18 มีนาฯ วันท้องถิ่นไทย 107 ปีสุขาภิบาลท่าฉลอม รำลึก 150 ปี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับจังหวัดสมุทรสาคร และเทศบาลนครสมุทรสาครกำหนดจัดงาน “18 มีนา วันท้องถิ่นไทย 107 ปีสุขาภิบาลท่าฉลอม รำลึก 150 ปี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” ขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 มีนาคม 2555 ณ บริเวณวัดสุทธิวาตวราราม (วัดช่องลม) และวัดแหลมสุวรรณาราม ถนนถวาย ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

สืบเนื่องจากตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้ วันที่ 18 มีนาคมของทุกปี เป็นวันท้องถิ่นไทย เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) ที่ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งตำบลท่าฉลอม ขึ้นเป็นสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรก เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2448 นับเป็นเวลา 107 ปีมาแล้ว อันเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจการปกครองและการถือกำเนิดของการปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งแรกในประเทศไทย

พร้อมกันนี้ร่วมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในโอกาสที่ครบ 150 ปีวันประสูติ และครบ 50 ปีที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมสหประชาชาติหรือ UNESCO ถวายพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นบุคคลสำคัญของโลก

นายจุลภัทร แสงจันทร์ ผู้ว่าราชการ จังหวัดสมุทรสาคร เผยว่า ภายในงานจะได้สัมผัสกับบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความเป็นไทย นิทรรศการ “150 ปี กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ” การประกวดธิดาท้องถิ่นไทย การออกร้านจำหน่ายสินค้าของดีจากจังหวัดสมุทรสาคร และของที่ระลึก ตลอดจนสินค้า OTOP การแสดงของศิลปินชื่อดังและศิลปินพื้นบ้าน

สำหรับความสำคัญของงาน อยู่ที่เช้าของวันที่ 18 มีนาคม จะมีพิธีถวายราชสักการะรัชกาลที่ 5 พร้อมกันทั่วประเทศ การทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งพระภิกษุสงฆ์ 107 รูป ตลอดจนขบวนแห่อันยิ่งใหญ่ของชุมชน ผู้สนใจเข้าร่วมงาน “18 มีนา วันท้องถิ่นไทย 107 ปีสุขาภิบาลท่าฉลอม รำลึก 150 ปี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเลขานุการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โทร 0-2241-9016 หรือ จังหวัดสมุทรสาคร โทร 0-3442-7520 หรือ เทศบาลนครสมุทรสาคร โทร 0-3441-1208

• • •

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็น พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาชุ่ม รัชกาลที่ 4 ประสูติในบรมมหาราชวังเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2405 ทรงพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร

การศึกษาของพระองค์ในขั้นต้น ได้ทรงศึกษาภาษาไทยตามแบบเก่ากับคุณแสงเสมียนและคุณปาน ธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ในพระบรมมหาราชวัง ภาษาบาลีในสำนักพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) และหลวงธรรมานุวัติจำนง (จุ้ย) ภาษาอังกฤษในโรงเรียนหลวง นายฟรานซิส ยอร์ช แพตเตอร์สัน เป็นพระอาจารย์

พระองค์ได้รับราชการในกรมทหารมหาดเล็กมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าโปรดให้ทรงจัดการกรมแผนที่เพื่อฝึกให้คนไทยทำแผนที่ พระองค์ก็ทรงกระทำอย่างเรียบร้อย ภายหลังโปรดให้บังคับบัญชากรมกองแก้วจินดา พระองค์ก็ทรงปฏิบัติได้อย่างถูกต้องพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้นในปี พ.ศ. 2429 จึงทรงได้รับพระราชทานสุพรรณบัตร สถาปนากรมหมื่นดำรงราชานุภาพ

การปกครองในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าได้ทรงปฏิรูปใหม่เป็นอันมาก เช่นเมื่อทรงเห็นโรงเรียนมากขึ้นตามลำดับ ก็ทรงตั้งกรมศึกษาธิการขึ้นโดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นปฐมอธิบดี และต่อมากิจการศึกษาธิการกว้างขวางขึ้น จึงโปรดให้รวมกรมศึกษาธิการเข้ากับกรมธรรมการแล้วทรงตั้งให้เป็นกระทรวงธรรมการ ต่อมาโปรดให้เป็นราชฑูตพิเศษออกนานาประเทศ พระองค์ก็สนองพระราชโองการได้โดยเรียบร้อย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดระเบียบการปกครองใหม่ ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทั้งยังเคยทรงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาผู้สำเร็จการราชการแผ่นดิน

ในปี พ.ศ. 2442 ได้ทรงรับสถาปนาเลื่อนขึ้นเป็นกรมหลวง ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านก็ได้สนองพระเดชพระคุณตลอดมา ตราบจนชราทุพพลภาพ ไม่สามารถทำราชการหนักในตำแหน่งต่อไปอีก จึงกราบถวายบังคมลาออกจากเสนาบดีมหาดไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงสถาปนาเป็นเสนาบดีที่ปรึกษา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2454 โปรดเกล้าให้เลื่อนเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อันเป็นยศที่สูงสุดในทางทรงกรม

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเริ่มประชวรด้วยโรคพระหทัย (หัวใจ)พิการมาตั้งแต่เดือนธันวา พ.ศ.2484 จึงเสด็จกลับมารักษาพระองค์ยังเมืองไทย พระอาการทรงและทรุดเรื่อยมาจนสิ้นพระชนม์เมื่อ วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2486

ผลงานนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้แก่ พงศวดาร 134 เรื่อง, โคลงกลอน 92 เรื่อง, ศาสนา 79 เรื่อง, อธิบายแทรก 19 เรื่อง, ประวัติ 160 เรื่อง, ตำนาน 130 เรื่อง, ในนิตยสารสยามสมาคม 10 เรื่อง และพระนิพนธ์เรื่องสุดท้ายคือ ลักษณะเรียกพระเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงร่างไว้ด้วยดินสอค้างไว้ก่อนสิ้นพระชนเพียง 1 เดือน ปัจจุบันเก็บไว้ในหอสมุดดำรงราชานุภาพ

พระเกียรติคุณของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยากที่จะพรรณนาได้หมด ด้วยพระองค์ท่านเป็นอัจฉริยะบุรุษ ทรงประกอบพระเกียรติคุณเป็นอันมาก ในด้านการปกครอง พระองค์เป็นเสนาบดีคู่พระราชหฤทัยของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เช่นเดียวกับสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ ในด้านการศึกษา นอกจากทรงค้นคว้าหลักวิชาการต่างๆ และได้จัดการโรงเรียนเป็นพระองค์แรกแล้ว ยังได้ทรงนิพนธ์เรื่องต่างๆ ไว้อย่างมากมาย ในด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี พระองค์ได้ทรงค้นคว้าและหาหลักฐานต่างๆ เป็นอันมาก ถ้าทรงทราบว่ามีวัตถุโบราณแล้ว มักจะเสด็จไปตรวจตราด้วยพระองค์เองจนทำให้ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเด่นชัดอีกเป็นอันมาก ในด้านวรรณคดี พระองค์ได้ทรงนิพนธ์ เรื่องร้อยกรองไว้ไม่น้อย ข้อที่สำคัญที่สุดในทางวรรณคดีก็คือ พระองค์ทรงสามารถรวบรวมวรรณคดีเก่าๆ ไว้ ให้อนุชนรุ่นหลังได้พบเห็นเป็นอันมาก ตั้งแต่วรรณคดีตอนปลายกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้นๆ จะเห็นได้ว่าพระองค์ท่านเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวรรณคดี และทั้งยังเป็นนักปราชญ์นักปกครองที่สามารถอีกด้วย

ที่มา : สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ภาพจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง