“ศูนย์สุขภาพจิตที่ 5” ประชุมเครือข่ายเตรียมความพร้อม เยียวยาจิตใจบุคคลในภาวะวิกฤต

0-002

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2559 ศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 จังหวัดราชบุรี ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมเครือข่ายเพื่อการสื่อสารและช่วยเหลือเยียวยาจิตใจบุคคลในภาวะวิกฤต เขตสุขภาพที่ 5 ปี 2559 ณ โรงแรมโคโค่วิว อ.เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม

โดยมี นพ.สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นประธานในพิธีเปิด และ น.ส.รัชวัลย์ บุญโฉม ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 กล่าวรายงาน การจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมเครือข่ายบุคลากรทั้งในและนอกระบบสาธารณสุข ในการสื่อสารและการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจบุคคลในภาวะวิกฤตตามบริบทของพื้นที่

1-003

2-004

3-005

5-007

6-008

พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานวิกฤตสุขภาพจิตระดับพื้นที่ร่วมกัน โดยผู้เข้าร่วมประชุม มีทั้งผู้รับผิดชอบงานด้านสุขภาพจิต และเครือข่ายสื่อมวลชน ในพื้นที่ 8 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งสิ้นจำนวน 40 คน

กิจกรรมประกอบด้วยการบรรยาย แบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในภาวะวิกฤต เสนอแนะแนวทางการสื่อสารและการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจในระดับพื้นที่ และฝึกปฏิบัติการสื่อสารและช่วยเหลือเยียวยาจิตใจบุคคลในภาวะวิกฤต โดยมีวิทยากร น.ส.ราณี ฉายินทุ นักสังคมสงเคราะห์เชี่ยวชาญ กลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต จากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ พร้อมด้วยทีมงานจากศูนย์สุขภาพจิตที่ 5

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต มีนโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวช ดำเนินงานดูแลเยียวยาจิตใจ ในสถานการณ์วิกฤตสุขภาพจิตจากเหตุการณ์ต่างๆ และการปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและประชาชน ได้รับการดูแลและเข้าถึงบริการสุขภาพจิตทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต

โดยบูรณาการงานวิกฤตเข้ากับทีมบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อขยายเครือข่ายและเตรียมความพร้อมของเครือข่ายบุคลากรทั้งในและนอกระบบสาธารณสุข ในการช่วยเหลือเยียวยาบุคคลในภาวะวิกฤตอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาความรู้และทักษะการสื่อสาร เพื่อการช่วยเหลือบุคคลในภาวะวิกฤต พื้นที่รับผิดชอบเขตสุขภาพที่ 5 ทั้ง 8 จังหวัด

ซึ่งมีพื้นที่เสี่ยงภัยต่อ การเกิดแผ่นดินไหว ดินถล่ม เกิดอุทกภัย อุบัติเหตุหมู่ สารเคมีรั่วไหล รวมถึงสถานการณ์วิกฤตสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเป็นข่าวเผยแพร่ต่อสื่อต่างๆในสังคม เช่น กรณีการฆ่ายกครัว การฆ่าตัวตาย การทำร้ายร่างกายและข่มขืนผู้สูงอายุ นอนเฝ้าศพ ผู้ป่วยจิตเวชคลุ้มคลั่งอาละวาดทำร้ายตนเองและผู้อื่น เป็นต้น

สถานการณ์วิกฤตที่เกิดจากภัยธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ล้วนเป็นอุบัติการณ์ ที่มีแนวโน้มขยายผลกระทบวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะกระทบต่อสภาพจิตใจ ความรู้สึกของประชาชนทุกกลุ่มวัย ทำให้เกิดความตระหนกตื่นกลัวและหวั่นไหวไปกับสถานการณ์ มีผลกระทบทางตรงและทางอ้อม ส่งผลทำให้มีภาวะเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตของผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัว

4-006

7-009

8-010

9-011

10-012

11-013

ภาวะวิกฤต หมายถึง สภาวะที่บุคคลเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ทำให้กลไกการปรับตัวในภาวะปกติไม่สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาได้ ด้วยบุคคลไม่ได้รับการเกื้อกูลจากทรัพยากรทางสังคม ก่อให้เกิดความเครียด กดดัน วิตกกังวล จนเข้าสู่ภาวะเสียสมดุลไป เกิดความตึงเครียดทางอารมณ์ (emotional crisis) ไม่สามารถทำหน้าที่หรือบทบาทของตนเองได้ปกติ

ภาวะวิกฤต มีทั้งเกิดขึ้นจากภัยพิบัติ ที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและความเสียหายอย่างใหญ่หลวง สร้างความยุ่งยากในการดำเนินชีวิตตามปกติของชุมชนหรือประเทศ และต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานจำนวนมากเพื่อให้กลับฟื้นสู่สภาพปกติ แบ่งออกเป็นภัยพิบัติจากธรรมชาติ เช่น สึนามิ น้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุ ภัยแล้ง โรคระบาด ฯลฯ และภัยพิบัติจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การก่อการร้าย ตึกถล่ม เพลิงไหม้ อุบัติเหตุหมู่ ความรุนแรงทางการเมือง ฯลฯ

รวมถึงวิกฤตสุขภาพจิตอื่นๆ ตั้งแต่ในระดับบุคคล เช่น การพยายามฆ่าตัวตาย การจับตัวประกัน กรณีถูกล่วงละเมิดทางเพศ ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ไปจนถึงในระดับสังคม เช่น การเกิดอุปาทานหมู่ กรณีความเชื่อ ความรุนแรง วิกฤตการเมือง ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม จะต้องให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจ

ตั้งแต่การสร้างภูมิต้านทานและเสริมความหยุ่นตัว เมื่อเกิดเหตุการณ์ ให้การประเมินคัดกรองเบื้องต้นและปฐมพยาบาลทางจิตใจ เมื่อมีปฏิกิริยาความเครียด การให้การปรึกษาในภาวะวิกฤต ในช่วงเกิดภาวะวิกฤตทางจิตใจ กรณีความผิดปกติทางจิต ก็จะมีการบำบัดทางจิตเวช กระทั่งอยู่ในจุดของการกลับสู่สมดุล จะมีการเยียวยาและฟื้นฟูทางจิตสังคม จนสุดท้ายไม่มีวิกฤตเดิมซ้ำอีก

สำหรับนโยบายด้านสาธารณภัย ตามหลัก 2P 2R ได้แก่ การเตรียมพร้อม (Preparation) การป้องกัน (Prevention) การตอบสนอง (Response) และการฟื้นฟู (Recovery) จะมีการบูรณาการร่วมกับทีมช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ ทีมแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์เคลื่อนที่เร็วระดับอำเภอ (miniMERT) หรือทีมช่วยเหลือทางการแพทย์ในสถานการณ์ภัยพิบัติ (DMRT),

แพทย์สนามฉุกเฉินหรือทีมเมิร์ท (MERT), ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อแพร่ระบาด และทีมให้การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ซึ่งในเรื่องของสุขภาพจิตนั้น นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขให้มีทีม MCATT ในพื้นที่ทุกจังหวัด ในระดับอำเภอ และระดับจังหวัด อย่างน้อยอำเภอละ 1 ทีม

การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจบุคคลในภาวะวิกฤตและผู้พยายามฆ่าตัวตาย ในเรื่องของการสื่อสารแก่บุคคลที่อยู่ในภาวะวิกฤต จะใช้ทักษะการฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening Skill – ALS) โดยมีแนวคิดที่ว่า บุคคลที่รับรู้ถึงอารมณ์ตนเอง จะได้เปรียบในการแก้ไขปัญหาของตนเอง เมื่อใดผู้ฟังสามารถสะท้อนอารมณ์ของผู้พูดได้ เมื่อนั้นผู้ฟังจะกลายเป็นผู้ที่เข้าใจ และได้รับความไว้วางใจ

ซึ่ง ALS มีอยู่ด้วยกัน 8 เทคนิค ได้แก่ 1.การลดปฏิปักษ์ หรือการมีสติในการเริ่มเจรจา (mirroring), 2.การใช้คำถามปลายเปิด (open-end question), เพื่อเปิดโอกาสให้ระบาย 3.การกระตุ้นให้เขาพูดกับเรา เพื่อรับรู้ว่าเราฟังอยู่ (minimal encouragement), 4.การทวนความโดยไม่เปลี่ยนแปลงความหมายของผู้ก่อเหตุ (paraphrase),

5.การเข้าใจความรู้สึก หรือการจับความรู้สึกเขาได้และสื่อสารให้เขารู้ (emotion labelling), 6.การสื่อสารที่ดีควรเป็นการสื่อสารที่มาจากผู้เจรจาเอง (“I” message), 7.การเว้นจังหวะการพูด หรือการเงียบในช่วงที่เขามีอารมณ์รุนแรงโดยไม่ตอบโต้ (effective pause) และ 8.การสรุปประเด็นที่สำคัญเป็นช่วง เพื่อตรวจสอบความถูกต้องความเข้าใจ (summarize)

นอกจากนี้ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้มีข้อเสนอแนะกรณีการสื่อสารข่าวการฆ่าตัวตายของสื่อมวลชน โดยเสนอให้การเสนอข่าวควรระมัดระวัง ไม่ทำเป็นข่าวพาดหัว, ไม่เขียนข่าวในลักษณะที่อ่านแล้วมีสีสัน หรือก่อความรู้สึกสะเทือนใจ, หลีกเลี่ยงการเขียนข่าวบรรยายวิธีการฆ่าตัวตายอย่างละเอียด การลงภาพการกระทำ หรือฉายคลิปซ้ำๆ,

หลีกเลี่ยงการเน้นย้ำถึงสาเหตุ หรือสัมภาษณ์ผู้ใกล้ชิดถึงปัญหาต่างๆ อย่างละเอียด, ระมัดระวังเป็นพิเศษในการนำเสนอข่าวผู้ฆ่าตัวตายที่เป็นดาราหรือผู้มีชื่อเสียง โดยเฉพาะในแง่มุมที่ทำให้เกิดความซาบซึ้ง ซึ่งมีโอกาสก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้สูง และคำนึงถึงการนำเสนอข่าวที่อาจส่งผลต่อความรู้สึกหรือผลกระทบในทางลบต่อญาติและผู้ใกล้ชิดผู้ฆ่าตัวตาย

ในส่วนของหลักการสื่อสารกับประชาชนในภาวะวิกฤตนั้น ประกอบไปด้วย “4 ต้อง” ได้แก่ 1.ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องและจำเพาะกับประชาชน, 2.ให้คำแนะนำที่ตรงกับปัญหา, 3.แสดงตัวอย่างความสำเร็จในการเผชิญปัญหา 4.บอกแหล่งให้ความช่วยเหลือตามความต้องการ

และ “4 ไม่” ได้แก่ 1.ไม่ขยายความขัดแย้ง, 2.ไม่นำเสนอภาพความน่ากลัวหรือรุนแรงซ้ำๆ, 3.ไม่สื่อสารภาพความสูญเสีย สิ้นหวังหรือทำร้ายตนเอง หรือด่วนสรุปว่าฆ่าตัวตาย, 4.ไม่ซักถามเรื่องความสูญเสียจากผู้ที่ยังไม่พร้อมจะเล่า เพราะเป็นการซ้ำเติมบาดแผลทางใจ

12-014

13-015

14-016

15-017

16-018

17-019

18-020

19-021

20-001

สาครออนไลน์ โดย สุรางค์ นาคทอง และ กิตติกร นาคทอง



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง