เรื่องวุ่นๆ ก่อนรถเมล์เอ็นจีวีจะมาถึง

980

ภาพจาก วิกิพีเดีย โดย Th_jung

เมื่อวันก่อน คณะกรรมการพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทาง ซึ่งมีนายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการรถร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เมื่อวันที่ 20 ก.ย.

ที่ประชุมเสนอให้จัดระบบรถโดยสารเป็น 2 ส่วน คือ เส้นทางเชิงพาณิชย์ ให้ผู้ประกอบการเอกชนและ ขสมก. แข่งขันให้บริการ และ เส้นทางเชิงสังคม ให้ ขสมก.บริการเดินรถ โดยรัฐอุดหนุน

ผู้ประกอบการรถร่วมบริการ ขสมก.รู้สึกว่าภาครัฐเอาเปรียบผู้ประกอบการเอกชน จากกรณีที่ ขสมก.นำรถไปวิ่งทับเส้นทาง และยังนำรถไปให้บริการในจังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ

ขณะที่ผู้ประกอบการจากต่างจังหวัดไม่สามารถนำรถมาให้บริการในเขตกรุงเทพฯได้ นอกจากนี้ยังให้บริการจังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม ที่อยู่นอกเหนือมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้บริการจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ

ส่วนผู้ประกอบการรถโดยสารร่วมบริการบริษัท ขนส่ง จำกัด (บ.ข.ส.) ได้เสนอปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐละเลยการบังคับใช้กฎหมาย ปล่อยให้รถเถื่อนและรถตู้โดยสารที่ถูกกฎหมายรับส่งผู้โดยสารนอกเส้นทาง

เช่น รถโดยสารต่างจังหวัดแวะรับผู้โดยสารในเขตปริมณฑล ส่งผลให้ผู้โดยสารลดลงจน ผู้ประกอบการประสบปัญหาขาดทุน บางรายมีรายได้เพียง วันละ 2,000 บาท เมื่อหักต้นทุนน้ำมันแล้วไม่มีกำไรเลย

ในส่วนของรถสองแถวได้ขอความเป็นธรรมโดยขอให้เอกชนสามารถเลือกเส้นทางให้บริการได้โดยไม่ต้องรอให้ ขสมก.เลือกเส้นทางก่อน จากปัจจุบัน ขสมก.จะพิจารณาก่อนว่าจะให้บริการในเส้นทางใหม่เองหรือไม่ ก่อนที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานเดินรถในเส้นทางที่ ขสมก.ไม่เดินรถเอง

นายธีระพงษ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการรับฟังปัญหาจากภาคเอกชนที่ให้บริการรถโดยสารสาธารณะ ส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดทุน ขณะที่ภาครัฐต้องการพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพแต่ภาคเอกชนยังไม่พร้อมที่จะพูดเรื่องการยกระดับ

เนื่องด้วยสถานภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทำให้ไม่สามารถยกระดับบริการได้ โดยผู้ประกอบการขอให้ภาครัฐเข้มงวดในการควบคุมกฎหมายไม่ให้รถเถื่อนเข้ามาวิ่งทับเส้นทาง แต่การหารือครั้งนี้ผู้ประกอบการไม่ได้ขอปรับขึ้นค่าโดยสารแต่อย่างใด

ผู้ประกอบการเอกชนยังเสนอให้รัฐช่วยเหลือใน 2 แนวทาง คือ รับซื้อรถโดยสารของเอกชน เพราะไม่ต้องการเดินรถแล้ว หรือ ให้ภาครัฐจ้างเอกชนวิ่งเดินรถ โดยกำหนดค่าจ้าง เพื่อให้เอกชนมีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง

ทั้งนี้ ตามขั้นตอนการดำเนินงาน คณะกรรมการพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทางจะนัดประชุมผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เพื่อสรุปแนวทางการพัฒนาระบบรถโดยสารร่วมกัน

โดยจะสรุปแนวทางการแก้ปัญหาเสนอให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม พิจารณาความเหมาะสมต่อไป

ก่อนหน้านี้ นายนเรศ บุญเปี่ยม รองผู้อำนวยการ ขสมก. เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง ขสมก.ได้สรุปเส้นทางการเดินรถ ขสมก.และรถร่วมขสมก. จำนวน 188 เส้นทาง ให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาแล้ว

จากนั้นทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาความเหมาะสม ก่อนที่กรมการขนส่งทางบกจะอนุญาตให้เดินรถตามเส้นทางต่างๆ

ทั้งนี้ เส้นทางใหม่ดังกล่าวจะเป็นเส้นทางที่ได้วางแผนอย่างเหมาะสมและเชื่อมโยงโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งโครงการรถไฟฟ้าที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โครงการรถไฟฟ้าในอนาคต และท่าเรือ

โดยเส้นทางใหม่ดังกล่าวจะครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล คือ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐมมากขึ้น เข้าถึงประชาชนได้มากกว่าเส้นทางที่ให้บริการเดินรถในปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 220 เส้นทาง

อีกทั้งยังเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน และรองรับการจัดทำระบบตั๋วร่วมตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยจะมีการเดินรถให้บริการในลักษณะเป็นวงกลมกลาง และมีทางเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางหลัก และเส้นทางรองออกไปเชื่อมต่อชานเมืองเพื่อให้ประชาชนเข้าออกเมืองได้สะดวก

นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางที่ให้บริการบนทางด่วน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดที่จะต้องใช้ระบบตั๋วร่วมในอนาคต

แม้เส้นทางการเดินรถ ขสมก.และรถร่วม 188 เส้นทาง จะยังไม่เป็นที่เปิดเผย แต่พลันให้นึกถึง ประกาศคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ฉบับที่ 1902 (พ.ศ. 2551) เรื่อง กำหนดเส้นทางสำหรับการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสาร หมวด 1 ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง จำนวน 145 เส้นทาง

โดยประกาศฉบับดังกล่าว ลงนามโดย นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง ประธานคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง และตีพิมพ์ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา

ในยุคนั้น กระทรวงคมนาคมสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีนายโสภณ ซารัมย์ จากพรรคภูมิใจไทย เป็น รมว.คมนาคม เตรียมที่จะเสนอโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน มูลค่า 6 หมื่นล้านบาท

สายรถเมล์ที่ว่านั้นเป็นตัวเลข 3 หลัก ตั้งแต่หมายเลข 601 ถึง 745 เป็นที่น่าสังเกตว่า บางเส้นทางทับซ้อนกับรถประจำทาง ขสมก. และรถร่วมบริการที่มีอยู่เดิม ซึ่งผลกระทบส่วนใหญ่จะอยู่ที่รถร่วมบริการ

ภายหลังได้ยกเลิกประกาศดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2552 และตีพิมพ์ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2552

พร้อมกับลงประกาศคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ฉบับที่ 1950 (พ.ศ. 2552) เรื่อง กำหนดเส้นทางสำหรับการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสาร หมวด 1 ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง จำนวน 155 เส้นทาง

โดยพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงโดยเรียงลำดับสายรถเมล์เดิมให้สอดคล้องกันมากขึ้น หลายเส้นทางตัดระยะลงเหลือเพียงแค่กลางทาง บางเส้นทางมีการเพิ่มขึ้นมาเป็นรถทางด่วนแยกเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2553 นายโสภณได้ออกนโยบายการเปลี่ยนหมายเลขรถประจำทางของ ขสมก. โดยนำหมายเลขสายรถเมล์ใหม่ มาติดไว้ที่ด้านหน้าและด้านข้างของรถเมล์ที่ให้บริการในปัจจุบัน

เพื่อให้ผู้ใช้บริการเริ่มจดจำว่า ในอนาคตรถเมล์ที่วิ่งอยู่นี้จะเปลี่ยนหมายเลขสายใหม่แล้ว ส่วนใหญ่กลายเป็นการดัดแปลงสายรถเมล์เป็นตัวเลข 3 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 6 และ 7 แต่แตกต่างจากประกาศคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ที่ออกมาก่อนหน้านี้

แต่เมื่อประชาชนร้องเรียนไปยัง ขสมก. ผ่านหมายเลข 184 (ปัจจุบัน ขสมก.ใช้หมายเลข 1348) เนื่องจากเกิดความสับสนจำนวนมาก จึงสั่งชะลอโครงการดังกล่าวอย่างไม่มีกำหนด

โครงการรถเมล์ก็ถูกพับแผนหลังรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กลับมาเป็นรัฐบาล เรื่องของการเปลี่ยนเส้นทางรถเมล์ก็เงียบหายไป ยังคงใช้เลขสายรถเมล์เหมือนเดิม

ปัจจุบัน รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย ได้อนุมัติโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีของ ขสมก. 3,183 คัน วงเงิน 13,162.2 ล้านบาท รวมค่าซ่อมบำรุง 10 ปี วงเงินประมาณ 13,858.408 ล้านบาท มูลค่าทั้งโครงการ 27,020.608 ล้านบาท

ขณะนี้ คณะกรรมการร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอน คาดว่าปลายเดือน ก.ย.นี้จะแล้วเสร็จ สามารถขายแบบได้เดือน พ.ย.นี้ มั่นใจว่าจะเปิดประมูลได้ภายในปี 2556

ส่วนเส้นทางรถเมล์ที่ขึ้นต้นด้วยเลข 6 และ 7 พบว่า ขสมก. มีการเดินรถสาย 710 วงกลมอรุณอมรินทร์-ถนนราชพฤกษ์ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2556 โดยเขตการเดินรถที่ 5 ใช้รถเมล์ครีมแดง

เขตการเดินรถที่ 6 มีการเดินรถสาย 720 กัลปพฤกษ์-เดอะมอลล์ท่าพระ และเขตการเดินรถที่ 7 มีการเดินรถสาย 751 สถานีรถไฟฟ้าบางหว้า-สะพานพระราม 4

สำหรับจังหวัดสมุทรสาคร จากประกาศคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ฉบับที่ 1950 (พ.ศ. 2552) พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงในส่วนของเส้นทางรถเมล์ ขสมก. มากพอสมควร อาทิ

• สาย 604 สถานีรถไฟฟ้าวงเวียนใหญ่-มหาชัยเมืองใหม่ มีลักษณะคล้ายกับสาย ปอ.7 รถร่วมบริการ ใช้ถนนเอกชัย ถนนบางบอน 3 ถนนเพชรเกษม ถนนอินทรพิทักษ์ แต่ตัดระยะลงมาเหลือต้นทางมหาชัยเมืองใหม่ ปลายทางเหลือแค่สถานีรถไฟฟ้าวงเวียนใหญ่ ไม่เข้าไปถึงสถานีรถไฟหัวลำโพง

• สาย 639 วงเวียนใหญ่-สมุทรสาคร มีลักษณะคล้ายกับสาย 120 รถร่วมบริการ แต่แตกต่างตรงที่เมื่อถึงสามแยกวุฒากาศจะใช้ถนนวุฒากาศ ถนนเทอดไท ตลาดพลู ถนนอินทรพิทักษ์ สุดเส้นทางที่วงเวียนใหญ่ ขณะที่สาย 120 จะใช้ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน

• สาย 657 บางลำพู-สมุทรสาคร มีลักษณะเหมือนกับสาย ปอ.68 รถร่วมบริการ ใช้เส้นทางถนนพระราม 2 ถนนสุขสวัสดิ์ ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถนนรัชดาภิเษก ถนนจรัญสนิทวงศ์ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า แต่จะไม่เข้าวัดบวรนิเวศน์วิหารเปลี่ยนเป็นเลี้ยวเข้าถนนจักรพงษ์ ถนนพระอาทิตย์ ก่อนวกเข้าถนนจักรพงษ์ วนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อนข้ามสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า

• สาย 668 สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า-โรงเรียนศึกษานารี 2 เส้นทางใหม่ชายขอบสมุทรสาคร เส้นทางแรกที่เข้าถนนบางบอน 5 จากถนนเอกชัย ไปออกถนนมาเจริญ หรือซอยเพชรเกษม 81 ถนนจรัญสนิทวงศ์ ก่อนสิ้นสุดที่เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า

• สาย 681 สะพานตากสิน-มหาชัยเมืองใหม่ มีลักษณะเหมือนกับสาย 105 เขตการเดินรถที่ 5 ใช้เส้นทางถนนพระราม 2 ถนนสุขสวัสดิ์ ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถนนกรุงธนบุรี แต่ไม่วนซ้ายผ่านวงเวียนใหญ่ หมดระยะเพียงแค่สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน

• สาย 700 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-มหาชัยเมืองใหม่ (ทางด่วน) มีลักษณะเหมือนกับสาย 140 รถร่วมบริการ ใช้เส้นทางถนนพระราม 2 ถนนสุขสวัสดิ์ ขึ้นทางด่วนเฉลิมมหานครที่ด่านสุขสวัสดิ์ ลงที่ทางลงเพชรบุรี

• สาย 718 สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพมหานคร (ตลิ่งชัน)-กระทุ่มแบน ดัดแปลงจากสาย 189 เขตการเดินรถที่ 6 ใช้เส้นทางถนนเศรษฐกิจ 1 ถนนพุทธสาคร ถนนเพชรเกษม ก่อนเข้าถนนกาญจนาภิเษกบริเวณทางต่างระดับบางแค ออกทางแยกต่างระดับฉิมพลี ถนนบรมราชชนนี สุดเส้นทางที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพมหานคร (ตลิ่งชัน) หรือสายใต้ตลิ่งชัน

ส่วนเส้นทางที่ผ่านพื้นที่อ้อมน้อย ได้แก่

• สาย 667 สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า-หมู่บ้านกลาโหม (พุทธมณฑลสาย 5) มีลักษณะเหมือนกับสาย 81 ใช้เส้นทางถนนพุทธมณฑลสาย 5 ถนนเพชรเกษม ถนนนจรัญสนิทวงศ์ ก่อนสิ้นสุดที่เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า

• สาย 673 แม้จะเปลี่ยนไปใช้เส้นทางถนนเลียบคลองทวีวัฒนา และถนนอุทยาน แตกต่างจากสาย 84 ก. แต่ช่วงสะพานตากสิน-วัดไร่ขิง มีลักษณะคล้ายกับสาย 84 ใช้เส้นทางถนนเพชรเกษม ก่อนเลี้ยวเข้าวัดไร่ขิง จ.นครปฐม

• สาย 688 ท่าราชวรดิษฐ์-อ้อมใหญ่ มีลักษณะเหมือนสาย 123 ฟาร์มจระเข้สามพราน-สนามหลวง เริ่มต้นจากบริเวณท่าราชวรดิษฐ์ ข้ามสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถนนบรมราชชนนี ถนนพุทธมณฑลสาย 2 ถนนเพชรเกษม จนสุดเส้นทางที่อ้อมใหญ่

คงต้องดูกันต่อไปว่าเราจะได้เห็นรถเมล์เอ็นจีวีเป็นรูปเป็นร่างเมื่อไหร่ ถึงตอนนั้นเราจะเริ่มเห็นรถเมล์สายใหม่เพิ่มขึ้น ไปพร้อมๆ กับรถเมล์สายเก่าค่อยๆ ลดจำนวนลงเนื่องจากหมดความจำเป็นแล้ว



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง