เมื่อคุณภาพชีวิตคนสมุทรสาคร ฝากไว้กับ “ปอ.68”

17197-1

เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบัน รถประจำทางปรับอากาศในจังหวัดสมุทรสาคร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อนุญาตให้รถประจำทาง 2 เส้นทางขยายเส้นทางจากกรุงเทพฯ มายังตัวเมืองสมุทรสาคร มานานเกือบ 10 ปีแล้ว

ได้แก่ ปอ.68 สมุทรสาคร-บางลำภู และ ปอ.7 สมุทรสาคร-หัวลำโพง มีบริษัท ต.มานิตย์การเดินรถ จำกัด เป็นผู้รับสัมปทาน ถือเป็นระบบขนส่งมวลชนที่นิยมใช้บริการเป็นอันดับต้นๆ พอๆ กับรถตู้ เนื่องจากราคาประหยัดเพียงแค่ 20 บาท และสามารถเชื่อมต่อไปยังจุดต่อรถที่สำคัญ

อุบัติเหตุรถประจำทาง ปอ.68 สมุทรสาคร-บางลำภู ชนกับแท่นแบริเออร์บนถนนรัชดาภิเษก – บุคคโล เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับรถประจำทางสายนี้ เพราะที่ผ่านมาก็เคยเกิดอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ แต่ไม่เป็นข่าว

ที่น่าตกใจ คือ พนักงานขับรถในวันเกิดเหตุ พบปริมาณแอลกอฮอลล์ในเลือดสูงถึง 275 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เพราะดื่มเบียร์ตั้งแต่ตีสี่ และดื่มเหล้าขาว 40 ดีกรีหลังวิ่งทำรอบรถทุกรอบ รวมแล้ว 6 แก้ว กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความปลอดภัยเมื่อเทียบกับความคุ้มค่า

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2553 รถประจำทาง ปอ.7 ของบริษัทเดียวกัน เฉี่ยวชนกับรถเก๋งบริเวณปากซอยเพชรเกษม 5 พุ่งชนเกาะกลางจนพลิกตะแคงบนถนนอีกฝั่งหนึ่ง สาเหตุเนื่องจากมีปากเสียงกับคนขับรถเก๋ง ส่งผลทำให้ฝั่งรถเก๋งบาดเจ็บ 3 ราย

หรืออย่างล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 รถประจำทาง ปอ.7 พุ่งชนเสาไฟฟ้าบริเวณปากซอยเพชรเกษม 55/1 ทำให้มีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ 2 ราย สาเหตุมาจากขณะเหยียบเบรก เพื่อจะเข้าป้ายรับผู้โดยสาร กลับเบรกไม่อยู่ ประกอบกับก่อนหน้านี้มีฝนตก ถนนลื่น

ที่ผ่านมา รถประจำทางสาย ปอ.7 และ ปอ.68 มักจะได้รับการร้องเรียนเสมอ กระทั่งในปี 2556 ถูกจัดอันดับให้เป็นรถปรับอากาศที่ถูกร้องเรียนบ่อยครั้ง แม้จะไม่มากเท่ากับสาย ปอ.29 ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-หัวลำโพง, ปอ.44 แฮปปี้แลนด์-ท่าเตียน และ ปอ.504 รังสิต-สะพานกรุงเทพ

เมื่อเข้าไปดูเรื่องร้องเรียนที่ลงตามหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มักจะร้องเรียนเรื่องการไม่จอดรับส่งผู้โดยสาร การเก็บค่าโดยสารระยะสั้น ส่งคนไม่ถึงจุดหมาย ฯลฯ แม้แต่ในโลกโซเชียลฯ ก็เคยมีวีดีโอคลิปที่พนักงานเก็บค่าโดยสารมีปากเสียงกัน

กรณีล่าสุด ตัวแทนบริษัท ต.มานิตย์การเดินรถ ก็ระบุระหว่าง ขสมก. เรียกมาสอบสวนข้อเท็จจริงว่า ยอมรับผิดในฐานะที่บกพร่อง ไม่กำกับดูแลพนักงานให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของ ขสมก. ก่อนที่จะถูกปรับทั้ง ขสมก. และกรมการขนส่งทางบกรวม 15,000 บาท

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ย้ำว่า รถร่วมบริการต้องดำเนินการปรับปรุงอย่างเร่งด่วน และขอความร่วมมือตรวจสอบพฤติกรรมการขับรถของพนักงานขับรถในสังกัดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะต้องไม่ใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

ที่สำคัญ พนักงานขับรถจะต้องได้รับการพักผ่อนเพียงพอ ต้องมีระดับแอลกอฮอล์เป็น 0 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ทุกคน และต้องไม่มีการใช้สารเสพติดโดยเด็ดขาด หากพบผู้ขับรถใช้ความเร็วหรือขับขี่รถโดยประมาทลงโทษหนักทุกราย

หรือหากพบสารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ ต้องเปลี่ยนพนักงานขับรถทันที และจะถูกส่งตัวเข้าดำเนินคดีตามกฎหมาย กรณีเกิดอุบัติเหตุอันเกิดจากสภาพตัวรถหรือการละเลยการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดจนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบทุกกรณี

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ปอ.68 คงทำให้คนสมุทรสาครวิตกกังวลอยู่บ้าง เพราะยังต้องใช้บริการไป-กลับกรุงเทพมหานคร สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการควรจะทำ คือการสร้างความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานการให้บริการและความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ

หากทำเช่นนี้ได้ อุบัติเหตุในลักษณะที่คนสมุทรสาครต้องเผชิญจะไม่มีวันเกิดขึ้นอีก

– กิตตินันท์ นาคทอง –



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง