เกิดอะไรขึ้นกับไทยยูเนี่ยนฯ ก.ล.ต.ปรับ 13 ล้าน ปมอินไซเดอร์หุ้น TU

ไกรสร จันศิริ

มีข่าวใหญ่เกิดขึ้นกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 9 ราย ปรับเป็นเงิน 13.36 ล้านบาท กรณีซื้อหุ้น TU โดยอาศัยข้อมูลภายใน เปิดเผยข้อมูลภายใน และช่วยเหลือการกระทำความผิด ที่เรียกว่า “อินไซเดอร์”

อธิบายในทางตลาดหุ้นโดยทั่วไป คำว่า อินไซเดอร์ (Insider) คือพฤติการณ์ที่บุคคลซึ่งมีตำแหน่งหรือฐานะ เช่น กรรมการ ผู้บริหาร หรือคนใกล้ชิด ไปล่วงรู้ข้อมูลภายใน แล้วทำการซื้อหรือขายหุ้นบริษัทตนเอง โดยอาศัยข้อมูลที่มีนัยยะสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้น แต่ข้อมูลยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ เรียกว่า “ข้อมูลอินไซด์” เช่น ผลการดำเนินงานแต่ละไตรมาส การเจรจาตกลงกับร่วมธุรกิจกับคู่ค้ารายใหญ่ การเจรจาเข้าซื้อกิจการ ฯลฯ ไม่ว่าจะส่งผลบวกหรือผลลบต่อราคาหุ้น ก็มีผลทำให้คนที่รู้ข้อมูลนี้แล้วอยากซื้อหรือขายหุ้นนั้นทันที ทั้งที่ยังไม่เปิดเผยข้อมูลออกมา

ถือเป็นพฤติกรรมเอาเปรียบและไม่เป็นธรรมต่อบุคคลภายนอก โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นทั่วไป กฎหมายหลักทรัพย์จึงห้ามไม่ให้ซื้อขายหุ้นโดยใช้ข้อมูลอินไซด์ พร้อมกับมีการตรวจสอบและเอาผิดจากสำนักงาน ก.ล.ต. ต่อเนื่อง

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน 2565 ก.ล.ต. ระบุว่า ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2560 บุคคลจำนวน 9 ราย ได้ซื้อหุ้น TU โดยอาศัยข้อมูลภายใน เปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่น หรือช่วยเหลือการกระทำความผิดดังกล่าว ได้แก่

(1) นายไกรสร จันศิริ (ขณะกระทำความผิดดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ TU)

(2) นายดิสพล จันศิริ

(3) นายชาน ฮอน กิต (Mr. Chan Hon Kit) (ขณะกระทำความผิดดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทในเครือ TU)

(4) นายชาน ติน ซู (Mr. Chan Tin Shu)

(5) นางไฉ่ เหวียน จู (Mrs. Choy Yuen Chu)

(6) นายชวน ตั้งจันสิริ (ขณะกระทำความผิดดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ TU)

(7) นางเฉิน อวี้ เจิน (Mrs. Chen Yu-Chen)

(8) นายชาน ฮอน ฮุง (Mr. Chan Hon Hung)

และ (9) นางหุย ปุย หวา (Mrs. Hui Pui Wah)

พฤติการณ์ก็คือ นายไกรสร จันศิริ, นายชาน ฮอน กิต และนายชวน ตั้งจันสิริ ได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2560 ของ TU ที่มีกำไรสุทธิจำนวน 1,736.84 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2560 ร้อยละ 23.07 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 3 ปี 2559) ร้อยละ 8.93

ในระหว่างวันที่ 9 ตุลาคม ถึง 3 พฤศจิกายน 2560 นายไกรสร ได้ซื้อหุ้น TU โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของ นายดิสพล จันศิริ ซึ่งเป็นบุตรชาย

ขณะที่ นายชาน ฮอน กิต ได้ซื้อหุ้น TU ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง และเปิดเผยข้อมูลภายในแก่ นายชาน ติน ซู ซึ่งเป็นบุตรชาย และ นางไฉ่ เหวียน จู ซึ่งเป็นภรรยา ต่อมาทั้งคู่ก็ได้นำข้อมูลภายในที่ได้รับดังกล่าว ไปใช้ซื้อหุ้น TU ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง

นอกจากนี้ ยังพบว่า นายชวน ตั้งจันสิริ ได้ซื้อหุ้น TU ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของ นางเฉิน อวี้ เจิน ซึ่งเป็นเพื่อนนายชวน และบัญชีของอา เพื่อประโยชน์ของตนเองและอาตามลำดับ รวมถึงเปิดเผยข้อมูลภายในแก่ นายชาน ฮอน ฮุง ซึ่งเป็นพี่ชายนายชวน นำข้อมูลภายในที่ได้รับการเปิดเผยจากนายชวนไปใช้ซื้อหุ้น TU ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง

อีกทั้งนายชวน ตั้งจันสิริ ยังได้เปิดเผยข้อมูลภายในแก่ นางหุย ปุย หวา ซึ่งเป็นภรรยา ได้นำข้อมูลภายในดังกล่าวไปใช้ซื้อหุ้น TU ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง

ต่อมา TU ได้เปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 หลังจากที่ธุรกรรมการซื้อหุ้นผ่านมาแล้วเกือบ 1 เดือน

การกระทำของนายไกรสร จันศิริ, นายชาน ฮอน กิต, นายชาน ติน ซู (บุตรชายนายชาน ฮอน กิต), นางไฉ่ เหวียน จู (ภรรยานายชาน ฮอน กิต), นายชวน ตั้งจันสิริ, นายชาน ฮอน ฮุง (พี่ชายนายชวน ตั้งจันสิริ) และนางหุย ปุย หวา (ภรรยานายชวน ตั้งจันสิริ) เป็นความผิดฐานซื้อหุ้น TU โดยอาศัยข้อมูลภายในตามมาตรา 242 (1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ

นอกจากนี้ การกระทำของนายชาน ฮอน กิต, นายชวน ตั้งจันสิริ และนายชาน ฮอน ฮุง (พี่ชายนายชวน ตั้งจันสิริ) ยังเป็นความผิดฐานเปิดเผยข้อมูลภายในตามมาตรา 242 (2) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน

ส่วนการกระทำของนายดิสพล จันศิริ (บุตรชายนายไกรสร จันศิริ) และนางเฉิน อวี้ เจิน (เพื่อนนายชวน ตั้งจันสิริ) เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานซื้อหุ้น TU โดยอาศัยข้อมูลภายในตามมาตรา 315 ประกอบมาตรา 242 (1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ

คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับบุคคลทั้ง 9 ราย โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด และมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ รวม 13,363,281 บาท ดังนี้

(1) นายไกรสร จันศิริ ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่พึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 3,426,809 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 14 เดือน

(2) นายดิสพล จันศิริ (บุตรชายนายไกรสร จันศิริ) ชำระค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 551,809 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 9 เดือน

(3) นายชาน ฮอน กิต ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่พึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,406,309 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 12 เดือน

(4) นายชาน ติน ซู (บุตรชายนายชาน ฮอน กิต) ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่พึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 891,809 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 12 เดือน

(5) นางไฉ่ เหวียน จู (ภรรยานายชาน ฮอน กิต) ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่พึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 806,809 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 12 เดือน

(6) นายชวน ตั้งจันสิริ ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่พึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,701,809 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 14 เดือน

(7) นางเฉิน อวี้ เจิน (เพื่อนนายชวน ตั้งจันสิริ) ชำระค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 551,809 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 9 เดือน

(8) นายชาน ฮอน ฮุง (พี่ชายนายชวน ตั้งจันสิริ) ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,164,309 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 12 เดือน

(9) นางหุย ปุย หวา (ภรรยานายชวน ตั้งจันสิริ) ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่พึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 861,809 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 12 เดือน

การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่อัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด

ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง

จากซ้ายไปขวา ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, ไกรสร จันศิริ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ และ เชง นิรุตตินานนท์ ผู้ก่อตั้งและประธานคณะกรรมการบริหาร เมื่อครั้งเปิดตัวสัญลักษณ์องค์กรใหม่ของไทยยูเนี่ยนฯ

เรื่องนี้ทำให้เมื่อ 12 เมษายน 2565 สมาคมบริษัทจัดการลงทุน คณะอนุกรรมการนโยบาย ESG Policy & Collective Action Committee ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุน นำโดยนางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานคณะอนุกรรมการฯ และประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ ได้ติดตามประเด็นดังกล่าวด้วยความกังวลเป็นอย่างยิ่ง

เนื่องจากมีผลกระทบต่อความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจของ TU ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในเรื่องของ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ Environmental, Social and Governance (ESG) โดยสมาคมฯ หวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการและผู้บริหารทั้ง 9 ราย ตามที่ ก.ล.ต. กำหนดโทษ เพื่อมิให้ TU ได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นในการลงทุน

ปรากฏว่าหลังจากการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี (AGM) ของ TU ครั้งล่าสุด ทางบริษัทยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการหรือผู้บริหารที่ถูกกล่าวโทษแต่ประการใด สมาคมฯ จึงขอรับทราบว่า TU จะมีการสนองตอบต่อการกล่าวโทษของสำนักงาน ก.ล.ต. อย่างไร และหากจะยอมรับโทษ จะมีกำหนดเวลาเปลี่ยนแปลงกรรมการและผู้บริหารที่ถูกกล่าวโทษเมื่อใด

“สมาคมฯ ยังเชื่อมั่นว่า TU จะยังคงความเป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาล พร้อมจะแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดไปโดยเร็ว เพื่อรักษาบรรทัดฐานที่ดีและให้ผู้ลงทุนทั้งหลายยังคงรักษาความเชื่อมั่นในตัวบริษัทได้อย่างที่เคยเป็น” คณะอนุกรรมการฯ ระบุ

ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยยูเนี่ยนฯ เมื่อครั้งประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 4 เมษายน 2565

สำหรับการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี (AGM) ของ TU ครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ที่อาคารเอสเอ็ม ทาวเวอร์ พญาไท และ ถ่ายทอดสดผ่านทางระบบ SHARE INVESTOR นั้น นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TU กล่าวว่า เนื่องจากกรณีนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการกฎหมายกับทาง ก.ล.ต. ทางบริษัทฯ จึงไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ แต่ให้ข้อมูลสำหรับผู้ถือหุ้นได้พิจารณา เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับนายไกรสร จันศิริ ประธานกรรรมการ (ซึ่งเป็นบิดา) โดยตรง

ย้อนกลับไปบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจมา 45 ปี เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมานาน 28 ปี เชื่อว่าผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ถือหุ้นที่รู้จักบริษัทฯ คณะกรรมการ รวมถึงประธานกรรมการบริษัทเป็นอย่างดี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเสียสละทำงานให้กับบริษัทฯ เชื่อว่าเป็นบริษัทฯ ที่ดูแลผู้ถือหุ้นค่อนข้างดีมาตลอดในช่วงเวลา 28 ปีที่ผ่านมา

“เรื่องข้อกล่าวหาดังกล่าว เป็นเรื่องของผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ปี 2560 หรือ 5 ปีที่แล้ว ตนกลับไปดูข้อมูลแล้วอยากเรียนทบทวนชี้แจงให้กับผู้ถือหุ้นได้ทราบว่า ไตรมาส 3 ของปี 2560 เป็นไตรมาสที่ปกติไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ไม่มีเรื่องการเข้าซื้อกิจการ หรือการลงทุนใดๆ นอกเหนือจากการปฏิบัติธุรกิจทั่วไป” นายธีรพงศ์ ระบุ

ทั้งนี้ เป็นปีที่บริษัทฯ มีความลำบากในการดำเนินธุรกิจค่อนข้างมาก ไตรมาส 3 ปี 2560 มียอดขายเพิ่มขึ้่น 0.4% มีอัตรากำไรขั้นต้นลดลง 5.6% ผลกำไรจากการดำเนินงานลดลง 29.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิดูเหมือนเพิ่มขึ้น 8.9% มาจากการทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และบริษัทที่เข้าไปลงทุน คือ Red Lobster และ Avanti Feeds ที่ประเทศอินเดีย ผู้บริหารรวมทั้งตนไม่สามารถรู้ล่วงหน้าหรือคาดการณ์ได้

เช่น เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ต้องบริหารจัดการอย่างดีตลอดปี ผลประกอบการของบริษัท Red Lobster ในปี 2562 บริษัทฯ ยังเป็นผู้ถือหุ้นข้างน้อย ไม่มีส่วนร่วมในการบริหาร ผู้ถือหุ้นใหญ่ในเวลานั้นก็คือ Golden Gate Capital ซึ่งเป็นคนรับผิดชอบในการบริหารโดยตรง ส่วนบริษัท Avanti Feeds ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ประเทศอินเดีย กฎระเบียบมีความเข้มงวดมาก แม้กระทั่ง Forecast ก็ไม่สามารถให้ได้ เพราะฉะนั้นผลประกอบการช่วงดังกล่าวเป็นไตรมาสปกติ ผลการดำเนินงานไม่ได้ดีอะไรด้วยซ้ำ

ประการต่อมา ตนกลับไปดูข้อมูลในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2560 เป็นช่วงที่ราคาตลาดหุ้นไทยตกลงโดยภาพรวม เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจ รวมถึง TU ซึ่งก่อนหน้านั้นต้นปีราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 22 บาท แต่ในช่วงเวลานั้นราคาตกลงไปต่ำกว่า อยู่ในระดับ 17 บาทกว่า อยากจะให้เห็นว่าถ้าเป็นผู้ถือหุ้นโดยปกติ เมื่อเห็นราคาตกลง ก็น่าจะใช้เป็นเหตุผลในการเข้าลงทุนได้ เพราะราคาของ TU ในอดีตไม่เคยต่ำกว่าระดับ 20 บาทในช่วงเวลานั้น

อีกประการหนึ่ง นายไกรสร จันศิริ ประธานกรรมการ ไม่ได้ซื้อหุ้น TU ในเวลานั้น บุคคลที่ถูกกล่าวหาในการเข้าซื้อหุ้น TU ทั้งหมด ไม่ได้เป็นผู้บริหารและไม่ได้เป็นกรรมการ TU ในกรณีของนายไกรสร มีบุตรชายคือ ดร.ดิสพล จันศิริ อายุ ณ เวลานั้น 45 ปี ได้เข้าทำการซื้อหุ้น TU เป็นจำนวน 2 ล้านหุ้น

“ผมไปขอข้อมูลบัญชีที่นายดิสพลซื้อ พบว่าเป็นบัญชีมาร์จิ้น (Margin) ที่มีวงเงินสามารถซื้อหุ้นได้ 10 ล้านหุ้น แต่นายดิสพลซื้อ 2 ล้านหุ้นเท่านั้น จึงอยากจะถือโอกาสชี้แจงให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบว่า ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนเนื่องจากไม่ได้เป็นกรรมการหรือผู้บริหาร TU จึงไม่รู้ในเรื่อง Silent Period (การห้ามขายหุ้น) ของบริษัทด้วย” นายธีรพงศ์ ระบุ

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2537 ปัจจุบัน ณ วันที่ 12 เมษายน 2565 ราคาอยู่ที่ 16.70 บาทต่อหุ้น มีมูลค่าตลาด 79,689.32 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้นรายย่อย ณ วันที่ 10 มีนาคม 2565 อยู่ที่ 27,437 ราย คิดเป็น 67.76%

ลักษณะธุรกิจ คือ ผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋อง และขยายธุรกิจให้ครบวงจรด้วยธุรกิจอาหารสำเร็จรูปและอาหารว่าง โดยเน้นอาหารทะเล ธุรกิจบรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์ ธุรกิจการตลาดภายในประเทศ ธุรกิจอาหารสัตว์ และธุรกิจพัฒนาสายพันธุ์กุ้งเพื่อจำหน่าย

โดยผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือกลุ่มนายไกรสร จันศิริ ได้แก่ นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บุตรชายนายไกรสร ถือหุ้น 303,668,824 หุ้น คิดเป็น 6.36%, นายไกรสร จันศิริ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ ถือหุ้น 134,804,288 หุ้น คิดเป็น 2.83%, นายดิสพล จันศิริ บุตรชายนายไกรสร ถือหุ้น 123,349,308 หุ้น คิดเป็น 2.58% รวมกันแล้วประมาณ 11.77%

แม้เรื่องที่ ก.ล.ต. สั่งปรับนายไกรสรและพวกรวม 9 ราย กรณีซื้อหุ้น TU โดยอาศัยข้อมูลภายใน จะได้รับการชี้แจงเบื้องต้นจากนายธีรพงศ์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ว่า ผลการดำเนินงานห้วงเวลานั้นเป็นไตรมาสที่ปกติ แต่เมื่อสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงกรรมการและผู้บริหาร ตามที่ ก.ล.ต.กำหนดโทษ ต้องจับตาดูว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงกับผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่แห่งนี้หรือไม่ และจะส่งผลไปถึงความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนด้านธรรมาภิบาลมากน้อยขนาดไหน

-กิตตินันท์ นาคทอง / เรียบเรียง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *