“พระราม 2-เอกชัย” ปลอดน้ำท่วม “ค้าปลีก-อาหาร” เปิดคลังสินค้าคึกคัก

ศูนย์กระจายอาหารสด (เอฟดีซี) ของบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด (ภาพจาก Google Street View)

ผลจากการที่มหาอุทกภัยในปี 2554 ที่ผ่านมา พื้นที่ตอนล่างของจังหวัดสมุทรสาครรอดพ้นจากภาวะน้ำท่วม ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกและอาหารรายใหญ่ต่างเล็งหาทำเลเพื่อจัดตั้งคลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้าในย่านที่มีการพิสูจน์แล้วว่าน้ำไม่ท่วม โดยเฉพาะย่านถนนพระราม 2 และถนนเอกชัย

ก่อนหน้านี้คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า (ดีซี) มักจะอยู่ในทำเลที่เชื่อมต่อไปยังภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ ย่านบางบัวทอง จ.นนทบุรี ย่านรังสิต นวนคร จ.ปทุมธานี ย่านบางปะอิน และวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา แต่ในช่วงมหาอุทกภัยการรับ-ส่งสินค้าต้องหยุดชะงัก

นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจร้านอาหาร คลังสินค้าสำหรับจัดเก็บวัตถุดิบป้อนไปยังร้นอาหารต่างๆ ยังประสบภาวะน้ำท่วม ทำให้วัตถุดิบขาดแคลน สาขาของร้านอาหารต่างๆ ต้องปิดให้บริการนับเดือน อีกทั้งคลังสินค้าบางบริษัทได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ต้องฟื้นฟูก่อนดำเนินกิจการยกใหญ่

หลังวิกฤตมหาอุทกภัยผ่านพ้นไป หลายบริษัทเริ่มหาทำเลสำหรับใช้เป็นคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า โดยทำเลที่ได้รับความนิยมในลำดับต้นๆ คือ พื้นที่ ต.คอกกระบือ และ ต.บางน้ำจืด อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ซึ่งอยู่ใกล้กรุงเทพฯ การคมนาคมสะดวก และปลอดจากน้ำท่วม

ก่อนหน้านี้หากพูดถึงเฉพาะธุรกิจค้าปลีก มีเพียงบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ในเครือเซ็นทรัล ตั้งศูนย์กระจายอาหารสด (FDC-fresh distribution centre) ภายในซอยอนามัยบางน้ำจืด ถนนพระราม 2 ต.บางน้ำจืด เพื่อเป็นศูนย์กลางจัดส่งสินค้าไปยังสาขาท็อปส์ ซูเปอร์ และท็อปส์ มาร์เก็ต

แต่ในช่วงกลางปี 2555 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น ได้ซื้อที่ดินในซอยเพิ่มพูนทรัพย์ ใกล้ตลาดสดลีลา ถนนพระราม 2 กม. 20.5 ต.คอกกระบือ เพื่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ โดยใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2556

นอกจากนี้ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารร้านพิซซ่าฮัท ก็ได้เช่าพื้นที่โครงการหมื่นทรัพย์แลนด์ ถนนเอกชัย ต.คอกกระบือ เพื่อใช้เป็นโรงงาน Pizza Hut Commissary ป้อนวัตถุดิบส่งไปยังร้านพิซซ่าฮัทในพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่สองตำบลดังกล่าว ราคาที่ดินถือว่าแพงพอสมควร จากการสังเกตการประกาศขายที่ดินตามเว็บไซต์ต่างๆ จะเห็นว่าหากอยู่ติดถนนใหญ่อย่างถนนพระราม 2 หรือถนนเอกชัย จะตกไร่ละ 7-8 ล้านบาท แต่หากอยู่ในถนนซอยจะตกไร่ละ 3.5-5.5 ล้านบาท

เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการที่กำลังมองหาทำเลที่ดินเพื่อวัตถุประสงค์เป็นการป้องกันภัยพิบัติเพียงอย่างเดียวจึงไม่น่าจะเป็นการตอบโจทย์ผู้ซื้อมากนัก หากแต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการคมนาคมที่สะดวก เชื่อมต่อไปยังภาคต่างๆ สามารถตอบสนองต่อการกระจายสินค้าไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างเต็มที่.



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง