“พร้อมเพย์” คนไทยต้องรู้ ก่อนลงทะเบียนกรกฎาคมนี้

2570

ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป กระทรวงการคลังจะเปิดให้ประชาชนทั้งประเทศ ลงทะเบียนระบบการชำระเงินแบบนานานาม “เอนี ไอดี” (Any ID) ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National E-Payment) ของรัฐบาล ที่ธนาคารของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ

ประโยชน์ของเอนี ไอดี มีอยู่สองอย่าง คือ เลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก ใช้รับเงินสวัสดิการจากรัฐบาล หรือเงินคืนภาษีจากกรมสรรพากร เข้าบัญชีที่สมัครและผูกกับบริการเอนี ไอดีได้ทันที สำหรับชาวบ้าน เกษตรกร หากรัฐบาลจะช่วยเหลือกรณีประสบภัยพิบัติ หรือผลผลิตตกต่ำ ฯลฯ รัฐบาลก็จะใช้เลขที่บัตรประชาชน โอนเงินผ่าน “เอนี ไอดี” เข้าบัญชีธนาคารที่เราลงทะเบียนไว้

ส่วนผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป หากรัฐบาลจะจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปกติต้องลงทะเบียนและส่งสำเนาบัญชีธนาคาร แต่ต่อไปนี้จะช่วยลดขั้นตอนการลงทะเบียนมากขึ้น ใครเคยลงทะเบียน “เอนี ไอดี” เอาไว้ก็ใช้รับเงินเบี้ยยังชีพได้ทันที รวมทั้งเงินสวัสดิการของข้าราชการ เช่น เงินบำนาญ เบี้ยหวัด เงินบำนาญพิเศษ ก็จะโอนเงินผ่าน “เอนี ไอดี” เข้าบัญชีธนาคารที่เราลงทะเบียนไว้เช่นกัน

ประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง คือ การโอนเงินให้กัน โดยใช้เบอร์มือถือแทนเลขที่บัญชี ปัจจุบันเราโอนเงินโดยใช้เลขบัญชี ผ่านเครื่องเอทีเอ็ม อินเตอร์เน็ต และมือถือไปยังบัญชีต่างธนาคาร ค่าธรรมเนียมจะอยู่ที่ครั้งละ 25-35 บาท แต่ต่อจากนี้ การโอนเงินให้กันครั้งละต่ำกว่า 5,000 บาท จะไม่มีค่าธรรมเนียม ส่วนจำนวนเงินมากกว่า 5,000 ขึ้นไปค่าธรรมเนียมเพียง 2-10 บาทเท่านั้น

โดยระบบเอนี ไอดี จะใช้สำหรับการรับเงินสวัสดิการจากภาครัฐสู่ประชาชน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 และสามารถรับ-โอนเงินระหว่างประชาชนทั่วไป ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 เป็นต้นไป

สมาคมธนาคารไทย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดตัวระบบการชำระเงินแบบนานานาม พร้อมกับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “บริการพร้อมเพย์” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์ และธนาคารของรัฐ จะเปิดให้ลูกค้าสามารถลงทะเบียนผ่าน 4 ช่องทาง ประกอบด้วย สาขาธนาคารพาณิชย์ ตู้เอทีเอ็ม อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง และโมบายแบงกิ้ง โดยไม่มีสิ้นสุดการรับลงทะเบียน

เบื้องต้น เอกสารที่ต้องเตรียมในการลงทะเบียนบริการพร้อมเพย์ที่สาขา ได้แก่ สมุดบัญชี หรือเลขที่บัญชีธนาคาร (บัญชีแบบไม่มีสมุดบัญชี), บัตรประจำตัวประชาชน และมือถือ สำหรับรับ SMS OTP เพื่อยืนยันตัวตนที่สาขา โดยสามารถผูกบัญชีได้สูงสุด 4 ไอดี ได้แก่ เลขที่บัตรประชาชน 1 ไอดี และเบอร์โทรศัพท์มือถือ 3 ไอดี โดยเลขที่บัตรประชาชนจะผูกกับเบอร์มือถือได้หลายเบอร์ก็ได้

แต่หากใช้เลขที่บัตรประชาชน หรือเบอร์มือถือผูกกับบัญชีใดแล้ว จะนำไปผูกกับบัญชีอื่นอีกไม่ได้ จนกว่าจะมีการยกเลิกการลงทะเบียนเดิมก่อนที่ธนาคารต้นทาง

อย่างไรก็ตาม การนำบัญชีธนาคาร ทั้งบัญชีออมทรัพย์ และกระแสรายวัน (ไม่ใช่บัญชีร่วม) ผูกกับบริการพร้อมเพย์นั้น หากต้องการใช้สำหรับรับเงินโอน ควรจะคิดถึงความสะดวกของตัวเอง เช่น เป็นธนาคารที่เราใช้บริการประจำ มีบัตรเดบิตอยู่แล้ว มีสาขาอยู่ใกล้บ้าน หรือสามารถถอนเงินที่ห้างใกล้บ้านในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ได้

หรือจะเป็นบัญชีเงินเดือน สำหรับข้าราชการ พนักงานประจำ บัญชีบัตรนักศึกษา บัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในกรณีที่เป็นเกษตรกร บัญชีธนาคารที่ผูกกับบัตรกดเงินฟรี แม้กระทั่งบัญชีธนาคารที่ฝากเงินนอกเวลาทำการยาก สาขามีจำนวนน้อย ก็สามารถสมัครบริการพร้อมเพย์ เพื่อโอนเงินในอัตราที่ถูกกว่า ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้ใช้งาน

สำหรับประชาชนที่สนใจบริการพร้อมเพย์ ขณะนี้เว็บไซต์ของแต่ละธนาคารได้เผยแพร่ข้อมูลบริการนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากมีข้อสงสัยสามารถอ่านรายละเอียด หรือสอบถามได้ที่คอลล์เซ็นเตอร์ของแต่ละธนาคาร เพื่อที่จะได้สามารถใช้บริการพร้อมเพย์ในการรับเงินโอน หรือโอนเงินให้กับผู้อื่นได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง