เกาะติด “มหาชัยโมเดล” 2 ปีฟื้นชีวิตคลองภาษีเจริญ

1832-001

ต้องยอมรับว่าปัญหาน้ำเสียของจังหวัดสมุทรสาครถูกจับตามองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาคลองภาษีเจริญ อ.กระทุ่มแบน เกิดเสื่อมโทรมเรื้อรังยาวนานนับสิบปี

สาเหตุสำคัญที่พบ มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากตั้งรายล้อมคลอง บ้านเรือนปล่อยน้ำทิ้งที่มีสารเคมีปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ รวมทั้งวัชพืชและขยะมูลฝอย ทำให้กลายสภาพจากคลองอันใสสะอาดเป็นดำคล้ำ ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนจนใช้การไม่ได้

ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต ว่าที่อธิบดีกรมการปกครองคนใหม่ ในฐานะอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร จึงเล็งเห็นปัญหาความสำคัญของคลองประวัติศาสตร์ ก่อนประกาศขึ้นบัญชีเป็นวาระสำคัญของจังหวัด

พร้อมผุดโครงการ “สมุทรสาครโมเดล” จุดประกายกำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม และสภาองค์กรชุมชนต่างๆ มาร่วมด้วยช่วยกันออกแรงขับเคลื่อนเร่งฟื้นฟูคุณภาพเพื่อให้คืนสู่สภาพเดิม

“จากวันนั้นจนบัดนี้ราว 2 ปี ปรากฏว่าปัจจุบันภาพรวมคลองภาษีเจริญถือว่าสะอาดขึ้นบ้าง แต่ทว่าค่าคุณภาพน้ำยังอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมน่าห่วง ต้องเฝ้าระวังสานต่อโครงการต่อไปทุกระยะ”

1832-002

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ณัฐธัญ พลังจุนันท์ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลตลาดกกระทุ่มแบน อ.กระทุ่มแบน บอกว่า ในอดีตราว 30 ปี ตนอายุประมาณ 10 ขวบ ได้เห็นสภาพน้ำคลองภาษีเจริญใสสะอาดมาก มีทั้งกุ้งหอย-ปูปลาจับขึ้นมากินได้

แล้วจู่ๆ ค่อยๆ เกิดเน่าเสียสะสมจนถึงขั้นวิกฤต

กระทั่งในปี 2556 เมื่อมีโครงการ “สมุทรสาครโมเดล” ออกมา ทางสภาองค์กรชุมชนต่างๆ จึงเกิดแนวคิดร่วมมือร่วมใจกัน นัดขอความร่วมมือสนับสนุนภาคประชาชน จากหน่วยงานราชการและองค์กรส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจน ส.ส. และ ส.อบจ. ให้เล็งเห็นความสำคัญคลองสาธารณะ ในฐานะภาคประชาชนจะช่วยขับเคลื่อนแก้ไขตามรูปแบบต่างๆ

ณัฐธัญ ระบุว่า ความเสื่อมของคลองภาษีเจริญขั้นแย่ที่สุด คือเคยมีเด็กพลัดตกลงไปแล้ว ต่อมาติดเชื้อในปอดจนเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม หลังการรณรงค์นำชาวบ้านออกมาช่วยกันรักษาฟื้นฟูคุณภาพน้ำ แม้ล่าสุดยังไม่สวยใสเหมือนยุคก่อน แต่จัดว่าค่อยๆ ดูดีขึ้นกว่าเดิมตามลำดับ

1832-003

ด้าน สมพร อ่วมประทุม ประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคม จ.สมุทรสาคร ให้ทรรศนะว่า ปัญหาน้ำเสียของแหล่งน้ำนี้ ต้องแยกความแตกต่างกันระหว่าง 3 อำเภอ เช่น อ.บ้านแพ้ว มีปัญหาออกจากภาคเกษตรกรรม

ส่วน อ.เมืองฯ ปัญหามาจากภาคอุตสาหกรรมหรือประมงต่อเนื่อง ขณะที่ อ.กระทุ่มแบน มีลักษณะใกล้เคียงกับ อ.เมืองฯ

ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ต้องให้ความสำคัญคือร่วมมือร่วมใจอย่างมีส่วนร่วม เพื่อเป้าหมายไปสู่ทิศทางเดียวกัน จากนั้นค่อยสำรวจมาตรการทำงาน และประมวลความสำเร็จตามนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

สมบัติ ศิริพงษ์เวคิณ กำนันตำบลสวนหลวง อ.กระทุ่มแบน บอกว่า คลองภาษีเจริญถือว่าสะอาดขึ้นมาบ้าง จากก่อนหน้านี้น้ำมีสภาพเน่าเสียหนัก จนมีสีดำจัดใกล้เคียงสีกาแฟ จึงร่วมกับชาวบ้านเพื่อให้สนใจถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนริมฝั่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

และแนะนำให้มีการนำมาตรการทางกฎหมายมาบังคับควบคุม จับกุมบรรดาโรงงานที่ทิ้งน้ำเสีย โดยไม่สนใจแหล่งน้ำสาธารณะ

1832-004

บัญชา ช่อสุวรรณ ชาวบ้านริมฝั่งภาษีเจริญ ยอมรับว่า พวกเราเคยชินแล้วกับสีน้ำดำและกลิ่นเหม็น อย่างไรก็ตาม ยังลุ้นหน่วยงานช่วยบำบัดให้คืนกลับสู่สภาพปกติ อันจะทำให้ชาวริมฝั่งไม่ต้องมาทนสูดดมสารพิษในชีวิตประจำวันอีกต่อไป

นเรศ แก้วชิงดวง ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.สวนหลวง ยืนยันว่า เห็นสภาพน้ำจากใสสะอาดจนมาเกิดปัญหาวิกฤต จึงมีแนวคิดขอสนับสนุนงบประมาณจากทางเทศบาลตำบลสวนหลวงมาช่วยแก้ไข

ทั้งรณรงค์อนุรักษ์ฟื้นฟู โดยดึงเด็กนักเรียนในฐานะ “กลุ่มมดเขียว” พากันออกเก็บขยะและผักตบชวาตามคูคลองช่วงวันหยุด ซึ่งมีเบี้ยเลี้ยงให้บ้างเล็กน้อย ขณะที่ชาวบ้านนำข้าวปลาอาหารมาช่วยสมทบ

ทั้งนี้ ในฐานะแกนนำเครือข่ายองค์กรชุมชนสวนหลวงจะติดตามดูเรื่องนี้เรื่อยๆ ต่อไป

1832-005

1832-006

1832-007

1832-008

1832-009

1832-010

1832-011

1832-012

1832-013

มานพ พฤฒิวโรดม รายงาน / โทรศัพท์ 08-7151-2525



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง