ปิติ “กรมสมเด็จพระเทพ” พระราชทานชุดหุ่นยนต์ รพ.สมุทรสาคร รักษาผู้ป่วยโควิด-19

โรงพยาบาลสมุทรสาคร รับพระราชทานหุ่นยนต์ “ปิ่นโต” และระบบสื่อสารทางไกล “กระจก” จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพิ่มศักยภาพดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหุ่นยนต์ขนส่งในพื้นที่ติดเชื้อ “ปิ่นโต” (Pinto) จำนวน 1 ชุด และ “กระจก” ระบบสื่อสารทางไกลระหว่างแพทย์และคนไข้ (Quarantine Telepresence) จำนวน 9 ชุด แก่โรงพยาบาลสมุทรสาคร เพื่อเพิ่มศักยภาพ และประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 โดยมี นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร พร้อมด้วยข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ร่วมทำพิธีรับมอบเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ ณ ห้องประชุมพระนรราชจำนง โรงพยาบาลสมุทรสาคร

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร กล่าวว่า การได้รับพระราชทานหุ่นยนต์ “ปิ่นโต” และระบบสื่อสารทางไกล “กระจก” ในครั้งนี้ ยังความปลื้มปิติและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีต่อโรงพยาบาลสมุทรสาคร และประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสาคร ทางโรงพยาบาลฯ จะนำเครื่องมือแพทย์ที่ได้รับพระราชทานในครั้งนี้ ไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุดและเต็มกำลังความสามารถ

สำหรับหุ่นยนต์ “ปิ่นโต” (Quarantine Delivery Robot) หุ่นยนต์พัฒนาเพื่อการขนส่งและการสื่อสารทางไกลเพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยทำหน้าที่ช่วยขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์แก่คนไข้ โดยการใช้รถเข็นควบคุมทางไกล​ ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ลดความเสี่ยงจากการต้องเข้าไปอยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ และยังสามารถคอยสอดส่องดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิดแทนได้ตลอดเวลา รวมถึงช่วยในการสื่อสารระยะไกลผ่านหน้าจอที่ติดอยู่ ณ รถเข็นควบคุมทางไกลบนเครือข่ายสื่อสารไร้สาย ช่วยให้แพทย์ พยาบาล สามารถติดตามดูแลคนไข้ได้ตลอดเวลา โดยระบบนี้จะช่วยลดทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องทิ้งทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนโซนการตรวจ และลดระยะเวลาการเข้าใกล้ชิดผู้ป่วยติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์

และระบบสื่อสารทางไกล “กระจก” ประกอบด้วยแท็บเล็ต (Rugged Tablet) ทางฝั่งแพทย์และฝั่งคนไข้ ที่เชื่อมต่อกันด้วยระบบสื่อสารทางไกล ทำให้แพทย์สามารถคอยดูแลและสังเกตอาการคนไข้ได้ตลอดเวลาและสะดวกขึ้น โดยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้มากขึ้น และช่วยลดอุปกรณ์การแพทย์บางส่วน เช่น ชุด PPE และอุปกรณ์อื่น ในการเข้าไปให้บริการคนไข้ในแต่ละโซน ส่วนฝั่งของคนไข้ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา ลดความกังวลของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยลง

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *