“ศรีสุวรรณ จรรยา” เขียนถึงเจตนารมณ์ “ทองนาค” กับคำพิพากษาศาลปกครอง

858

หลังจากที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้บริษัท เทคนิทีม (ประเทศไทย) ยุติการประกอบกิจการถ่านหินใน ต.ท่าทราย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร แน่นอนว่าชาวบ้านและแกนนำต่อต้านถ่านหินต่างรู้สึกยินดีกับคำพิพากษาที่ออกมา แม้คำสั่งศาลปกครองกลางจะไม่สามารถเอาผิดกับ อบต.ท่าทราย และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ที่ปล่อยปะละเลยให้นายทุนเข้ามาประกอบกิจการได้

หนึ่งวันต่อมา “ศรีสุวรรณ จรรยา” นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ชาวบ้าน ต.ท่าทราย ได้เขียนบทความลงในคอลัมน์ สิทธิสิ่งแวดล้อม ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับประจำวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา จั่วหัวเอาไว้ว่า “เจตนารมณ์ ทองนาค เสวกจินดา”

โดยกล่าวถึงการต่อสู้ของประชาชนชาว ต.ท่าทราย ที่หาทางออกไม่ได้ ในเรื่องการก่อสร้างโรงงานเก็บและขนถ่ายถ่านหินในพื้นที่สีเขียว ต้องพึ่งพาศาลปกครองให้ช่วยพิจารณาพิพากษาเพิกถอนการใช้อำนาจดังกล่าวของหน่วยงานภาครัฐ โดยมีสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ช่วยดำเนินกระบวนการต่อสู้ในทางคดีให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายมาตั้งแต่ต้น

แต่ในระหว่างพิจารณาคดี ต้องสูญเสียแกนนำคนสำคัญอย่าง “ทองนาค เสวกจินดา” ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดี บุกยิงถึงหน้าบ้านเมื่อเช้าวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 ขณะที่เพิ่งขึ้นศาลต่อสู้คดี แม้ตำรวจจะสามารถจับผู้สังหารและผู้บงการได้ แต่การสูญเสียนายทองนาคไปอย่างไม่มีวันกลับ สะท้อนให้เห็นถึงระบบ หรือมาตรการคุ้มครองชีวิตของแกนนำที่ต่อสู้เพื่อประโยชน์สาธารณชน ไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐ

ศรีสุวรรณกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยหันมาตรึกตรอง และทำความจริงให้ปรากฏต่อการบริหารราชการแผ่นดินในทุกระดับว่า เกิดผลประโยชน์ต่อสาธารณชน และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญเพียงใด ระบบการตรวจสอบจะต้องมีมาตรการที่รวดเร็วและชัดเจนในการนำผู้มีอำนาจมาลงโทษ

คำพิพากษาของศาลปกครอง เป็นมาตรการที่สำคัญ ในการสร้างระบบถ่วงดุลอำนาจรัฐ มิให้เหลิงในอำนาจ จนนำไปสู่ความขัดแย้ง และสร้างความเดือดร้อนและเสียหายในวงกว้าง

• • •

เจตนารมณ์ “ทองนาค เสวกจินดา”

นายศรีสุวรรณ จรรยา
นายกสมาคมการจัดการสิ่งแวดล้อมนิด้า
www.thaisgwa.com

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมาศาลปกครองกลางได้กำหนดอ่านคำพิพากษาคดีที่นายทองนาค เสวกจินดา กับพวกรวม 20 คน ได้ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลท่าทราย สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และสำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 3 กรมเจ้าท่า ฐานเป็นหน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

คดีนี้เป็นคดีพิพาทที่เกิดขึ้นมาก่อนปี 2553 แล้ว เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐข้างต้นได้ใช้อำนาจในการอนุมัติ/อนุญาตให้บริษัท เทคนิทีม (ประเทศไทย) จำกัด สามารถก่อสร้างและดำเนินกิจการโรงงานเก็บและขนถ่ายถ่านหิน รวมทั้งก่อสร้างท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินขึ้นได้ในพื้นที่ตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาครได้ โดยที่ถูกชาวบ้านคัดค้านมาโดยตลอด เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและเป็นพื้นที่สีเขียวตามผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรสาคร แต่หน่วยงานของรัฐข้างต้นก็หาได้นำมาใส่ใจไม่

ในที่สุดชาวบ้านหาทางออกไม่ได้ก็เลยต้องมาพึ่งพาศาลปกครองให้ช่วยพิจารณาพิพากษาเพิกถอนการใช้อำนาจดังกล่าวของหน่วยงานภาครัฐ โดยมีสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ช่วยดำเนินกระบวนการต่อสู้ในทางคดีให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายมาตั้งแต่ต้น เพราะเห็นว่าเป็นคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ

คดีนี้ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้การคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2554 ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา เนื่องจากการประกอบกิจการถ่านหินของผู้ร้องสอด เป็นการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งต้องได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้

ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งให้ระงับการประกอบกิจการถ่านหินทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการลำเลียง การเก็บกอง การขนถ่าย การขนส่งหรือการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในตำบลท่าทราย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีแต่ละรายไว้ เพื่อควบคุม ตรวจสอบ หรือกำกับให้มีการปฏิบัติตามคำสั่งศาลและคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ซึ่งต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีก็ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด แต่ทว่าศาลปกครองสูงสุดก็ได้ยืนยันตามการวินิจฉัยของศาลปกครองกลางว่าถูกต้อง เหมาะสมและชัดเจนแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2555 ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีและบริษัทคู่กรณีพิพาทเจ้าของกิจการไม่มีหนทางอื่นใด นอกจากต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดโดยเคร่งครัดเท่านั้น

ส่วนในการต่อสู้คดีหลักศาลก็ยังคงพิจารณาไต่สวนกันอย่างต่อเนื่องมาเป็นปกติตามวิธีพิจารณาคดีปกครอง ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ทุกประการ จนกระทั่งศาลได้กำหนดให้มีการอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา นับเป็นเวลากว่า 3 ปีของกระบวนการแสวงหาความยุติธรรมทางปกครองของชาวบ้าน

ข้อพิพาทของคดีนี้ ไม่ควรที่จะเกิดขึ้นหากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหรือผู้ใช้อำนาจรัฐปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดตรงไปตรงมา และคำนึงถึงเหตุผลและเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนในฐานะผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ โดยเฉพาะการใช้ตรรกะเหตุและผลในการพิจารณาสภาพแวดล้อมที่รอบด้านให้ถ่องแท้เสียก่อนปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น และไม่เกิดความสูญเสียที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นตามมา

เพราะเหตุแห่งกรณีพิพาทดังกล่าวทำให้ชุมชนท่าทราย รวมทั้งชาวสมุทรสาคร ต้องสูญเสียบุคลากรที่มีคุณค่ามหาศาลของจังหวัดไปอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น นั่นคือ การสูญเสียคุณทองนาค เสวกจินดา ในฐานะแกนนำชาวบ้านคนหนึ่ง ที่ลุกขึ้นมาทำให้ที่ปกป้องทรัพยากรในพื้นถิ่น มีให้ถูกเบียดบังหรือทำลายจากระบบอุตสาหกรรมมลพิษ อันจะมีผลกระทบระยะยาวต่อวิถีชีวิต การทำมาหากิน ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน ที่เป็นฐานทรัพยากรของชุมชนจนมิอาจเรียกฟื้นคืนกลับมาได้ หากชุมชนปล่อยปละละเลย ปล่อยให้เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐหรือฝ่ายปกครองแต่เพียงฝ่ายเดียว

การออกมาเป็นแกนนำของชาวบ้านทำให้คุณทองนาค ต้องจบชีวิตลงจากการบุกยิงถึงหน้าบ้านเมื่อเช้าวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 ขณะที่เพิ่งขึ้นศาลต่อสู้คดีข้างต้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมนั่นเอง แม้เจ้าตัวจะรู้ระแคะระคายมาก่อนหน้าแล้วว่ามีกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ในเรื่องที่เขาออกมาเป็นแกนนำต่อต้านโรงงานถ่านหินคิดปองร้ายหมายชีวิตแกนนำทุกคนก็ตาม

แม้คดีนี้ตำรวจจะสามารถจับผู้สังหารและผู้บงการได้ แต่ก็มิได้หมายความว่าการกระทำดังกล่าว เป็นสิ่งที่สังคมไทยจะต้องชื่นชมยินดี ต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างรวดเร็วของตำรวจไทย เพราะอย่างไรเสียคนสมุทรสาครต้องสูญเสียคุณทองนาคไปอย่างไม่มีวันกลับ ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นถึงระบบ หรือมาตรการคุ้มครองชีวิตของแกนนำชุมชน ผู้ต่อสู้เพื่อประโยชน์สาธารณชนนั้น ไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐเลย แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานราชการทุกภาคส่วนจะต้องให้การคุ้มครองประชาชนไว้อย่างไรก็ตาม

ณ บัดนี้ ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยในทุกระบบ ในทุกระดับ ควรจะหันมาตรึกตรองและทำความจริงให้ปรากฏต่อการบริหารราชการแผ่นดินของผู้ถืออำนาจรัฐในทุกระดับว่าได้ดำเนินการใช้อำนาจไปในทางที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อสาธารณชน และเป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 29 ได้บัญญัติไว้ชัดเจนได้เพียงใด เพราะหากเรายังปล่อยให้ผู้ใช้และผู้ถืออำนาจรัฐ ดำเนินการใด ๆ ไปโดยพละการ แล้วนำไปสู่ความเดือดร้อนและเสียหายต่อประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยชัดแจ้ง

ดังนั้น ระบบการตรวจสอบจะต้องมีมาตรการที่รวดเร็วและชัดเจนในการนำผู้ระเริงอำนาจเหล่านั้นมาลงโทษ เพราะถือว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถมากกว่าประชาชน เราอย่าปล่อยให้โจรใส่สูท ถือดาบอำนาจมาประหัตประหารประชาชนผ่านการอนุมัติ/อนุญาตให้นายทุน ผู้ประกอบการใด ๆ มาดำเนินโครงการใด ๆ ก็ได้ภายในชุมชน โดยที่ไม่ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 57 มาตรา 58 หรือมาตรา 67 และมาตรา 87 บัญญัติไว้ เพราะสังคมไทยไม่ยอมที่จะสูญเสียคนอย่างทองนาค เสวกจินดา เป็นรายที่ 2 ที่ 3 ต่อ ๆ ไปได้อีกแล้ว

คำพิพากษาของศาลปกครอง จึงเป็นมาตรการที่สำคัญ ในการสร้างระบบถ่วงดุลอำนาจรัฐ มิให้เหลิงในอำนาจ จนนำไปสู่ความขัดแย้ง และสร้างความเดือดร้อนและเสียหายในวงกว้างให้กับสาธารณชนได้อีกต่อไป อำนาจอธิปไตยของชาติ ที่ดำเนินการผ่านศาลปกครอง จึงเป็นคุณูปการต่อสังคมไทยอย่างชัดเจนยิ่งแล้ว…

ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐ



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง