ฟังแบบเต็มๆ ที่นี่! เทปบันทึกการสัมมนา “ชูไทยสู่ซีฟู้ดฮับ รับ AEC”

777-1

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการสัมมนา “ชูไทยสู่ซีฟู้ดฮับ รับ AEC” ซึ่งจัดโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย สมาคมการประมงสมุทรสาคร กรมประมง ชมรมธนาคารจังหวัดสมุทรสาคร รวมทั้งสาครออนไลน์ ในฐานะมีเดียสปอนเซอร์

การจัดงานครั้งนี้ เพื่อระดมความคิดเห็นในการแสวงหาและร่วมวางกลยุทธ์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางตลาดอาหารทะเลของอาเซียนก่อนเปิด AEC รวมทั้งรักษาสถานะของอาหารทะเลไทยในตลาดโลกและยกระดับสู่ความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ตลอดจนเป็นการสนับสนุนโยบายรัฐบาลในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการส่งออกของไทย

โดยได้รับเกียรติจากว่าที่ ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานเปิดงาน และมี นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเปิดการสัมมนา และปาฐกถาพิเศษ “ยุทธศาสตร์ไทยสู่ศูนย์กลางอาหารทะเลของอาเซียน”

นายศิริวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันสินค้าประมงของไทยสามารถทำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 200,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1.5% ของ GDP เนื่องจากระบบการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการผลิตสินค้าประมงของไทยได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้าทั่วโลก แต่ด้วยข้อจำกัดของปริมาณสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย การแข่งขันทางการค้า และการขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนด้านการส่งออกอาหารทะเล ทำให้ยังเป็นอุปสรรคต่อการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC

สำหรับในส่วนของยุทธศาสตร์ไทยสู่ศูนย์กลางอาหารทะเลของอาเซียน จังหวัดสมุทรสาครนับเป็นกำลังหลัก ซึ่งมีทั้งความพร้อมและมีศักยภาพ ขณะเดียวกันก็มีจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเลอีกถึง 22 จังหวัด ที่มีผลผลิตด้านอาหารทะเล โดยในจำนวนนี้มีหลายจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมการผลิตรองรับเช่นกัน และพร้อมที่เข้าร่วมยกระดับประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในอาเซียน

อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยจะใช้โอกาสแห่งการรวมตลาดของอาเซียนเพื่อผลักดันตัวเองเป็นศูนย์กลางของตลาดอาหารทะเลอันดับต้น ๆ ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียนนั้น แม้มิใช่เรื่องยาก แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งในเชิงวิชาการ การปฏิบัติ การตลาด ด้วยกลยุทธ์เชิงสร้างสรรค์ผสมกับการผลักดันอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมประมง สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และองค์การสะพานปลา ก็พร้อมจะให้ความร่วมมือและประสานงานอย่างใกล้ชิด กับภาคเอกชน และชาวประมง เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ และเสริมสร้างจุดแข็งแก่ผลผลิตและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลไทย ทั้งนี้ เพื่อให้อาหารทะเลไทยครองตลาดเหนือคู่แข่งอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

777-2

ต่อด้วยการเสวนาแบบเข้มข้น ในหัวข้อ “หากไทยจะเป็น ซีฟู้ด ฮับ” โดย นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ บรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เป็นผู้ดำเนินรายการอีกเช่นเคย

เริ่มจาก นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ในความเป็นจริงไทยเป็นศูนย์กลางอาหารทะเล หรือซีฟู้ดฮับของโลกมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ปัญหาในปัจจุบันคือไทยมีการใช้ทรัพยากรทางทะเลจนแทบไม่มีเหลือ จึงขาดแคลนวัตถุดิบ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ กองเรือประมงของไทยที่อดีต เคยมีมากถึง 5-6 หมื่นลำ ปัจจุบันเหลือไม่เกิน 4 หมื่นลำ

“หากไทยจะยังต้องการจะเป็นซีฟู้ดฮับต่อไป จะต้องแก้ไขในหลายเรื่อง เช่น การขาดแคลนวัตถุดิบ โดยจะต้องฟื้นฟูทะเลไทย ให้มีทรัพยากรกลับคืนมาโดยรัฐจะต้องสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูรวมถึงการสนับสนุนงบเพื่อปรับปรุงเรือประมงที่ยังมีศักยภาพ ให้สามารถกลับมาจับปลาต่อไปได้ การแก้ไขปัญหาแรงงานที่ผิดกฎหมาย”

ต่อด้วย ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมเคยตั้งวิสัยทัศน์ เป็นผู้นำด้านอาหารแช่เยือกแข็งของโลก แต่ปัญหาที่สำคัญ คือ ไทยไม่ใช่ผู้กำหนดราคา หรือเป็นผู้กำหนดมาตรฐานสินค้า จากนี้ไทยและอาเซียนต้องกำหนดมาตรฐานสินค้าของตัวเอง ซึ่งโจทย์ที่ท้าทายจากนี้คือ ทำอย่างไรให้ลูกค้านึกถึงอาหารทะเล ให้มาที่ประเทศไทย ในลักษณะเดียวกันกับประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เป็นศูนย์กลางด้านดอกไม้ของโลก

จากนั้น นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การเป็นซีฟู้ดฮับของไทยไม่อยากให้เป็นแค่มหาชัย สมุทรสาคร ที่เป็นย่านการผลิตและส่งออกอาหารแช่แข็งแหล่งใหญ่สุดของประเทศ แต่อยากให้ต่างชาตินึกถึงประเทศไทยเป็นซีฟู้ด ฮับในภาพรวม กระทรวงพาณิชย์ซึ่งทำหน้าที่ด้านการตลาด ปัจจุบันมีสำนักงานทูตพาณิชย์อยู่ทั่วโลก ที่ช่วยเจาะตลาดส่งออกสินค้าอาหารทะเลและสินค้าอื่นๆ ร่วมถึงมีบทบาทในการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบที่พร้อมช่วยภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม ในปี 2555 ไทยส่งออกอาหารทะเลทุกประเภท มูลค่าร่วมกว่า 2.6 แสนล้านบาท ขณะที่มีการนำเข้าวัตถุดิบอาหารทะเลจากต่างประเทศมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท ได้กำไร 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งทางกระทรวงอยากให้ภาคเอกชนได้มาใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่รัฐบาลได้ไปทำความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไว้กับหลายประเทศในการส่งออก ซึ่งที่ผ่านมามีผู้มาใช้สิทธิประโยชน์ค่อนข้างน้อย

ส่งท้ายที่ ดร.นันทิยา อุ่นประเสริฐ รองเลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)กล่าวว่าขณะนี้ไทยได้แสดงบทบาทในการเป็นผู้นำในการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของอาเซียนหลายรายการซึ่งล่าสุดกำลังจะมีการกำหนดมาตรฐานการผลิตลูกกุ้งและมาตรฐานการเลี้ยงกุ้งทะเล ซึ่งจะทำให้ได้สินค้าที่มาตรฐานในการส่งออกรวมถึงการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อมาผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นซีฟู้ดฮับของอาเซียนได้ต่อไปในระยะยาว

สาครออนไลน์ขอนำเทปบันทึกการสัมมนา “ชูไทยสู่ซีฟู้ดฮับ รับ AEC” มาให้ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจที่ไม่ได้เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ ได้เก็บเกี่ยวความรู้ในการปาฐกถาและอภิปรายอย่างเต็มอิ่ม กว่า 3 ชั่วโมง ขอเชิญรับฟังได้ที่นี่



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง