โชคทรงพล ซึ่งเป็นบริษัทรับถมที่ดิน เพื่อสร้างทางออกไป อ.กระทุ่มแบนแห่งใหม่ และก่อสร้างสะพานทางแยกต่างระดับเพิ่มเติมอีกด้วย

2656-6

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้คัดเลือกแนวสายทางที่เหมาะสมแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ทันที

เพราะยังต้องผ่านกระบวนการอีกมากมาย อาทิ การสำรวจออกแบบถนน ใช้เวลา 1 ปี ออกพระราชกฤษฎีกาที่ดินที่ถูกเวนคืน 1 ปี สำรวจอสังหาริมทรัพย์ 1 ปี จากนั้นจึงกำหนดค่าทดแทนและประกาศ ทำสัญญาจ่ายค่าเวนคืน และรับเงินค่าเวนคืน รวมทั้งสิทธิ และหน้าที่ของผู้ถูกเวนคืน ใช้เวลา 3 ปี และดำเนินการก่อสร้างอีก 3 ปี

แม้การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะมีการก่อสร้าง แต่อีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย เพราะไม่ต้องการเกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และเสนอให้ทำโครงการรถไฟฟ้าในพื้นที่ หรือพัฒนาหรือขยายเส้นทางเดิมให้กว้างขึ้นแทน

รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับการกีดขวางทางน้ำ ที่กระทบพื้นที่รับน้ำที่จะระบายลงคลองสาธารณะ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ และกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม เรื่องอากาศ น้ำท่วม และพลังงาน และความกังวลถึงค่าชดเชยที่จะได้รับ

ต้องดูกันต่อไปว่า ผลที่สุดแนวเส้นทางแนวใดจะได้รับการคัดเลือก และกรมทางหลวงชนบทจะเดินหน้าโครงการต่อไปหรือไม่

– กิตตินันท์ นาคทอง –

คลิกที่นี่ เพื่อติดตามข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการศึกษาความเหมาะสมของโครงการส่วนต่อขยายถนนกัลปพฤกษ์ – ถนนพุทธสาคร จากสำนักนายกรัฐมนตรี



11 ความคิดเห็น เรื่อง “ลุ้น! 3 แนวเส้นทาง “กัลปพฤกษ์-พุทธสาคร” จะไปทางไหน?”

  1. สราวุธ กล่าวว่า:

    ก.ค. 15, 16 at 12:59 am

    ผมคิดว่าไม่ควรสร้าง หากต้องการจะเพิ่ม traffic จากพุทธสาคร เข้าเมือง น่าจะตัดที่ พุทธสาครไปถนนพระราม 2 เส้นทางตรงๆ และไม่มีไฟจราจร และตรงไปด่วนสุขสวัสดิ์ได้ก็สะดวก

    อีกเรื่องนึง ค่าที่ปรึกษาโครงการนี้ ที่จ่ายให้บริษัทเอกชน 10 ล้าน แพงไปไหมครับ

    สร้างไม่สร้าง ยังไม่รู้ เสียดายงบ 10 ล้าน

  2. ประคอง กล่าวว่า:

    ก.ค. 27, 16 at 1:30 pm

    จากที่อ่าน ผมว่าโครงการนี้ตังใจจะให้เส้นถนนของโครงการไม่ตัดผ่านบรรดาโรงงาน และบ้านหลังใหญ่ๆ แต่ให้มาลงที่ชุมชนเล็กๆ พวกบ้านที่เป็นไม้ เพื่อที่จะได้จ่ายค่าเวนคืนน้อยๆ แทนหรือเปล่าครับ ช่วยชี้แจงเพิ่มเติมด้วย ก็ดึนะครับ

  3. ปรี กล่าวว่า:

    ก.ค. 28, 16 at 2:09 am

    พอมีข่าวจะสร้างถนน ที่ดินแถวนั้นก็ราคาพุ่ง ส่วนคนที่โดนถนนก็หมดตัวกันไป จริงๆน่าจะทำถนนบนที่ดินของคนที่เห็นด้วยมากกว่าคนไม่เห็นด้วยนะ

  4. วรสิฐ จารุจินดา กล่าวว่า:

    ส.ค. 13, 16 at 9:38 am

    ควรตัดถนนอย่างยิ่งเพื่อระบายการจราจรบนถนนบางบอน 3 และบางบอน 5 ที่หนาแน่นมาก มีโรงเรียนสารสาสน์วิเทศน์บางบอน และกรพิทักษ์ ทุกวันนี้ต้องจัดจราจรในซอยบางบอน 3 มั่วไปหมด รถวิ่งกันกินเลนปกติชุลมุนมาก เสี่ยงต่ออุบัติเหตุมาก เคยเกิดอุบัติเหตุกับผมเองต้องรับผิดชอบเอง ขอให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเพราะเป็นโครงการที่ดีมาก อนาคตควรตัดถนนต่อจากพุทธสาครออกพระราม 2 โดยตรงจะยิ่งดีไม่ต้องเลี้ยวไปกระทุ่มแบนอย่างทุกวันนี้

  5. พรพจน์ กล่าวว่า:

    ส.ค. 21, 16 at 5:41 am

    ไม่เห็นด้วยการในสร้างถนนสายนี้ แต่รัฐควรส่งเสริมระบบขนส่งแบบรางจะดีกว่า เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านของไทย คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย เพราะประหยัดงบประมาณในการก่อสร้างและการบำรุงรักษา กระทบกับประชาชนเป็นส่วนน้อย ขนถ่ายประชาชนเป็นจำนวนมาก ขนส่งสินค้าก็ได้ ส่วนการสร้างถนนในกรุงเทพ ปริมณฑล จะเห็นได้ว่า สร้างเท่าไร ก็ไม่พอ รถยังติดเหมือนเดิม ถ้าจะแก้ปัญหาการคมนาคม การด้วยการสร้างถนน รัฐจะต้องสร้างถนนไปเรื่อยๆ จนไม่รู้จบ นอกจากนี้รัฐควรพัฒนาถนนที่มีอยู่แล้วคือ ถนนเพชรเกษม ถนนเอกชัย และถนนพระราม 2 ให้เกิดประโยชน์มากกว่านี้

  6. จตุพร พุ่มพวง กล่าวว่า:

    ส.ค. 28, 16 at 5:36 pm

    เห็นด้วยอย่างมากเพราะถ้ารถไม่ติดมลผิตก็ไม่เกิด ขอเสนอเพิ่มเติมจากพุทธรมลฑลสาย 3 ฝั่งเหนือของถนนเพรชเกษมสมควรจะทำมาเชื่อมต่อกับแนวทางที่1 จะระบายรถที่จะเข้าเมืองไปทางบางแค คนที่ไปทำงานทางสาธรจะได้ขับตรงเข้าเส้นแนวทางที่1ได้เลย ไม่ต้องผ่านถนนเพรชเกษมไปเข้าถนนกาญจนาภิเษกถึงจะเข้าถนนกัลปพฤกษ์ ทำเส้นทางแนวที่1 จะระบายรถถนนเอกชัย ถนนบางบอน3ที่เชื่อมต่อถนนเพรชเกษม69 ถนนบางบอน5ที่เชื่อมต่อถนนเพรชเกษม81 ในบรรดาถนนที่กล่าวมานี้รถติดมาก

  7. pammy กล่าวว่า:

    ส.ค. 29, 16 at 9:01 am

    เห็นด้วยว่าควรสร้างอย่างยิ่ง เพราะช่วยระบายรถ ซอกเล็กซอกน้อย ไม่ต้องไปออกถนนเพชรเกษม หรือ ถนนเอกชัย เมืองบริวารด้านนี้ ถูกเพิกเฉยมานาน โดยเฉพาะจากกระทุ่มแบน เข้าสู่ตัวเมืองชั้นใน เช่นแถว สาธร วงเวียนใหญ่ ออกมาเจอเพรชเกษม ก็ติดแง่กแล้ว ได้โปรดสร้างไวๆเถิด ถ้าเป็นไปได้ ทำรางรถไฟฟ้า ตรงกลางมาด้วย เผื่อไว้ยิ่งดี ที่อยากให้รีบทำมากๆเพราะ คนกระทุ่มแบน บ้านแผ้ว จะได้ขนพืชเกษตร เข้าสู่กรุงเทพชั้นในได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

  8. สายใจ กล่าวว่า:

    ส.ค. 31, 16 at 8:34 am

    ไม่เห็นด้วยค่ะ

    ควรจะขยาย แนวถนนเดิม มากกว่าที่จะ มาทำถนนใหม่
    และ ควรเลือกเส้นทางที่ประชาชนไม่เดือดร้อน

    คนที่เห็นด้วย คือ คนที่ไม่ถูกเวนคืน ไม่ได้เดือดร้อน ก็ย่อมเห็นด้วย หากถามคนที่เดือดร้อน หรือ โดนเวนคืน คงไม่มีใครเห็นด้วย

  9. sakda กล่าวว่า:

    ส.ค. 31, 16 at 9:48 am

    ไม่ทราบว่ามีผลสรุปของเส้นทางออกมาแล้วหรือยังครับ

  10. โบว์เขียว สายใย กล่าวว่า:

    ธ.ค. 23, 16 at 2:32 am

    เส้นทางเลือกมี3 ทาง ควรสรุป มาสักหนึ่งเส้นทางจะดีกว่าไหม ปัญหาจะได้น้อยลง ผมสนับสนุนมากๆครับ

  11. ชาวบ้านตัวจริง กล่าวว่า:

    ม.ค. 30, 17 at 10:09 am

    สนับสนุนอย่างยิ่ง เข้ากรุงเทพชั้นใน จะสะดวกรวดเร็วมากๆ ไม่ต้องมาผ่านถนนเอกชัย เพชรเกษม หพระราม 2 ซึ่งหนาแน่นมากอยู่แล้ว
    คนย่านถนนเศรษฐกิจ สมุทรสาคร นครปฐม จะได้ประโยชน์มาก


แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง