“ท่าเทียบเรือชายฝั่งด้านตะวันตก” คนสมุทรสาครเอามั้ย!?!

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมว.คมนาคม มอบหมายให้ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่งด้านตะวันตก เพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางน้ำ ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนค่าขนส่งลดลง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 ปี

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการขนส่งสินค้าจากภาคใต้มายังท่าเรือแหลมฉบัง ต้องใช้การขนส่งทางบกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถือว่ามีค่าใช้จ่ายและค่าขนส่งแพงที่สุด หากสามารถขนส่งทางน้ำได้จะช่วยลดต้นทุนด้านลอจิสติกส์ได้มาก และสามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางน้ำไปยังต่างประเทศ และเชื่อมต่อการขนส่งผ่านไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อไป จ.นครปฐม สุพรรณบุรี อุทัยธานี และชัยนาทได้อีกด้วย

ถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมเจ้าท่า ในฐานะประธานกรรมการ กทท. กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมเจ้าท่ามีแผนศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าเรือชายฝั่งด้านตะวันตก เบื้องต้นพบว่าพื้นที่ชายฝั่งที่มีความเหมาะสม และมีความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง คือ บริเวณ จ.เพชรบุรี สมุทรสาคร และชุมพร เพราะไม่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบังมากนัก

โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่งตะวันตกแม้หลายคนจะยังไม่ทราบ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรีคิดโครงการท่าเรือเฟอร์รี่มาตั้งแต่ปี 2551 โดยนำโครงการนี้เสนอต่อกลุ่มจังหวัดท่องเที่ยวภาคกลางตอนล่าง 2 ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์

ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี บุญสม นุชนิยม เปิดเผยว่า เมื่อครั้งที่นำโครงการนี้เสนอต่อที่ประชุม ทุกคนเห็นชอบหมด ทั้งที่ช่วงเวลานั้นราคาน้ำมันยังไม่สูงถึงลิตรละ 30 บาท ดังนั้นการสร้างท่าเรือเฟอร์รี่เป็นทางเลือก แต่ต้องสำรวจว่าคุ้มทุนหรือไม่

สภาอุตสาหกรรมทั้ง 4 จังหวัดมีมติผลักดันให้สร้างท่าเรือเฟอร์รี่ โดยจะใช้ทั้งขนส่งสินค้า ผู้โดยสาร และเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งจังหวัดหรือประเทศจะมีอะไรอย่างเดียว และตายตัวคงเป็นไปไม่ได้ จำเป็นต้องมีทางให้เลือก และไม่ใช่ทางเลือกที่มาพูดกันวันนี้ว่า ดีหรือไม่ดี แต่ต้องมีการสำรวจมีการทำวิจัยก่อน ถึงความเป็นไปได้ผลดีผลเสียโครงการ

แม้โครงการนี้จะยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง และตกลงกันไม่ได้ว่าจะก่อสร้างตรงจุดไหน แต่ก็มีกระแสคัดค้านตามมาโดยพลัน จากประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร สุนทร วัฒนาพร เปิดเผยว่า ไม่คุ้มทุนที่จะเริ่มโครงการในปี 2556 เพราะกว่าโครงการจะสร้างเสร็จ ก็ปี 2558 หรือปี 2559 อีกทั้งปัจจุบันการคมนาคมทางบกมีความสะดวกมากขึ้น

ขณะนี้รัฐบาลได้บรรจุโครงการถนนพระราม 2 ลอยฟ้า (ทางพิเศษดาวคะนอง-สมุทรสาคร) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 เฟส ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และวังมะนาว จ.ราชบุรี ซึ่งการขนส่งทางเรือต้องใช้น้ำมัน และต้องมีการขนถ่าย อีกทั้งการขนส่งทางถนนมีการแข่งขันสูงกว่า ทำให้ถูกกว่าการขนส่งทางเรือกว่าร้อยละ 10

นอกจากนี้ สุนทรยังตั้งข้อสงสัยว่า นอกจากสมุทรสาครแล้ว จังหวัดสมุทรสงครามก็ไม่ได้ประโยชน์ แต่ประโยชน์น่าจะเกิดกับจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มากกว่า ดังนั้นเรื่องท่าเรือเฟอร์รี่ต้องมองว่าเป้าหมายคืออะไร

“ถ้าให้ผมมอง น่าจะเป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวมากกว่า ท่าเรือเฟอร์รี่หากมองในเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มจังหวัดท่องเที่ยวภาคกลางตอนล่าง 2 โครงการนี้ไม่เกิดประโยชน์ต่อจังหวัดสมุทรสาคร เพราะการขนส่งสินค้าภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดสมุทรสาคร สามารถใช้ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม เพื่อกระจายสินค้าได้อยู่แล้ว” สุนทรกล่าว

ปัจจุบันประเทศไทยมีท่าเรือทางทะเลอยู่ 122 ท่าเรือ อยู่ในความรับผิดชอบ กทท. จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย), ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และท่าเรือระนอง ส่วนท่าเรือมาบตาพุดอยู่ในความดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ท่าเรือภูเก็ตและท่าเรือสงขลาเป็นของบริษัท เจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด

ที่ผ่านมาการขนส่งสินค้าทางทะเลด้วยตู้คอนเทนเนอร์จะพบว่า มีการใช้ท่าเรือแหลมฉบังมากที่สุดเกือบร้อยละ 70 รองลงมาคือท่าเรือกรุงเทพฯ ร้อยละ 25 แต่ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังยังไม่มีท่าเทียบเรือที่ให้บริการแก่เรือชายฝั่งเป็นการเฉพาะ จึงเตรียมที่จะก่อสร้างที่บริเวณท่าเทียบเรือ A ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านการอนุมัติและมีการออกแบบแล้ว

ในส่วนของโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่งด้านตะวันตกนั้น หากมีการก่อสร้างเกิดขึ้นจริง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจะเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากจะต้องขุดร่องน้ำเพื่อให้เรือสามารถเทียบท่าขึ้นฝั่งได้ รวมทั้งจุดบริการน้ำมันและน้ำสะอาดแก่เรือ ลานจอดรถและรับฝากรถบรรทุกเพื่อขนส่งสินค้า

จากการสำรวจผ่านภาพถ่ายดาวเทียมของกูเกิ้ลเอิร์ธ พบว่าตั้งแต่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาใน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการเป็นต้นมา ผ่านจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ถึงบ้านแหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เป็นพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมด ซึ่งต่อจากนั้นจะเป็นหาดทรายลงมาถึงภาคใต้ และที่ผ่านมาชายฝั่งทะเลก็เกิดการกัดเซาะตลอดเวลา

ที่ผ่านมาโครงกรก่อสร้างที่มีผลกระทบต่อชายฝั่งทะเลจังหวัดสมุทรสาคร มักจะถูกคัดค้านในประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นประจำ อาทิ ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีโครงการเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ (สมุทรสาคร-แหลมผักเบี้ย-ชะอำ) โดยทำเป็นสะพานลงไปในอ่าวไทย เพื่อย่นระยะทางถนนเพชรเกษม แต่เนื่องจากมีกระแสคัดค้านด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก รวมทั้งมีปัญหาเรื่องงบประมาณที่ต้องใช้ค่าก่อสร้างสูง ที่สุดจึงต้องพับโครงการนี้ไป

และล่าสุดกับโครงการถมทะเลสร้างเมืองใหม่ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะมีการถมทะเลจากปากอ่าวออกไป 10 กิโลเมตร ตั้งแต่ จ.สมุทรปราการ ถึง จ.สมุทรสาคร คิดเป็นพื้นที่ 3 แสนไร่ ก็เกิดเสียงคัดค้านอย่างหนักจากบรรดานักวิชาการและกลุ่มเอ็นจีโอที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยเกรงว่าโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล กระทั่งรัฐบาลต้องออกมาปฏิเสธโครงการ อ้างว่าจะศึกษามาตรการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ อย่างถาวรเท่านั้น

ส่วนความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจนั้น ที่ผ่านมาการขนส่งสินค้าทางเรือมักจะบรรทุกบนตู้คอนเทนเนอร์ไปส่งยังท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบังผ่านทางรถบรรทุกอยู่แล้ว โดยใช้ถนนพระราม 2 เป็นหลัก ซึ่งในอนาคตจะมีท่าเรือน้ำลึกทวาย ประเทศพม่า ของบริษัท อิตัลไทย ดิเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้อีกด้วย

แม้ยังไม่รู้ว่าโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่งด้านตะวันตกนั้น จะออกมาเป็นรูปเป็นร่างอย่างไร ก่อสร้างตรงจุดไหน และหวยจะออกมาที่จังหวัดสมุทรสาครหรือไม่ แต่ต้องถามใจคนสมุทรสาครไว้ก่อนว่า หากเป็นเช่นนั้นจริง ท่านจะสนับสนุนหรือคัดค้าน เพราะอย่าลืมว่าในความเจริญที่วาดฝันอยู่ตรงหน้ามักจะมีความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อมซ่อนอยู่ ซึ่งมีผลทำให้ชีวิตของคนเมืองท่าอย่างสมุทรสาครไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป.



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง